แม้ในปี 2564 ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ จะระบุถึงจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้น 6.7% เป็น 4,370 ร้าน แต่สำหรับ ‘โออิชิ’ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดนี้ก็ไม่หวั่น เดินหน้าปั้นแบรนด์ใหม่ ‘โออิชิ บิซโทโระ’ เจาะตลาด
สำหรับโออิชิ บิซโทโระ นั้นได้รับการพัฒนาให้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นไฮบริด (Hybrid) ที่ให้บริการอาหารจานด่วนและร้านอาหารที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ มีทั้งราเมน และดงบุริหรือข้าวหน้าญี่ปุ่นต่างๆ แบบทานง่ายๆ สะดวก รวมแล้วหลากหลายกว่า 50 รายการ ราคาเริ่มต้น 79 บาท โดยมีราคาเฉลี่ยต่อมื้ออยู่ที่ 150-180 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มองการปรับตัวของ ‘โออิชิ’ ท่ามกลางกระแสโควิด ด้วยการปล่อย ‘ร้านอาหารเคลื่อนที่’ เข้าถึงลูกค้า เริ่มประเดิมก่อนในปั๊มน้ำมัน
- ต่อไป KFC ในประเทศไทย จะมี ‘ชาเขียวโออิชิ’ เป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่
- มองเกมรบ CRG เปิด KFC ในตึกแถว, ปั้น Virtual Brand, เตรียมงบ 500 ล้าน ทำ M&A หวังรายได้ 12,100 ล้านบาท
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI เปิดเผยว่า ในช่วงระยะปีสองปีมานี้ สถานการณ์แพร่ระบาดส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บรรดาผู้ประกอบการจึงต้องมองหาโอกาส เพื่อเร่งเติมเต็มช่องว่างตลาดและปรับโมเดลธุรกิจ กระจายให้ครอบคลุมและหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์การกินดื่มในทุกรูปแบบ
“เราได้ลุยปั้นแบรนด์ใหม่ เสริมแกร่งพอร์ตฯ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น และขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยเปิดแบรนด์โออิชิ บิซโทโระ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก อร่อย รวดเร็ว ในมื้ออาหาร และที่สำคัญมีเมนูหลากหลายในราคาย่อมเยา สามารถรับประทานได้บ่อยๆ” แม่ทัพของโออิชิกล่าว
ปัจจุบันโออิชิ บิซโทโระเปิดให้บริการแล้วทั้งในห้างสรรพสินค้า / ศูนย์การค้า ไปจนถึงสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้คนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ดังนี้ 1. สาขา เซ็นทรัล อยุธยา เป็นสาขาแรกที่เปิดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564 2. สาขา เซ็นทรัล ศรีราชา และ 3. สาขา คาลเท็กซ์ งามวงศ์วาน
พร้อมมีแผนขยายสาขาและพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติมไปสู่โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ (Community Mall) ต่อเนื่องเป็นสาขาที่ 4 ภายในเร็วๆ นี้ ได้แก่ สาขา สายไหม อเวนิว-กรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันแรก วันที่ 12 เมษายนนี้
“เรายังไม่ได้วางแผนจำนวนสาขาที่จะขยายทั้งหมด แต่ด้วยรูปแบบของร้านขนาดเล็ก นับเป็นจุดแข็งหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการขยายสาขาและพื้นที่ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว”
ข้อมูลจากเจโทร กรุงเทพฯ เผยว่า ปี 2564 ร้านเปิดไหม่มีจำนวน 889 ร้าน มีร้านซูชิและภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คิดเป็น 61% ของจำนวนร้านเปิดใหม่ทั้งหมด และด้วยสถานการณ์โควิด จำนวนร้านปิดกิจการชั่วคราวจาก 70 ร้านในปี 2563 จึงเพิ่มขึ้นเป็น 231 ร้าน
เมื่อจำแนกร้านที่เปิดดำเนินการอยู่ด้วยราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวแล้วพบว่า ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวที่มีจำนวนร้านมากที่สุดคือ 101-250 บาท ตามด้วยระดับราคา 251-500 บาทเหมือนกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ระดับราคาที่รองลงมาคือ 501-1,000 บาทสำหรับกรุงเทพฯ และต่ำกว่า 100 บาทสำหรับต่างจังหวัด โดยสำหรับร้านเปิดใหม่พบว่า มีร้านเปิดใหม่จำนวนมากในต่างจังหวัด ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวต่ำ (101-250 บาท และต่ำกว่า 100 บาท)
สำหรับเครือโออิชิมีจำนวนสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่น สิ้นสุด ณ ไตรมาส 1 ปีงบฯ 2565 (วันที่ 31 ธันวาคม 2564) จำนวน 258 สาขา ได้แก่
ร้านอาหารระดับพรีเมียมมี ซาคาเอะ ร้านชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น 1 สาขา, โฮวยู ร้านอาหารญี่ปุ่น ซูชิ ซาชิมิ หรือปลาดิบต่าง ๆ 3 สาขา และโออิชิ แกรนด์ ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมียมบุฟเฟต์ 1 สาขา
ร้านอาหารระดับพรีเมียมแมส ได้แก่ โออิชิ อีทเทอเรียม ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ 9 สาขา, โออิชิ บุฟเฟต์ ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ 8 สาขา และนิกุยะ ร้านปิ้งย่าง 4 สาขา
ร้านอาหารระดับแมส ได้แก่ ชาบูชิ ร้านชาบู-ชาบู ซูชิ 160 สาขา, โออิชิ ราเมน เป็นร้านราเมน 53 สาขา, คาคาชิ ร้านดงบุริ หรือข้าวหน้าญี่ปุ่น 17 สาขา และโออิชิ บิซโทโระ ร้านอาหารญี่ปุ่น ราเมนและดงบุริ 2 สาขา
โดยผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2564-2565 (1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2564) มีรายได้รวม 2,982 ล้านบาท เติบโต 11.8% แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 1,694 ล้านบาท เติบโต 14.5% และรายได้จากธุรกิจอาหาร 1,288 ล้านบาท เติบโต 8.5% ขณะที่กำไรสุทธิ 389 ล้านบาท เติบโต 73.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP