×

ทำอะไรคนเดียวแปลกตรงไหน? ‘โอฮิโตริซามะ’ เมื่อการใช้ชีวิตคนเดียวเขย่าตลาดญี่ปุ่น

07.09.2023
  • LOADING...
โอฮิโตริซามะ

“กี่ท่านคะ”

“คนเดียวครับ”

 

การทำอะไรคนเดียวเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น ถ้าใครเคยเข้าร้านอาหารหรือบาร์ญี่ปุ่นก็จะพบว่าที่นั่งแบบเคาน์เตอร์หรือโต๊ะเล็กๆ สำหรับนั่งคนเดียวนั้นมีสัดส่วนเยอะกว่าโต๊ะใหญ่สำหรับ 4 คน แตกต่างกับที่บ้านเราซึ่งสัดส่วนของโต๊ะใหญ่จะมีมากกว่า และบางร้านถึงกับมีโต๊ะสำหรับ 8 คนเลยทีเดียว

 

‘โอฮิโตริซามะ’ เป็นวัฒนธรรมการทำอะไรคนเดียวของญี่ปุ่นที่ทุกคนกำลังทำให้เป็นเรื่องแง่บวก ไม่ผิดแปลกอะไร เพราะเมื่อนานมาแล้วการทำอะไรคนเดียวจะถูกมองในแง่ลบว่าเป็นคนไม่มีใครคบ จนมีคำว่า ‘เบนโจเมชิ’ สำหรับเรียกเด็กนักเรียนที่เวลาพักกลางวันต้องแอบไปกินข้าวกล่องในห้องน้ำ ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขาไม่ได้อยากทำแบบนั้น แต่ไม่อยากถูกมองว่าไม่มีเพื่อนกินข้าวด้วยต่างหาก การเปลี่ยนแปลงจาก ‘เบนโจเมชิ’ ไปยัง ‘โอฮิโตริซามะ’ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งในเชิงการใช้ชีวิตและเชิงการตลาด

 

หากลองเที่ยวญี่ปุ่นคนเดียวสักครั้ง จะรู้สึกว่าญี่ปุ่นทำให้การใช้ชีวิตคนเดียวเป็นเรื่องปกติได้ มองไปรอบๆ เมืองก็จะเจอกับสถานที่สำหรับใช้ชีวิตคนเดียวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารจานด่วนไปจนถึงร้านปิ้งย่างหรือชาบูชาบูที่ปกติแล้วต้องกินกันหลายคน ที่นี่มีร้านปิ้งย่างและร้านชาบูชาบูที่ออกแบบมาเพื่อกินคนเดียวโดยเฉพาะ นั่งลงตรงที่เคาน์เตอร์บาร์ มีเตาเล็กๆ และพวงน้ำจิ้มเป็นของตัวเอง แม้แต่การสั่งอาหารก็ทำผ่านแท็บเล็ต ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับใครให้เขินในความเหงา

 

แม้แต่ร้านกาแฟชื่อดังก็เต็มไปด้วยที่นั่งสำหรับคนเดียว ชนิดที่ว่าถ้าคุณมาเป็นกลุ่มมากกว่า 4 คน การหาที่นั่งจะเป็นเรื่องยาก ส่วนบาร์ก็มีให้เลือกมากมาย ทุกคนล้วนมานั่งดื่มคนเดียวและคุยกับบาร์เทนเดอร์ และแม้แต่สถานที่ให้ความบันเทิงอย่างคาราโอเกะก็มีห้องเดี่ยวให้บริการในราคาที่คุ้มค่ากว่ามากันหลายคน และอีกสถานที่หนึ่งที่น่าแปลกใจคือ สวนสนุก เป็นที่รู้กันดีว่าสวนสนุกในญี่ปุ่นนั้นคิวยาวและส่วนใหญ่ผู้คนจะมากันเป็นกลุ่ม แต่สวนสนุกมีเลนพิเศษสำหรับคนที่มาเล่นเครื่องเล่นคนเดียวด้วย ซึ่งระยะเวลาการรอขึ้นเครื่องเล่นจะสั้นกว่า

 

“ความต้องการของคาราโอเกะคนเดียวนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% ของจำนวนลูกค้าร้านคาราโอเกะทั้งหมด” ไดกิ ยามาทานิ ผู้จัดการด้านการขายของ 1Kara ร้านคาราโอเกะสำหรับมาคนเดียวในโตเกียวกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วคาราโอเกะจะเป็นสถานที่สำหรับสังสรรค์หลังเลิกเรียนหรือเลิกงานที่ทุกคนจะมาเป็นกลุ่ม ร้านคาราโอเกะจึงเต็มไปด้วยห้องใหญ่หรูหราที่รองรับคนจำนวนมากได้ แต่ในช่วงหลังมานี้จำนวนนักร้องเดี่ยวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนทำให้ร้านคาราโอเกะเปลี่ยนมาทำห้องเล็กขนาดเท่าตู้โทรศัพท์มากขึ้น

 

การมาคนเดียวนั้นมีสิทธิประโยชน์มากมายกว่าที่คิด หากลองเสิร์ชแฮชแท็ก #おひとりさま ใน Instagram ก็จะเจอกับผู้คนมากมายที่โพสต์รูปภาพการใช้ชีวิตคนเดียว ตั้งแต่การไปดูหนังคนเดียวไปจนถึงการตั้งแคมป์คนเดียว และพวกเขาทำมันด้วยความภาคภูมิใจว่าฉันเก่งนะที่ทำอะไรคนเดียวได้ ดังนั้นการทำอะไรคนเดียวจึงกลายเป็นเทรนด์ในอนาคตที่ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่กำลังจะเผยแพร่ไปยังทั่วโลกด้วย

 

ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม เมื่ออัตราการเกิดลดลง คนเริ่มแต่งงานในช่วงอายุที่มากขึ้น คนเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น หลายประเทศก็กำลังเจอกับสิ่งนี้เหมือนกัน จากงานวิจัยจาก Euromonitor บริษัทวิจัยการตลาดในลอนดอน ชี้ให้เห็นว่าคนที่เลือกใช้ชีวิตเป็นโสดทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นถึง 128% ภายในปี 2030

 

“การอยู่คนเดียวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนหนุ่มสาวที่เลือกจะเป็นโสดเท่านั้น แต่ยังมีคนสูงอายุที่กลับมาโสดอีกครั้งจากการเป็นหม้ายด้วย” คาซึฮิสะ อาราคาวะ นักวิจัยจาก Hakuhodo หนึ่งในบริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นกล่าว เขาคาดการณ์เอาไว้ว่ากว่า 50% ของประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปี จะเลือกใช้ชีวิตอยู่คนเดียวภายในปี 2040 ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเข้าหากลุ่มคนที่เลือกใช้ชีวิตอยู่คนเดียวแบบนี้เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต การโฟกัสแต่กลุ่มครอบครัวนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว

 

ที่จริงแล้วแม้แต่คนที่มีแฟนแล้วหรือแต่งงานแล้วก็สนุกไปกับการใช้ชีวิตคนเดียวเช่นกัน หนังสือพิมพ์ Yomiuri ได้มีการสำรวจว่าผู้คนต่างออกมาใช้ชีวิตคนเดียวไม่ว่าจะมีสถานภาพอย่างไร เพราะบางครั้งการรอสามีเลิกงานและออกไปกินข้าวด้วยกันก็เป็นเรื่องยากในสังคมที่ทำงานกันอย่างหนัก ภรรยาจึงเลือกออกไปนั่งกินข้าวคนเดียว หรือบางครั้งเมื่อเกิดการไม่เข้าใจกันในคู่รัก พวกเขาก็เลือกออกไปเที่ยวต่างจังหวัดคนเดียวเพื่อเคลียร์หัวใจตัวเอง

 

การทำอะไรคนเดียวอาจให้มุมมองใหม่ๆ กับเราได้ด้วย แล้วคุณล่ะ มีเรื่องอะไรที่อยากทำคนเดียวหรือเปล่า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising