รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2547
โดยประชาชนนิยมเรียกว่า ‘รถไฟฟ้าใต้ดิน’ เนื่องจากช่วงเริ่มแรกของการให้บริการรถไฟฟ้าเส้นนี้เป็นเส้นทางระบบใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยได้รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2539
ปัจจุบันมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร เส้นทางเริ่มต้นจากสถานีหลักสอง ผ่านสถานีท่าพระ, สถานีหัวลำโพง, สถานีบางซื่อ และวิ่งกลับมาสิ้นสุดที่สถานีท่าพระอีกครั้งรวม 38 สถานี สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS ได้ที่สถานีบางหว้า, สถานีสีลม, สถานีสุขุมวิท, สถานีพหลโยธิน และสถานีสวนจตุจักร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีเพชรบุรี รวมทั้งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนที่สถานีบางซื่อ
นามเฉลิมรัชมงคลเป็นชื่อที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ เพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ในช่วงแรก คือช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ มีความหมายว่างานเฉลิมความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นาม ‘เฉลิมรัชมงคล’ สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยายทั้งสองช่วง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ อีกด้วย