×

เปิดรายงาน OECD เมื่อโลจิสติกส์ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด อะไรคือโอกาสและอุปสรรค

โดย THE STANDARD TEAM
30.10.2020
  • LOADING...
เปิดรายงาน OECD เมื่อโลจิสติกส์ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด อะไรคือโอกาสและอุปสรรค [Advertorial]

โควิด-19 สร้างวิกฤตสะเทือนไปทั่วโลก และดิสรัปต์ห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่พ้น โดยองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวถึง 8% ในปี 2020   

 

แต่ในวิกฤตก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสมอไป เมื่อวิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความปกติใหม่ขึ้น (New Normal) ผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตามข้อจำกัดใหม่ๆ รวมถึงการบริโภค ซึ่งส่งผลให้บางธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด 

 

เราจะเห็นได้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้บริการโลจิสติกส์จึงได้รับอานิสงส์เติบโตตามอย่างมีนัยสำคัญ และกลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต แน่นอนว่าไทยก็ควรมองมันเป็นโอกาส เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างมั่นคง

 

ที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าในปี 2019 สูงถึง 3.82 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท) และมีแนวโน้มจะเติบโตในอัตราเลขสองหลักภายในปี 2021 ขณะที่มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2019 นั้นอยู่ที่ราว 4.3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.34 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะเติบโต 10% ต่อไปในช่วงปี 2017-2024 

 

นั่นจึงเป็นที่มาของรายงานล่าสุดของ OECD ที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยโดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และไทยควรปลดล็อกศักยภาพด้านโลจิสติกส์อย่างไร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

 

 

รายงานที่เพิ่งเผยแพร่แบ่งออกเป็น 2 ฉบับ โดย OECD จัดทำร่วมกับสำนักคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ซึ่งรายงานแรกเป็นการศึกษาประเมินกฎระเบียบด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของประเทศไทย (OECD Competition Assessment Reviews: Thailand-Logistics Sector 2020) และรายงานที่ 2 คือการศึกษาการประเมินความเป็นกลางทางการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุย่อย (OECD Competitive Neutrality Reviews: Thailand-Small-Package Delivery Services) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 12 สาขาสำคัญที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC Blueprint 2025 โดยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนในการเปิดตัวรายงาน 2 ฉบับนี้ นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่านกองทุน Prosperity Fund เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านการแข่งขันของอาเซียน (ASEAN Competition Action Plan: ACAP) ปี 2016-2025

 

รายงานทั้ง 2 ฉบับประกอบด้วย 80 ข้อเสนอแนะที่ไม่ผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการปรับบทบัญญัติที่จำกัดการเข้าตลาด รวมถึงเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจนในการให้ข้อยกเว้นจากกฎหมายการแข่งขัน เพื่อเป็นแนวทางการเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ในไทย พร้อมกับส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นในราคาที่ถูกลง และเปิดรับนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว

 

ระบบกฎหมายที่ดีช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างไร

OECD ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD กฎระเบียบบางอย่างอาจจำกัดวิธีการทำงานของตลาดอย่างไม่เหมาะสม และอาจเป็นอันตรายต่อการเติบโตของประเทศ แม้ว่ากฎหมายและกฎระเบียบจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายสาธารณะมากมาย เช่น การคุ้มครองหรือความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ตลาดไม่สามารถแข่งขันได้มากเท่าที่ควร เช่น การจำกัดการเข้าสู่ตลาด การจำกัดเสรีภาพของบริษัทในการให้บริการ รวมถึงการเพิ่มต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ให้บริการ

 

OECD ย้ำว่า รายงานนี้ไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเทศ แต่แนะนำให้ปรับปรุงกฎระเบียบให้ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และลดผลกระทบที่เกิดกับการแข่งขันและการทำงานของตลาด

 

ผู้จัดทำรายงานชี้ว่า การปรับปรุงพัฒนากฎหมายด้านโลจิสติกส์ จะช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมของตลาดโลจิสติกส์ในไทยเอื้อต่อการค้าเสรีมากยิ่งขึ้น และลดอุปสรรคการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เช่น กระตุ้นให้บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนพัฒนานวัตกรรมและการจ้างงานมากยิ่งขึ้น

 

อธิบายให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น เช่น กฎเกณฑ์ที่ทำให้ SMEs หรือบริษัทอื่นๆ เข้าสู่ตลาดหรือขยายธุรกิจยากขึ้น จะทำให้ตลาดมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจลดการเติบโตของผลผลิต จำกัดการลงทุนและนวัตกรรม ส่งผลเสียต่อการสร้างงาน และอาจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทบางรายที่อยู่ในตลาดอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของรายได้

 

ในทางกลับกัน การลดอุปสรรคด้านกฎเกณฑ์ลงจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น

 

OECD ทิ้งท้ายว่า รายงานนี้เป็นการให้คำแนะนำเชิงนโยบายต่อรัฐบาลไทยที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย สนับสนุนโดยงานวิจัยและการวิเคราะห์ที่รัฐบาลและหน่วยงานไทยสามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการอภิปรายและนำไปใช้ในอนาคตตามที่เห็นสมควร 

 

 

มองมุมต่างจาก สขค. เมื่อรัฐวิสาหกิจไม่ได้เปรียบกว่าภาคเอกชน

ด้าน สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) มองในมุมต่างจากรายงานของ OECD ในฐานะหน่วยงานหลักที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางการค้า โดยเฉพาะในด้านกฎระเบียบในการทำธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการอยู่แล้ว เช่นเดียวกับธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 

 

โดยในมุมมองจากรายงานของ OECD มองว่าการที่รัฐวิสาหกิจเข้ามามีบทบาทในธุรกิจโลจิสติกส์อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะรัฐวิสาหกิจอาจมีความได้เปรียบเนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ในประเด็นนี้อยากให้มองด้วยว่าการที่มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาทำธุรกิจขนส่งพัสดุภัณฑ์ จดหมาย หรือพัสดุย่อย จริงๆ แล้วไม่ต่างจากในหลายๆ ประเทศที่มีหน่วยงานรัฐทำหน้าที่นี้อยู่ และในความเป็นจริงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างไปรษณีย์ไทยก็อาจจะไม่ได้มีความได้เปรียบเหนือบริษัทเอกชนรายอื่นๆ เพราะนอกเหนือจากการสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งแล้ว ต้องอย่าลืมว่าธุรกิจโลจิสติกส์ในปัจจุบันแข่งขันกันด้วยปัจจัยอื่นๆ นั่นหมายถึงความสามารถในการแข่งขันของหน่วยงานเองด้วย

 

“ในตลาดการขนส่งพัสดุย่อยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าตลาดมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ในอดีตอาจจะเกิดการผูกขาดโดยรายใดรายหนึ่งที่มีเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมกว่า แต่ปัจจุบันมีบริษัทขนส่งต่างๆ เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาที่มีการขนส่งในรูปแบบของ B2C (Business to Customer) หรือ B2B (Business to Business) เยอะมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ มีการนำแพลตฟอร์มมาบริหารจัดการการขนส่ง ดังนั้นข้อได้เปรียบในการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงมีน้อยมากในแง่ของการแข่งขัน เพราะธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบันแข่งขันกันด้วยประสิทธิภาพการขนส่ง การให้บริการที่สะดวก และเทคโนโลยี ซึ่งผมมองว่าไปรษณีย์ไทยไม่มีความได้เปรียบในเรื่องพวกนี้เลย”

 

ในด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย เลขาธิการ สขค. ระบุว่ากฎหมายแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันมีความครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีข้อยกเว้นบางประการกรณีที่ถูกบรรจุในนโยบายของรัฐบาลโดยผ่านมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังให้สิทธิ์ไปรษณีย์ไทยในบ้างเรื่อง เช่น เรื่องการส่งไปรษณีย์ ซึ่งตลาดโลจิสติกส์ในปัจจุบันการส่งไปรษณีย์มีบทบาทน้อยมาก เพราะบทบาทใหญ่ในตลาดคือการขนส่งพัสดุรายย่อยที่มีการแข่งขันอย่างสูง ขณะที่ข้อยกเว้นบางประการเหล่านี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ไปรษณีย์ไทยมีความได้เปรียบแต่อย่างใด 

 

“เรามองว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันดูแลครอบคลุมอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ดังนั้นพฤติกรรมทางการค้าที่จะไปรังแกหรือเอาเปรียบคู่แข่งรายอื่นๆ จึงไม่เกิดขึ้น”

 

ด้านการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจรายย่อย เลขาธิการ สขค. มองว่าปัจจุบันไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ธุรกิจรายย่อยเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ไม่จำเป็นต้องมีคลังสินค้า หรือจุดรับ-ส่งสินค้าเช่นในอดีต ทุกวันนี้มีบริษัทเทคโนโลยีรายใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดนี้มากมาย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพต่างๆ ที่สร้างแพลตฟอร์มการรับส่งสินค้าขึ้นมา แต่จุดที่สำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีคือเทคโนโลยีในการให้บริการ 

 

เลขาธิการ สขค. เน้นย้ำว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจโลจิสติกส์ สุดท้ายผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้บริการของผู้ให้บริการรายใด หรือผู้ประกอบการรายใดที่ตอบสนองความต้องการของเขามากที่สุด เราจึงเห็นภาพการเติบโตของธุรกิจการขนส่ง ที่ปัจจุบันเอกชนบางรายครองส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่าไปรษณีย์ไทยไปแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม รายงานของ OECD ถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการนำผลการศึกษาจากรายงานนี้ไปศึกษาและดำเนินการต่อ เพื่อลดอุปสรรคต่างๆ จากกฎ กติกา และระเบียบของภาครัฐให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้น 

 

 

ปิดท้ายที่มุมมองของ แอนดรูว์ เบิร์น ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและแผนกพรอสเพอริตี้ ผู้แทนถาวรสหราชอาณาจักรประจำ UNESCAP ที่มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน เนื่องด้วยที่ตั้งที่อยู่ใจกลางอาเซียน และมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านคมนาคม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีความเติบโตอย่างสูงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจด้านโลจิสติกส์เติบโตควบคู่กันไป 

 

แต่ถึงอย่างนั้นแม้ตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังอยากเห็นสินค้าและไม่เชื่อมั่นในบริการโลจิสติกส์เท่าที่ควร ซึ่งในรายงานของ OECD เปิดเผยว่าแม้จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดโลจิสติกส์ของไทย แต่ตลาดขนส่งพัสดุและตลาดขนส่งโดยรวมกลับประกอบไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่ๆ ไม่กี่รายที่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ในขณะที่ผู้เล่นรายใหม่ๆ จะเน้นไปที่การขนส่งบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในภาพรวม

 

โดยแอนดรูว์ พูดถึงยุทธศาสตร์ที่จะช่วยเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ 3 ประการคือ

 

“สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างแรกเลยคือ ธุรกิจโลจิสติกส์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภค เพราะบริษัทโลจิสติกส์ไม่ได้ขายสินค้าแต่ขายบริการ ฉะนั้นจึงต้องมุ่งพัฒนาการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคเป็นหลัก

 

“ข้อที่สอง ต้องมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี เพราะการแข่งขันในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องของการผลิตสินค้าในจำนวนที่มากเพื่อให้ได้เปรียบในด้านต้นทุน (Economy of Scale) แต่เป็นเรื่องของความเร็ว (Economy of Speed) ดังนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่บริษัทหรือประเทศจะต้องลงทุนเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพของการบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถทำงานได้ 24 ชั่งโมง 7 วัน มีบริการจัดส่งแบบครบวงจรที่รวดเร็วทันใจ (On Demand Delivery) หรือสามารถตรวจสอบพัสดุได้ทันที (Real-TimeTracking) นอกจากนี้ หลังบ้านเองก็ต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น มีการใช้ AI ใช้ Blockchain และ Big Data เข้ามาช่วย เพื่อดูว่าเส้นทางไหนถึงจะประหยัดค่าใช้จ่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น

 

“ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของการปรับกฎหมายและกฎระเบียบ เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นการส่งออก เพราะฉะนั้นเราควรจะเน้นการปรับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ช่วยขยายศักยภาพบริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกให้การนำสินค้าไปขายยังต่างประเทศผ่านทางอีคอมเมิร์ซง่ายมากขึ้น และจะช่วยขยายเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอีกทางหนึ่ง”

 

ทั้งหมดนี้คือมุมมองที่หลากหลาย และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในภาพรวม ซึ่งหากสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เป็นธรรม และเกิดการแข่งขันอย่างเสรี สุดท้ายแล้วนอกจากผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์แล้ว ยังจะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X