×

‘ประจักษ์พยาน’​ นิทรรศการ 6 ตุลา ความพยายามนำประวัติศาสตร์กลับมาให้คนไทยได้เรียนรู้

02.10.2019
  • LOADING...
นิทรรศการ 6 ตุลา

อีกไม่กี่วัน จะถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือวันที่ 6 ตุลาคม ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2519 นับเนื่องจนถึงศักราชปัจจุบัน จะครบรอบ 43 ปีของเหตุการณ์นี้พอดี

 

สำหรับ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ เป็นเหตุการณ์จลาจลและปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง

 

ขณะที่นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยกำลังชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจัยอื่นๆ เช่น การเดินทางกลับประเทศของจอมพล ประภาส จารุเสถียร ที่ได้หนีออกไปนอกประเทศอีกครั้ง ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล เสนีย์ ปราโมช และการสังหารโหดช่างไฟฟ้า 2 คน ที่จังหวัดนครปฐมโดยฝั่งขวา 

 

โดยสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน ซึ่งมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี ถูกเผา ถูกข่มขืน หรือถูกทำให้พิการ โดยสถิติจากมูลนิธิป๋วยคาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 100 คน

 

ที่ผ่านมาไม่มีผู้ก่อการคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และประเด็นดังกล่าว กลายเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอย่างยิ่งในประเทศไทย 

 

สมาชิกคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่มีการห้ามดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย หนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยจำนวนมากข้ามเหตุการณ์นี้ไปทั้งหมด หรือรวมรายงานด้านเดียวของตำรวจในขณะนั้น ซึ่งอ้างว่าผู้ประท้วงนักศึกษาก่อเหตุรุนแรง บางเล่มลดความสำคัญของการสังหารหมู่ลงเป็นเพียง ‘ความเข้าใจผิด’ ระหว่างสองฝ่าย ขณะที่แม้แต่เล่มที่แม่นที่สุดก็ยังเป็นเหตุการณ์ฉบับที่ลดความรุนแรงลง

 

ทุกๆ ปี จะมีการจัดงานรำลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่แสดงความชั่วร้าย ร่วมกับรายงานของพยานและบันทึกประวัติศาสตร์ มีการสร้างประติมากรรมอนุสรณ์ในมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2539

 

ปีนี้มีการจัดตั้ง ‘โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา’ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้ และแหล่งข้อมูลปรากฏการณ์ความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความรุนแรงทางโครงสร้าง วัฒนธรรม และเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นผ่านการรวบรวมเอกสารและหลักฐาน การจัดแสดง สัมมนา เสวนา ภาพยนตร์สารคดีและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเหตุการณ์อื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและอำนาจนิยม

 

สิ่งของที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ผู้สนใจจะได้พบเห็นในงาน อาทิ

 

กางเกงยีนส์ของ ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง หนึ่งในวัตถุพยาน 

ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใส่กางเกงยีนส์ตัวนี้ในวันที่มาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดนัยศักดิ์เสียชีวิตด้วยบาดแผลถูกกระสุนปืนที่เส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากดนัยศักดิ์เสียชีวิต ครอบครัวเก็บกางเกงตัวนี้ไว้ที่บ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงทุกวันนี้

 

ลำโพงที่มีรอยกระสุน หนึ่งในวัตถุพยาน หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลำโพงตัวนี้ตั้งอยู่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ รอยกระสุนที่ปรากฏบนลำโพงมาจากกระสุนปืนลูกซองยาวขนาด 12 ประมาณ 3-4 นัด ซึ่งเมื่อยิงออกไป ลูกกระสุนจะกระจายออกเป็นม่านกระสุนลูกปราย จากวิถีกระสุน ลำโพงแขวนอยู่บนที่สูง ผู้ยิงอาจมีคนเดียวหรือมากกว่าหนึ่งคนช่วยกันระดมยิง ผู้ยิงอยู่ตำแหน่งด้านล่างของลำโพง ยิงจากซ้ายไปขวา และยิงเข้าไปในตัวกรวยลำโพงเพื่อทำลายตัวกระจายเสียง

 

นิทรรศการที่กำลังจะจัดขึ้น จะมีการเปิดให้ร่วมระดมทุนด้วย ในชื่องาน ‘นิทรรศการ ประจักษ์ I พยาน’ ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างเวลา 10.00- 20.00 น. ผู้สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่อาจหาไม่ได้จากแบบเรียน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้ทัศนา และเรียนรู้เรื่องราวเพื่อเป็นบทเรียนในอดีต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising