ตลาดชาพร้อมดื่มมีมูลค่า 13,229 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตสูง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ‘โออิชิ’ ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดต่อเนื่องด้วยส่วนแบ่งการตลาด 48% (ข้อมูลจาก AC Nielsen เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) ขณะเดียวกันปัจจุบันความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำการตลาดชาพร้อมดื่มคือการขยายฐานลูกค้า-เพิ่มปริมาณการบริโภค
หนึ่งในการกระตุ้นลูกค้าของโออิชิคือการหยิบ ‘คาแรกเตอร์’ มาใช้เป็นกิมมิกเพื่อขยายฐานลูกค้าวัยรุ่นที่จะเติบโตเป็นฐานลูกค้าหลักต่อไปในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘โออิชิ’ แก้เกมคนดื่มชาเขียวน้อยลงเพราะกังวลเรื่องสุขภาพ ด้วยการหยิบ ‘ฮันนี่เลมอน’ รสชาติขายดีที่สุด มาออกสูตรน้ำตาล 0%
- กางแผน ‘โออิชิ’ บุกรอบด้าน! ปูทางขายแฟรนไชส์ ‘โออิชิ บิซโทโระ’ เป็นครั้งแรก ส่วนชาเขียวยังเป็นเจ้าตลาด เดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง
- ต่อไป KFC ในประเทศไทย จะมี ‘ชาเขียวโออิชิ’ เป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่
โออิชิใช้กลยุทธ์คาแรกเตอร์มาหลายครั้งแล้ว มีทั้งวันพีซ ที่ทำกับเฉพาะแพ็กเกจจิ้งแบบ UHT (ปี 2555), เกม MOBA สุดฮิต RoV, ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer) เมื่อปี 2565 ซึ่งประสบความสำเร็จมาก สามารถดึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่หันมาดื่มชาเขียวได้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ กลุ่มเป้าหมายช่วงอายุ 15-19 ปี เพิ่มขึ้น 24% (เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ล่าสุดโออิชิจึงใช้กลยุทธ์นี้อีกครั้งด้วยการซื้อลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์อนิเมะที่โด่งดังอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ‘วันพีซ’ มาสร้างกิจกรรมการตลาดภายใต้แคมเปญ ‘โออิชิ x วันพีซ เปิดศึกล่า ท้าสะสมความสดชื่น’
สุภรณ์ เด่นไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า กลยุทธ์คาร์แรกเตอร์เข้ามาสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ผ่านการทำตลาดกับสินค้าที่มีกลุ่มเป้าเป็นหมายวัยรุ่น โดยจับกระแสและตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โออิชิเล็งเห็นรูปแบบของแพ็กเกจจิ้งที่โดนใจกลุ่ม Gen Z จึงจับเอาคาแรกเตอร์ที่อยู่ในกระแสมาสร้างแรงดึงดูดกับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ ดังนี้
- สร้าง Attractiveness on Shelf สินค้ากับคาแรกเตอร์ที่อยู่ในกระแส โดยตัวคาแรกเตอร์ยอดนิยมจะทำหน้าที่ช่วยสร้างแรงดึงดูด ณ จุดขาย เปรียบเสมือน POP เพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า
- สร้าง Brand Engagement โดยกิมมิกในครั้งนี้แบ่งดีไซน์เป็น 3 เซ็ต ซึ่งหากนำขวดมาเรียงต่อกันในแต่ละเซ็ตจะเห็นแบ็กกราวด์เป็นซีนเดียวกันด้วย
- ยกระดับ Brand Image ภาพลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นให้กับตราสินค้า
ขณะที่การเลือกใช้ ‘วันพีซ’ นั้นมาจากการเป็นอนิเมะที่มีมายาวนานกว่า 25 ปี เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนในวงกว้างทุกเพศทุกวัย และในเมืองไทยอนิเมะวันพีซก็มียอดเสิร์ชอันดับหนึ่งในโลกออนไลน์ โดย Guinness World Records อัปเดตสถิติ ‘วันพีซ’ ยอดตีพิมพ์ทะลุ 500 ล้านก๊อบปี้ / อนิเมะวันพีซซีรีส์ 1,053 ตอน / ภาพยนตร์ 15 เรื่อง
นอกจากนี้แผนโปรโมตและกิจกรรมมากมายของอนิเมะวันพีซในปีล่าสุด เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมามีการปล่อยภาพยนตร์ One Piece Film RED ทำรายได้มากถึง 100 ล้านบาทในเมืองไทย อีกทั้งการฉลองครบรอบ 25 ปีของวันพีซ ที่ทั้งโลกต่างมีอีเวนต์ร่วมฉลองกับปรากฏการณ์ในครั้งนี้ และจากกระแสความดังของอนิเมะเรื่องวันพีซ ทำให้ Netflix มีแผนที่จะนำเอาอนิเมะมาทำเป็นซีรีส์โดยใช้นักแสดงจริง ซึ่งน่าจะช่วยปลุกกระแสให้อนิเมะวันพีซโด่งดังยิ่งขึ้น และจะมาช่วยเสริมแคมเปญของโออิชิด้วย
“เราคาดหวังจะเพิ่มปริมาณการบริโภคกับกลุ่มวัยทีนด้วยกิจกรรมและแคมเปญทางการตลาดที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ความชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มแฟนๆ วัยทำงาน เพราะวันพีซมีแฟนคลับมากมายในวงกว้าง”
นอกจากแพ็กเกจจิ้ง ในแคมเปญนี้ยังออกชาเขียวรสชาติใหม่ ‘โกมุ โกมุ’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลโกมุ โกมุ ผลไม้จากเรื่องวันพีซที่ให้พลังพิเศษแก่ผู้ที่กินคำแรกเข้าไป รวมถึงโปรโมชันที่มีของรางวัลรวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท โดยส่งรหัสใต้ฝาโออิชิผ่านแอปพลิเคชัน OISHI CLUB เลือกลุ้นรางวัลระหว่างทริปญี่ปุ่นตะลุยดินแดนวันพีซ หรือรถยนต์โตโยต้า ยาริส เอทีฟ หรือมอเตอร์ไซค์ ยามาฮ่า ฟาซซิโอ้ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 30 พฤษภาคม 2566
อย่างไรก็ตาม สุภรณ์มองว่า ปี 2566 น่าจะเป็นปีที่สนุกและท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ เนื่องจากสถานการณ์กลับมาค่อนข้างเป็นปกติมากขึ้น อย่างร้านค้าต่างๆ ก็กลับมาเปิดมากขึ้น จึงเป็นปีที่มีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจสูงของหลายๆ ผลิตภัณฑ์ของโออิชิ โดยเฉพาะกลุ่มชาเขียวที่มองว่าสามารถเติบโตได้มากขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าโออิชิยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาการทำการตลาด เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงความต้องการของผู้คน