วันนี้ (6 กุมภาพันธ์) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยกรณีการเข้าร่วมโครงการ COVAX ของประเทศไทย ว่า ‘COVAX Facility‘ เป็นโครงการประสานงานที่ถูกตั้งขึ้น มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน โดยในอาเซียนมีประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีแผนร่วมจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับ COVAX ตั้งแต่ต้น และได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน ขึ้นมา เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงกับ COVAX ด้วย
นพ.นครกล่าวต่อว่า การทำข้อตกลงจองวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงผ่าน COVAX หรือการทำข้อตกลงโดยตรงกับผู้ผลิต จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลและบริบทหลายๆ ด้านประกอบกัน เนื่องจากการตัดสินใจในการทำข้อตกลงจองวัคซีนในขณะนั้น เป็นความจริงที่ว่าวัคซีนโควิด-19 ของทุกบริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งสิ้น ยังไม่ทราบว่าวัคซีนชนิดใดจะประสบความสำเร็จ และยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่มากเพียงพอ เสียเงินค่าจองไปแล้วก็อาจไม่ได้รับวัคซีนหากการพัฒนาล้มเหลว การตัดสินใจทำข้อตกลงจึงอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงที่ประเทศจะได้รับหากจองวัคซีน และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขการจองวัคซีนผ่าน COVAX พบว่า การจองจะต้องมีค่าธรรมเนียมดำเนินการโดยคิดเพิ่มจากราคาวัคซีน
นพ.นครกล่าวด้วยว่า การจองแบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้มีค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส การจองแบบเลือกผู้ผลิตได้คิดค่าจองเพิ่ม 3.5 ดอลลาร์ต่อโดส (รวมค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์ต่อโดส และค่าประกันความเสี่ยง 0.4 ดอลลาร์ต่อโดส)
ทั้งนี้ แม้จะเลือกทำสัญญาจองซื้อแบบเลือกผู้ผลิตได้ แต่ไม่มีอิสระในการเลือกที่แท้จริง โดย COVAX จะเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้สองรอบ ในรอบแรก COVAX จะเสนอรายชื่อผู้ผลิตที่ COVAX มีข้อตกลงแล้วมาให้ ซึ่งไม่ใช่รายชื่อผู้ผลิตที่มีทั้งหมดในโลก หากผู้ซื้อไม่สนใจผู้ผลิตในรายการที่เสนอ จะต้องรอการประกาศตัวเลือกในรอบต่อไป ทำให้ได้วัคซีนช้าลง และหากเลือกผู้ผลิตที่มีชื่อในรายการ COVAX จะนำเงินที่ผู้ซื้อจ่ายไปจองวัคซีนกับผู้ผลิตก่อน แล้วผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิ์เลือกในรอบที่สองว่าจะทำสัญญากับผู้ผลิตรายนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ทำสัญญาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่จ่ายไปแล้วทั้งหมด และไม่ได้เงินคืนแม้ว่าการเลิกสัญญาจะเกิดจากการพัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ การซื้อวัคซีนจะต้องซื้อตามราคาจริงจากผู้ผลิต โดยต้องยอมรับทุกเงื่อนไข ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าขนส่งวัคซีน ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศและภาษี เป็นต้น
“การทำความตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง มีความยืดหยุ่นมากกว่า เราสามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ สามารถต่อรองราคา หากซื้อเป็นจำนวนมาก ราคาก็ถูกลง และยังสามารถต่อรองเงื่อนไข ขอบเขตความรับผิดชอบได้ตามสมควร ทั้งนี้ การซื้อวัคซีนผ่าน COVAX ยังกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนประชากร หากต้องการวัคซีนรวดเร็ว ผู้ซื้อต้องยอมรับเงื่อนไขและความรับผิดชอบใดๆ ตามที่ผู้ผลิตเสนออีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเจรจากับ COVAX อย่างต่อเนื่อง และหากมีการปรับเงื่อนไขรวมถึงข้อเสนอที่ประเทศจะได้ประโยชน์ ก็อาจมีการทำข้อตกลงผ่าน COVAX ได้” นพ.นครกล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล