วันที่ 6 ธันวาคม ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ เดินทางมาปักหลักที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อมาทวงสัญญา SEA (Strategic Environmental Assessment) หรือการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ ภาคประชาชน จากรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มเครือข่ายได้มีการยื่นหนังสือถึง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่พบการดำเนินการใดๆ
แต่แล้วในช่วง 21.00 น. ในวันเดียวกัน ตำรวจเข้าควบคุมตัวกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นรวม 37 คน ขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา นำไปยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต กระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ปฏิกิริยาจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนที่มีต่อปฏิบัติการควบคุมตัวกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นครั้งนี้เป็นอย่างไร THE STANDARD จะสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
- ย้อนกลับไปวันที่ 4 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ครั้งแรก 3 แห่ง คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ในปี 2562 ครม. อนุมัติให้ ‘จะนะ’ เป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 และอนุมัติหลักการแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นำมาซึ่งการเปิดเวทีรับฟังความเห็นโครงการและการต่อสู้ของฝ่ายที่คัดค้านมาตลอดหลังจากนั้น
- 14 ธันวาคม 2563 ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หลังกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีใจความสำคัญคือ เสนอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทุกฉบับ และให้คณะกรรมการผังเมืองและกรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และเสนอให้จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จังหวัดสงขลา
- ในวันถัดมาคือ 15 ธันวาคม 2563 ครม. รับทราบผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมรับรายงานผลการหารือดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยด่วน และนำเสนอ ครม. ต่อไป
- วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ กล่าวหา นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีมีผลประโยชน์เบื้องหลังโครงการ ‘เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดินเพื่อหวังกินส่วนต่าง ขณะที่นิพนธ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าตนขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยข้อมูลของประเสริฐพงษ์ระบุว่า มีเฉพาะฝ่ายตรงข้ามที่คัดค้านและเป็นเพียงการตัดแปะเท่านั้น
- วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตว่า หลังจากที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องของระเบียบและข้อกฎหมาย และคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน ไปศึกษาได้ข้อสรุปพบว่า ที่ผ่านมาถือว่าทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเตรียมทำหนังสือถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ยุติโครงการเป็นการชั่วคราวก่อน และอาจต้องถอยหลังกลับไปแล้วนับหนึ่งใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะถ้าทำต่อไปจะมีปัญหาตามมาทีหลัง และ ร.อ. ธรรมนัสระบุอีกว่า ตนจะทำรายงานถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องนี้ และแจ้งไปถึง ศอ.บต. รวมถึงประชาชนในพื้นที่ว่าหลังจากที่ศึกษาแล้วได้ข้อสรุปอย่างไร
- วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ไครียะห์ ระหมันยะ เดินทางมาทำเนียบรัฐบาล ทวงถามความคืบหน้ากรณีเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10-15 ธันวาคม 2563 ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้กับรัฐบาล และหลังจากนั้น ไครียะห์มารอฟังคำตอบอยู่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลาหลายวัน กระทั่งถึง 6 ธันวาคม กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นจึงเดินทางมาปักหลักบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
- วันที่ 6 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาถึงบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ไครียะห์อ่านแถลงการณ์ประกาศจัดตั้งหมู่บ้านลูกทะเลจะนะรักษ์ถิ่นบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องใน 3 ประเด็น คือ
1) รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ
2) รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA
3) รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดําเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน และทั้งหมดจะต้องออกเป็นคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
- แถลงการณ์ที่ไครียะห์อ่านยังระบุด้วยว่า “การตัดสินใจกลับมาที่ทําเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความคับแน่นของความรู้สึกที่เกินจะอธิบาย ที่เกิดขึ้นจากการกดทับของพวกท่านครั้งแล้วครั้งเล่า หากแต่มันกลับแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ทําให้พวกเรากล้าพอที่จะเผชิญกับอํานาจชั่วร้ายอย่างไม่หวาดหวั่น และจากนี้ไปเราจะไม่ยอมให้พวกท่านหลอกลวงอีกเป็นครั้งที่สอง สิ่งที่จะทําให้พวกเรากลับบ้านได้มีทางเดียวเท่านั้นคือ รัฐบาลต้องทําตามคําสัญญาที่เคยให้ไว้กับพวกเราเมื่อปีที่แล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์”
- เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เข้าสลายการชุมนุม ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งได้วางกำลังไว้บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตรงข้ามประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล โดยเจรจากับทางกลุ่มเป็นระยะๆ ให้ย้ายจากบริเวณถนนหน้าทำเนียบรัฐบาลไปฝั่งเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ซึ่งทางกลุ่มยืนยันจะปักหลักบริเวณเดิม หากมีการบังคับย้ายก็จะไม่ต่อสู้ แต่จะยกมือขอดุอาอฺ (ขอพรจากพระเจ้า) เท่านั้น กระทั่งเวลา 21.22 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมตัวประชาชนและนำตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา โดยปิดกั้นสื่อมวลชนและพยายามส่องไฟมายังสื่อมวลชนไม่ให้เห็นการปฏิบัติการ มีการรื้อป้ายผ้า รั้วเหล็ก และเก็บของต่างๆ ของผู้ชุมนุม และนำตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวรวม 37 คน ไปยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต
