×

กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัพ เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567

16.11.2022
  • LOADING...

เปิดเส้นทาง ‘โอ้กะจู๋’ หลังเข้ามาอยู่ในอาณาจักร OR กางแผนขยายธุรกิจทั้งในประเทศ – CLMV หวังกวาดลูกค้ารอบทิศ ตั้งเป้าเติบโตอย่างยั่งยืน ก่อนเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567 

 

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ก่อตั้งร้านอาหารสวนผัก โอ้กะจู๋ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อเข้ามาเป็นอุปสรรค เห็นได้จากยอดค่าใช้จ่ายต่อบิลของร้านอาหารโอ้กะจู๋เริ่มลดลง แต่คาดการณ์ว่าปี 2566 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

 

ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมร้านอาหารเริ่มรุนแรงขึ้น เพราะไม่ได้แข่งเฉพาะร้านอาหารประเภทเดียวกัน และจะเห็นว่ามีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดต่อเนื่อง จึงต้องปรับกลยุทธ์และให้ความสำคัญกับการบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด 

 

สำหรับ ‘โอ้กะจู๋’ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หากย้อนกลับไป ก่อนที่จะมาเป็นร้านอาหารโอ้กะจู๋ในปัจจุบันนี้ ได้เริ่มต้นจากการปลูกผักในปี 2553 ควบคู่ไปกับเปิดร้านคาเฟ่ ให้บริการเครื่องดื่มและเมนูสลัดออร์แกนิกจากสวน ตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ จากนั้นได้ตัดสินใจเปิดร้านอาหารโอ้กะจู๋ 2 สาขาในจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่าเจออุปสรรควิกฤตอุทกภัยรอบด้าน แต่ก็ได้ปรับตัวบริหารจัดการจนผ่านพ้นมาได้ 

 

ในช่วงแรกที่เปิดร้านยังไม่มีกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็เริ่มมีลูกค้าเข้าใช้บริการ แล้วถ่ายรูปเมนูอาหารแชร์ผ่านสื่อโซเซียล สร้างการรับรู้แบบปากต่อปาก หลังจากนั้นมีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาต่อเนื่อง โดยใช้เวลาเรียนรู้การบริหารร้านมาได้ 3 ปี เริ่มรุกคืบขยายสาขาเข้าไปในกรุงเทพฯ นำร่องสาขาแรกที่สยามสแควร์ โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 17 สาขา

 

กระทั่งได้ตัดสินใจเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ OR ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 OR ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นในนามบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR เข้าลงทุนในบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ในสัดส่วน 20% โดยมีเป้าหมายใหญ่คือมุ่งขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,947 สาขาทั่วประเทศ 

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าใช้เวลาตัดสินใจนานถึง 4 ปี เพราะคิดว่าธุรกิจที่ทำอยู่ถือว่าดีอยู่แล้ว เพียงแค่ยังไม่ยั่งยืน และยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังต้องปรับตัว จึงต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยสนับสนุนแลกเปลี่ยนแนวคิดกันได้ 

 

หลังจาก OR เข้ามาจะช่วยให้โอ้กะจู๋ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ยังมีความท้าทายคือวัตถุดิบผักจะไม่พอใช้ จึงต้องขยายสวนปลูกและเปิดโอกาสรับซื้อผักจากกลุ่มเกษตรกร

 

 

ปัจจุบันมีฟาร์มปลูกผักรวม 380 ไร่ มีกำลังการผลิต 2.5 ตันต่อวัน ขณะที่ครัวกลางในอำเภอดอยสะเก็ดผลิตได้ 30% ยังกำลังจะขยายการผลิตเพิ่มอีกมาก 

 

เดินหน้าขยายสาขาต่างจังหวัด – CLMV กวาดลูกค้ารอบทิศ

สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ เตรียมขยายสาขาเพิ่ม 60 แห่ง มุ่งไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดที่มีทราฟฟิกสูง และเร็วๆ นี้เตรียมเปิดโมเดลใหม่ ไดรฟ์-ทรูในสถานีบริการน้ำมัน เบื้องต้นอาจยังไม่เปิด 24 ชั่วโมง ต้องรอการตอบรับของผู้บริโภคก่อน โดยสาขาดังกล่าวจะมีเมนูแตกต่างจากสาขาอื่นๆ

 

ขณะเดียวกัน ในอีก 2-3 ปีจะเริ่มมองไปถึงการขยายในประเทศ CLMV ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด โดยใช้ฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าของ OR เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค 

 

รวมถึงให้น้ำหนักในแง่ของการพัฒนาสินค้า R&D เน้นเมนูสุขภาพ ทั้งในสาขาและนำเข้าไปจำหน่ายในร้านกาแฟ Café Amazon และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเดิมทีได้นำแซนด์วิชเข้าไปจำหน่ายใน Café Amazon กว่า 40 สาขา ถือว่าได้รับการตอบรับดี พร้อมกับเตรียมลงทุนนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสิร์ฟ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต และยังเตรียมเปิดให้บริการสั่งซื้อผักสดจากแอปพลิเคชันโอ้กะจู๋ 

 

ชลากรยังบอกถึงแนวโน้มการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ขณะนี้มองว่ามีความเป็นไปได้น้อย เพราะยังห่วงในเรื่องของการรักษาคุณภาพของอาหารให้มีมาตรฐานตรงกันทุกๆ สาขา

 

 

อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาอาหาร รับต้นทุนสูง

แม้ชื่อแบรนด์จะติดตลาดแล้ว แต่ยังต้องทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และโปรโมชันยังเป็นสิ่งสำคัญในช่วงภาวะกำลังซื้อที่ลดลง

 

รวมถึงการบริหารเรื่องต้นทุน ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะราคาวัตถุดิบและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน เนื่องจากวัตถุดิบผักจะอยู่ที่สวนในจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องใช้ระบบขนส่งลงมากระจายเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้าที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกระจายไปยังสาขาต่างๆ 

 

โดยรวมแล้วต้นทุนปรับสูงขึ้นประมาณ 20% แต่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา และอนาคตอาจจะต้องพิจารณาเป็นบางรายการเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด

 

ส่วนเป้าหมายปี 2566 บริษัทต้องการรายได้อยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ถ้าเทียบจากปีนี้ ทำได้ 1.2 พันล้านบาท 

 

 

เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567 

ด้าน สุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำมาลงทุนขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

รวมถึงแผนการสร้างครัวกลาง ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการบริการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยกับบอร์ดบริหาร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X