ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งรักษาการแทนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แทน
รัฐประหารโดย คสช. นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
ก่อนหน้านั้น 2 วัน คือวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิด-ควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ
วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปได้
พล.อ. ประยุทธ์ และผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงประกาศกระทำรัฐประหารในที่ประชุม และควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำตัวไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งใช้เป็นกองบัญชาการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
คสช. ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. หลังรัฐประหารมีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา
จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภามีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ คสช. ยังได้ดำเนินการภารกิจด้านการปฏิรูป โดยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งต่อมาถูกยุบและตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในปัจจุบัน ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในอีก 5 ปีต่อมา คือวันที่ 24 มีนาคม 2562
กว่า 10 ปีหลังการยึดอำนาจโดย คสช. ประเทศไทยอยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ กว่า 9 ปี และอยู่ภายใต้กลไก กติกา และ สว. แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562
พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศเดินหน้าอาสาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 โดยลงสนามเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 36 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง แม้จะเพียงพอสำหรับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐสภาโหวตลงมติ แต่เสียงก็ไม่เพียงพอที่จะรวบรวมจำนวนตั้งรัฐบาล
สุดท้ายพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล ส่งให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะที่ 250 สว. หมดวาระ และอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. สิ้นสุดลง โดยขณะนี้กำลังเดินหน้ากระบวนการเลือก สว. ใหม่ 200 คน