- ไครียะห์ออกแถลงการณ์ว่า ไม่มีใครอยากออกมานั่งข้างถนน แต่มาในฐานะลูกทะเลจะนะ เพื่อมาอ่านแถลงการณ์กับเหตุการณ์ที่รัฐบาลได้ทำไว้เมื่อคืนนี้ ตนและลูกหลานได้รับทราบจากผู้ที่ถูกคุมขังว่าจะไม่ดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อแลกกับการยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งทางกลุ่มก็พร้อมที่จะต่อสู้ และแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ขอให้รัฐบาลหยุดการคุกคามแผ่นดินที่เป็นของคนจะนะด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรม “ภารกิจนี้จึงได้ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยการยืนหยัดว่า หากไม่ได้รับคำตอบจากการยุตินิคมอุตสาหกรรมจะนะ เราจะไม่ไปไหน ไม่ว่าจะถูกทุบทำลายจากกลุ่มอำนาจสักกี่ครั้งก็ตาม”
- วันที่ 7 ธันวาคม โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (โฆษก บช.น.) ชี้แจงกรณีจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวม 37 คน แบ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 31 คน โดยมีทั้งหมด 6 เหตุผล คือ
- ชุมนุมกีดขวางการจราจร ตั้งวางสิ่งของบนพื้นจราจร
- เกรงว่าจะแพร่เชื้อโรค ขอตรวจสอบผู้ชุมนุมก็ไม่ยินยอม
- เจ้าหน้าที่เจรจาหลายครั้งตั้งแต่เริ่มชุมนุมเวลา 15.40 น. เพื่อขอให้ย้ายไปสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้แต่ก็ไม่ยอมย้าย
- กลุ่มนี้เคยเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2563 รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ และการชุมนุมก็ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
- การข่าวทราบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นเข้ามาร่วม อาจจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและก่อความไม่สงบ
- การเข้าจับกุมไม่ใช่สลายการชุมนุม เป็นการเจรจาก่อนเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรง โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) หญิง และหยิบสิ่งของที่กีดขวางออกจากพื้นที่
- วันเดียวกัน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กรณีตำรวจควบคุมฝูงชนบุกจับชาวจะนะรักษ์ถิ่นที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้สั่งการใดๆ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบและตามกฎหมาย
- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเร่งรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ ดังนี้
- ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกควบคุม โดยไม่มีเงื่อนไข
- เร่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ โดยเฉพาะในการดำเนินโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยตรง
- อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์อื่นๆ ได้ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตำรวจจำเป็นต้องทำ เพราะมีข่าวว่าจะมีคนมามั่วสุมร่วมชุมนุมด้วย และตามกฎหมายก็ห้ามชุมนุมใกล้สถานที่ราชการ 150 เมตร และทุกครั้งที่มาชุมนุม มาแล้วก็ไม่กลับ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลก็รับฟังเสียง ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปรับฟัง และตนเองเคยบอกเสมอว่า การจะไปรับปากหรือเจรจาอะไรกับประชาชน อย่าไปรับปากทันที หากยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. โดยเฉพาะข้อตกลงการทำ MOU ที่ ร.อ. ธรรมนัสเคยรับปากไว้ว่าจะทำให้ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ไปตกลง ส่วนปัญหานี้ตนได้สั่งให้ตั้งคณะทำงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลงไปดูแลแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นและควรจะแก้ไขอย่างไร
- ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัสโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ตนไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายๆ เรื่อง รวมถึงปัญหาของพี่น้องชาวจะนะ ซึ่งคงไม่มีใครรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้ แต่ได้รับการประสานจากเพื่อนๆ ส.ส. หลายท่าน ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นตนไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก โดยตนยังเป็นห่วงพี่น้องชาวจะนะและจะใช้ระบบสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะต่อไป
- นอกจากนี้ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนคิดว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับพื้นที่อำเภอจะนะ จะเกิดการจ้างงานขึ้น เราต้องยอมรับว่าพื้นที่อำเภอจะนะเป็นพื้นที่ความมั่นคง เป็นพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ระบุว่าใครจะไปลงทุนแล้วจะได้สิทธิพิเศษ เพราะต้องการหาคนไปลงทุนให้มาก เนื่องจากมีระเบิดและมีกิจกรรมที่ไม่ปลอดภัยอยู่ ดังนั้นการส่งเสริมให้คนไปลงทุนโดยการให้สิทธิพิเศษ เอกชนก็อยากไปลงทุน ชาวบ้านจะได้มีงานทำ
- ล่าสุดเมื่อคืนนี้ ไครียะห์ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ระบุว่า ทางกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจะยังคงต่อสู้แม้ว่าจะถูกดำเนินคดีอีกกี่ครั้งก็ตาม เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง การพัฒนาแบบนิคมอุตสาหกรรมไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเป็นการพัฒนาแบบกระจายผลประโยชน์ แต่สิ่งที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงคือการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น
- ขณะที่สังคมในวงกว้างต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการสลายการชุมนุม โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งหลังจากนี้ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไปว่าการเรียกร้องครั้งนี้จะจบลงอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- https://thestandard.co/chana-industrial-estate-plan/
- https://thestandard.co/discuss-chana-rak-tin-problem-solving
- https://thestandard.co/kyriya-demand-prayut-on-chana-industrial-estate-contract/
- https://thestandard.co/chanarak-tin-network-061264/
- https://thestandard.co/prasertpong-discusses-the-background-of-chana-industrial-estate/
- https://thestandard.co/nipon-debate-chana-project-never-contributing-to-capitalist/
- https://www.youtube.com/watch?v=XrhKFnijni0