ในช่วงวันศุกร์ (19 เมษายน) ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ (WTI Futures) พุ่งแตะ 84.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็นการปรับตัวขึ้นมาถึง 25% นับจากจุดต่ำสุดในช่วงเดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งกำลังกลายเป็นความเสี่ยงต่อค่าเงินเยนที่มีโอกาสอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประเทศญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นหลักและทำให้การขาดดุลทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น
แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวมาค่อนข้างสูงแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก จากความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่กำลังเพิ่มมากขึ้น
Yujiro Goto หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้านค่าเงินของบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ประเมินว่า ขาขึ้นของราคาน้ำมันถือว่าเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินเยน หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 10% จะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง 3-4 เยน เทียบกับเงินดอลลาร์
ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ ค่าเงินเยนถือได้ว่าเป็นค่าเงินที่ทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุด ลงไปอยู่ที่บริเวณจุดต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ อ้างอิงกับเงินดอลลาร์ และคิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 25% นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มใช้นโยบายตึงตัวทางการเงิน
ไม่เพียงเท่านั้นค่าเงินเยนยังโดนกดดันจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ มากพอสมควร
ประกอบกับการคาดการณ์กันของนักวิเคราะห์ว่า ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สหรัฐฯ มีโอกาสชะลอการลดดอกเบี้ยออกไป
Tsutomu Soma เทรดเดอร์ค่าเงินและพันธบัตรของ Monex Inc กล่าวว่า “ญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้นตาม จนนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินเยน และแม้ว่าราคาน้ำมันจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีท่าทีว่าจะไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยเช่นเดิม”
ทั้งนี้ ที่มาของการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศของญี่ปุ่นเกิดมาจากที่รัฐบาลได้ยุติการพึ่งพิงการผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนมากไปตั้งแต่ในช่วงปี 2011 หลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะ ซึ่งจากการคำนวณของ Bloomberg พบว่า อัตราค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อค่าใช้จ่ายของญี่ปุ่นมีอัตราสูงสุด เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอื่นๆ
อัตราส่วนระหว่างการนำเข้าพลังงานสุทธิต่อการบริโภคน้ำมันทั้งหมดจากข้อมูลของ Bloomberg และ IEA
ญี่ปุ่น 85.3%
เบลเยียม 77.9%
เนเธอร์แลนด์ 65.8%
อิตาลี 58.5%
เยอรมนี 54.2%
ฝรั่งเศส 44.5%
สวิตเซอร์แลนด์ 38.2%
สหราชอาณาจักร 30.7%
สวีเดน 19.7%
สหรัฐฯ -3.7%
แคนาดา -84.5%
อ้างอิง: