×

หมดเวลา One Size Fits All! องค์กรไทยต้องปรับตัว พัฒนา Talent แบบเฉพาะบุคคล เพื่อสร้างทีมแข็งแกร่งในยุคดิจิทัล

29.08.2024
  • LOADING...

ในโลกธุรกิจที่แข่งขันสูง ‘Talent’ หรือ ‘พรสวรรค์และความสามารถ’ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ต้องการบุคคลที่มี Talent เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรกันทั้งนั้น

 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ BTS Thailand ภายใต้กลุ่มบริษัท BTS Group AB กล่าวว่า “เพราะ Talent เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ องค์กรที่สามารถพัฒนากลยุทธ์รองรับคนเก่งที่มีประสิทธิภาพจะสามารถดึงดูด รักษา และพัฒนาคนเก่งที่มีทักษะสูง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลได้” 

 

และจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงกลุ่มคนที่มีความสามารถมากขึ้น และทำให้ HR องค์กรต่างๆ เกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถดึงดูดและดูแลกลุ่มคนที่มีศักยภาพในองค์กรได้

 

แล้วถ้าองค์กรต่างๆ ไม่สามารถคว้า Talent เข้ามาสู่องค์กรได้จะส่งผลอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าผลกระทบที่อาจต้องเจอ คือประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กร รวมถึงศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดอาจลดลง และมีแนวโน้มที่จะถูกองค์กรอื่นๆ เติบโตแซงไปได้ คำถามสำคัญคือ องค์กรควรตั้งต้นในการดึงดูดและดูแลรักษา Talent อย่างไร

 

โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ องค์กรต้อง ‘Reframe Talent’ หรือปรับมุมมองใหม่ในการดูแลและพัฒนาพนักงานยุคใหม่ โดยมุ่งเน้น 6 เรื่องสำคัญต่อไปนี้

 

1. รักษาพนักงานที่มีความสามารถ (Talent Retention) เมื่อผู้บริหาร ผู้นำ และ HR ในองค์กรมีความเข้าอกเข้าใจพนักงาน จะทำให้พนักงานเกิดความผูกพัน อยากอยู่คู่กับองค์กร และทุ่มเทเพื่อความสำเร็จร่วมกัน 

 

2. ลดช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) วางแผนหาวิธีพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างของทักษะจากในอดีต ปัจจุบัน และทักษะอนาคต

 

3. สร้างความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) คิดค้นวิธีใหม่ในการสร้างแรงจูงใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน 

 

4. พัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development) ไม่เพียงแต่พัฒนาพนักงาน ผู้บริหารและผู้นำเองก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ อย่าหวังพึ่งเพียงแค่ฝ่าย HR เท่านั้น แต่ผู้นำทีมและ HR ต้องทำงานร่วมกัน เพราะผู้นำคือคนที่ใกล้ชิดกับพนักงานที่สุด รู้ดีที่สุดว่าจะพัฒนาพนักงานอย่างไรจึงจะเข้าเป้า

 

5. ผสานการทำงานทางไกล (Remote Work Integration) คนทำงานยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ Gen Z ไม่ได้ต้องการเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวรองรับการทำงานที่ยืดหยุ่น พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนเมื่อไรก็ได้ โดยยังคงรักษาประสิทธิภาพการทำงานที่ดีอยู่

 

6. ส่งเสริมความหลากหลายในองค์กร (Diversity and Inclusion) สร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม เมื่อนโยบายจูงใจพนักงานยุคใหม่ได้ จะช่วยดึงดูดคนที่ใช่เข้ามาร่วมพัฒนาองค์กรจนสุดทาง อีกทั้งหมดเวลาของการใช้นโยบาย One Size Fits All กับทุกคนแล้ว องค์กรต้องแยกให้ออกว่าคนที่ทำงานได้ คนที่ทำงานเป็น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น Talent เสมอไป

 

องค์กรต้องส่งเสริมคนที่มีความสามารถ แล้วหาทางพัฒนาพวกเขาเหล่านั้นเป็น Talent และต้องวางแผนด้วยว่าคนแบบไหนต้องการการพัฒนาแบบไหน จึงจะเสริมศักยภาพเขาได้ถูกต้อง โดยการวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนา Talent ในองค์กรมีแนวทางที่จำเป็นต้องรู้ ดังนี้

 

  1. วิเคราะห์สถานการณ์องค์กรและทักษะของพนักงานปัจจุบัน เพื่อวางแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับทิศทางองค์กร
  2. เลือกใช้เครื่องมือและวิธีการพัฒนาที่เหมาะสม เช่น 360 Degree Feedback หรือการจำลองสถานการณ์
  3. ส่งเสริม Growth Mindset, Outward Mindset และ Learning Mindset ควบคู่กับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต
  4. แยกแยะพนักงานที่มีศักยภาพ และวางแผนพัฒนารายบุคคลให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร
  5. ออกแบบโครงการพัฒนาที่มีระยะเวลาเหมาะสม วัดผลได้ และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

 

สุดท้ายนี้การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาตนเอง การสร้างทีมที่แข็งแกร่ง และการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง การลงมือทำและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดคือกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 

 

โดยเฉพาะในยุคที่ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพลิกโฉมการทำงานอย่างรวดเร็ว การปั้น Talent สู่ดาวเด่นและสร้างทีมที่แกร่งจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะพาองค์กรทะยานไกลสู่ความสำเร็จในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising