หนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2025 คือการผลักดันแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ระลอกที่สอง หรือที่ถูกเรียกในชื่อ ‘One Big, Beautiful Bill Act’ (OBBBA) ซึ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 22 พฤษภาคม 2025 ด้วยคะแนน 215-214 ซึ่งกำลังรอการพิจารณาในวุฒิสภา หากผ่านคาดว่าจะเสนอประธานาธิบดีลงนามภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2025
โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่จากกฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ปี 2017 ที่กำลังจะหมดอายุลง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐหลายรายการ ตั้งแต่การปฏิรูปโครงการประกันสุขภาพ (Medicaid) และความช่วยเหลือด้านอาหาร ไปจนถึงงบประมาณกลาโหมและความมั่นคงชายแดน
การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ มักสร้างแรงสั่นสะเทือนไปสู่ตลาดการเงินโลก และก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่า นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างไร บทความนี้ UOB Privilege Banking จะพาไปเจาะลึกทุกแง่มุมของ ‘One Big, Beautiful Bill Act’ พร้อมวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยง เพื่อให้นักลงทุนสามารถเตรียมพร้อมและวางกลยุทธ์จัดพอร์ตได้อย่างทันท่วงที
เจาะลึกไส้ใน ‘One Big, Beautiful Bill Act’
ภายใต้ร่างกฎหมายที่มีรายละเอียดมากมายกว่า 1,000 หน้า ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือเรื่องการลดภาระภาษีของประชาชน หลายมาตรการมาจากนโยบายที่ทรัมป์หาเสียงไว้ในปีที่แล้ว มีการขยายมาตรการภาษีจาก Tax Cuts and Jobs Act ปี 2017 ให้เป็นถาวร ยกเว้นภาษีทิป ค่าล่วงเวลา และการหักลดหย่อนดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์
ทั้งยังเพิ่มการหักลดหย่อนสำหรับผู้เสียภาษีระดับมลรัฐและภาษีระดับท้องถิ่น (SALT) จาก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังเพิ่มเครดิตภาษีเด็กเป็น 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2026 จะยกเว้นภาษีมรดกและการให้มูลค่า 15 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งบัญชีออมทรัพย์สำหรับเด็กในโครงการ Trump Account โดยรัฐบาลจะฝากเงินเริ่มต้น 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้เด็กที่เกิดในปี 2024-2028 และผู้ปกครองออมเพิ่มได้สูงสุด 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยได้รับสิทธิทางภาษี และถอนใช้เพื่อการศึกษา ฝึกอาชีพ หรือซื้อบ้านหลังแรกเมื่อบรรลุนิติภาวะ
รวมถึงยังมีนโยบายที่สนับสนุนภาคธุรกิจ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) มาหักค่าใช้จ่ายได้ และส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กด้วยการให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ทั้งยังมีการปฏิรูปเครดิตภาษีพลังงานสะอาดซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มการลงทุนของภาคธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ
นอกจากประเด็นด้านการลดภาษี ร่างกฎหมายนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหม 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ เพิ่มความสามารถของกองทัพ และยกระดับสวัสดิการทหาร และนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติทั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างกำแพงชายแดน เพิ่มเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายแดน โครงการความมั่นคงชายแดน และการเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย
One Big, Beautiful Bill Act ก็ยังมีประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติด้วยคือ ‘Section 899’ ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ทางภาษีที่มีการเรียกเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ โดยจะเพิ่มอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ของเงินปันผลสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ในอัตรา 5-20% เป็นการทยอยปรับเพิ่มขึ้นปีละ 5% ส่งผลให้ความน่าสนใจของหุ้นปันผลอาจลดลง
แต่คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในระดับที่จำกัด เพราะนโยบายนี้ไม่ได้ใช้กับนักลงทุนต่างชาติทุกราย แต่มีการมุ่งเป้าไปที่นักลงทุนบางประเทศที่สหรัฐฯ มองว่ามีการเก็บ ‘ภาษีต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม’ เช่น ภาษีบริการดิจิทัล (Digital Services Tax) ของแคนาดา เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ‘Section 899’ น่าจะเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง มากกว่าที่จะบังคับใช้จริง และแนะนำให้นักลงทุนรอดูความชัดเจนก่อน ซึ่งรายละเอียดของร่างกฎหมายยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นของวุฒิสภา
เศรษฐกิจจะโตได้จริงหรือแค่วาดฝัน?
แน่นอนว่าในหลายๆ ส่วนของ One Big, Beautiful Bill Act ได้เสริมสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น ภาระภาษีที่ลดลงอาจช่วยสนับสนุนการบริโภคและการเติบโตของกำไรบริษัท รวมถึงส่งเสริมการลงทุนที่มากขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และผลในระยะยาวอาจจะไม่มากนัก
มีการคาดการณ์ว่าจากนโยบายของ One Big, Beautiful Bill Act นี้ จะส่งผลให้ GDP สหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 0.4% ในปี 2026-2034 เพราะแม้ว่าการลดภาษีจะสร้างแรงจูงใจในการทำงานและลงทุน แต่ผลกระทบเชิงบวกเหล่านี้ อาจถูกหักล้างด้วยผลกระทบเชิงลบจากการกู้ยืมของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ความกังวลด้านการขาดดุลงบประมาณที่จะเพิ่มสูงขึ้น จะลดทอนการเติบโตในระยะยาว
สำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) คาดการณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ขึ้นอีกประมาณ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 10 ปี สถาบันจัดอันดับเครดิต Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมคาดการณ์ว่าอัตราหนี้ต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นจากราว 100% สู่ระดับ 134% การเพิ่มขึ้นของหนี้ในระดับนี้ จึงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะยาว
ประเด็นนี้ได้ไปกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ปรับตัวสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี พุ่งทะลุระดับ 5% สะท้อนความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลทรัมป์
นอกจากนี้ การประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบเชิงลบจากความตึงเครียดทางการค้าและการลดการย้ายถิ่นฐาน ซึ่ง Tax Foundation ประเมินแยกต่างหากว่า นโยบายภาษีการค้าของทรัมป์อาจลดผลผลิตลงถึง 0.8% ซึ่งจะหักล้างผลกระทบเชิงบวกจากแผนลดภาษีนี้ทั้งหมด
ตลาดหุ้นยังแข็งแกร่ง แต่บทสรุปสำหรับนักลงทุนคืออะไร?
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับความเชื่อมั่นต่อเทรนด์ AI ที่กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การที่มูลค่าหุ้น (Valuation) กลับมาสูง ทำให้ตลาดมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยกระทบใหม่ๆ มากขึ้น
บทเรียนสำคัญที่สุดจากการลงทุนในปี 2025 คือ “การตื่นตระหนกและตอบสนองต่อทุกการประกาศนโยบายที่ยังไม่ถูกบังคับใช้เป็นกลยุทธ์ที่ล้มเหลว” กระบวนการออกกฎหมายมีความซับซ้อนและอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึงจุดที่ต้องผ่านกฎหมายจริงๆ
ในสภาวะตลาดเช่นนี้ UOB Privilege Banking เชื่อว่า กลยุทธ์ที่สุขุมที่สุดคือ “การเพิกเฉยต่อเสียงรบกวนให้ได้มากที่สุด และตอบสนองต่อข้อเท็จจริงเมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้ว”
จัดพอร์ตรับมืออย่างไร?
UOB Privilege Banking แนะนำให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง (Diversification) มีความหลากหลายในการลงทุน ทั้งภูมิภาคและกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเลือกลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดี
อีกทั้งในสถานการณ์ที่ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลการลงทุนให้จะช่วยให้นักลงทุนไม่พลาดโอกาสในทุกสภาวะตลาด เช่นการลงทุนผ่านกองทุน CIO Fund ที่มีทีม CIO (Chief Investment Officer) จาก UOB Singapore ช่วยดูแลปรับพอร์ตให้อย่างใกล้ชิดและเชิงรุก (Active) มีการกระจายการลงทุนทั่วโลกในทุกสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับภาวะตลาด โดยมีให้เลือก 2 กองทุนด้วยกัน
นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ดังนี้
- UIFT-N (กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซีไอโอ อินคัม ฟันด์ TH) ความเสี่ยงระดับ 5 นโยบายการลงทุนหลักจะลงทุนในหุ้น 50 : ตราสารหนี้ 50 เป็นลักษณะของกองทุนผสม เน้นการสร้างสมดุลให้พอร์ต
- UGFT (กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซีไอโอ โกรท ฟันด์ TH) ความเสี่ยงระดับ 6 นโยบายการลงทุนหลักจะลงทุนในหุ้น 80 : ตราสารหนี้ 20 เน้นการเติบโตระยะยาว
สำหรับท่านที่สนใจเพิ่มเติม สามารถศึกษารายละเอียดและติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking โทร. 0 2081 0999 หรือคลิก www.uob.co.th/privilegebanking
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน