ศตวรรษที่ 21 ถือว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและข่าวสารสารสนเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ซึ่งรวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคมนำไปสู่การปรับตัวทางด้านการดำเนินชีวิต เพื่อตอบรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ทุกประเทศทั่วโลก
สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดกลุ่มคน ‘ดิจิทัลโนแมด’ (Digital Nomad) ที่เป็นอิสระจากข้อจํากัดทางด้านสถานที่ ดำรงชีวิตที่แบบไม่จับจองพื้นที่อย่างถาวร มีการย้ายถิ่นฐานไปยังสถานที่ต่าง ๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการทํางาน
ข้อมูลจาก Global Mobile Workforce Forecast ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของพนักงานที่ทำงานโดยปราศจากสถานที่ หรือการทำงานนอกอาคารสำนักงานในปี 2560 มีจำนวน 1.52 พันล้านคน โดยคาดว่าจะมีการเพิ่มขึ้นเป็น 1.88 พันล้านคนในปี 2566 คิดเป็น 43.3% ของแรงงานทั่วโลก
จากสถิติพบว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจะเกิดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดในช่วงปี 2523-2543 โดยมีการให้คำนิยามกลุ่มคนที่เกิดในปีเหล่านี้ว่า เจเนอเรชัน Y (Generation Y) หรือมิลเลนเนียล (Millennials)
กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแอนะล็อก (Analog) เป็นดิจิทัล (Digital) มีความคล่องแคล่วในด้านเทคโนโลยี เป็นอิสระต่อการใช้ชีวิต มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตนเอง มีชีวิตรวดเร็ว ต้องการความสะดวกสบาย และจัดลำดับความสำคัญเกี่ยวกับสมดุลของชีวิตการทำงาน (Work-Life Balance) และปัจจุบันเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอัตราส่วน 1 ใน 3 ของประชากรโลก ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มคนที่กำหนดแนวทางของสังคมในอนาคต
‘ดิจิทัลโนแมด’ เป็นหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นในไทยเช่นกัน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเข้ามาของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมดจำนวนมากใน ‘จังหวัดเชียงใหม่’ ในฐานะนักท่องเที่ยว และมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนสูงถึง 12,942 คน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 90.1 ล้านบาท
จากการศึกษาพบว่าเมืองเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่สำหรับกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด อีกทั้งผู้ประกอบการในอำเภอเมืองเชียงใหม่มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจและพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น ทว่าหากมองลึกลงไปกว่านั้นคุณลักษณะของพื้นที่ยังไม่สอดคล้องกับลักษณะและพฤติกรรมการดำรงชีวิตของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด
กลายเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘พื้นที่ของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด ในมิติการอยู่อาศัย การทำงานและการพักผ่อน หย่อนใจ (LIVE WORK PLAY) กรณีศึกษาพื้นที่เมืองเชียงใหม่’ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2019/TU_2019_6116030534_12281_13137.pdf)
วิทยานิพนธ์นี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้พื้นที่ของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมดและกายภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อนําไปสู่ข้อสรุปของกายภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสําหรับกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด ในมิติการอยู่อาศัย การทํางาน และการพักผ่อนหย่อนใจ (Live Work Play)
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนดิจิทัลโนแมดในพื้นที่เมืองเชียงใหม่สามารถจําแนกได้ 3 กลุ่มจากเกณฑ์ระยะเวลาในการอยู่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ โดยในมิติของการอยู่อาศัย กลุ่มที่ 1 และ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ 1-5 เดือน มีพฤติกรรมการอยู่อาศัยคล้ายคลึงกัน คือเลือกพื้นที่พักอาศัยที่มีลักษณะชั่วคราว (Temporary) ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน (Co-Living) และเสริมสร้างความเป็นกลุ่มสังคม (Community) โดยเน้นการใช้งานพื้นที่ส่วนกลางของที่พักอาศัยเป็นหลัก
ส่วนกลุ่มที่ 3 ที่อยู่ในพื้นที่มากกว่า 7 เดือนขึ้นไป พบว่ามีแนวโน้มที่จะตั้งรกรากถาวรในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ในอนาคต โดยมีความต้องการพื้นที่พักอาศัยที่ถาวรและมีความเป็นส่วนตัว ใกล้แหล่งชุมชน ทําให้พฤติกรรมดังกล่าวไม่ตรงกับลักษณะการใช้ชีวิตในรูปแบบของดิจิทัลโนแมดอีกต่อไป
ในมิติของการทํางานดิจิทัลโนแมดทั้ง 3 กลุ่มมีพฤติกรรมการทํางานคล้ายคลึงกัน โดยเลือกพื้นที่ทํางานประเภทโคเวิร์กกิ้งสเปซที่ก่อให้เกิดความรู้สึกการสํานึกในถิ่น (Sense of Place) และสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทํางาน (Work Atmosphere) โดยพื้นที่มีลักษณะเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Space) ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี (Technology Engagement) และยืดหยุ่นต่อการปรับใช้งาน (Flexible) ซึ่งทั้งหมดก่อให้เกิดความเป็นกลุ่มสังคมของดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad Community) ในพื้นที่ทํางาน
และในมิติของพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พบว่าพฤติกรรมการพักผ่อนมีความแตกต่างกันในระดับกลุ่มและระดับตัวบุคคล โดยสามารถจําแนกได้ 3 รูปแบบคือ
- การพักผ่อนในพื้นที่พักอาศัย บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง
- การพักผ่อนนอกพื้นที่พักอาศัย โดยการพบปะสังสรรค์กับบุคคลอื่นช่วงเวลากลางคืน (Nightlife and Entertainment)
- การท่องเที่ยวชุมชนเมือง (Urban Tourism) โดยดิจิทัลโนแมดมองว่าการเดินทางเข้ามายังเมืองเชียงใหม่เป็นการพักผ่อนรูปแบบหนึ่ง
จากการวิจัยพบว่า ปัจจัยในการเลือกพื้นที่ของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมดสามารถสรุปได้ 2 มิติ คือ
1. ปัจจัยภายใน ซึ่งเกิดจากความต้องการของดิจิทัลโนแมด
2. ปัจจัยภายนอก ท่ีเก่ียวกับกายภาพ เงื่อนไข และสภาพสังคมของเมือง
โดยอนุมานได้ว่าลักษณะของดิจิทัลโนแมด (Characteristic) ในแต่ละพื้นที่มีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของเมืองนั้น ๆ (Urban Identity)
ซึ่งจากข้อสรุปดังกล่าวและวิธีการวิจัยในงานฉบับนี้ สามารถนําไปต่อยอดในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนดิจิทัลโนแมดกับกายภาพแวดล้อมในบริบทเมืองอื่น ๆ ได้ในอนาคต