วันนี้ (13 มกราคม) ที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนเพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะ 5 ปี ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และกลไกภาคี PES (Payment for Ecosystem Service)
โดยมี นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม ระบุว่า การกำหนดให้ใช้มาตรการหยุดเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ โดยต้องอาศัยความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยให้ความรู้ หาวิธีกำจัดเศษซากวัสดุทางการเกษตรต่างๆ ทดแทนการเผาทำลาย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นเรื่องดี ในฐานะหัวหน้าทีมฝ่ายปฏิบัติยินดีจะได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมจากกองทุน ววน. เพื่อให้เกิดการร่วมกันทำงานและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปพร้อมกัน
นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 8 เป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 มุ่งเป้า 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนว่า ประเทศไทยต้องปลอดจากฝุ่น PM2.5 ในปี 2569 และกำหนดพื้นที่เบื้องต้นใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
โดยเป็นการขยายผลของการนำงานวิจัยมาใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทำงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘SRI for ALL’ ของ ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. ที่นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ, นักธุรกิจ, ภาครัฐ, ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา
นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่จัดงานครั้งนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นเมืองที่สำคัญในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศ และยังอยู่ภายใต้เป้าหมายของการนำงานวิจัยไปตอบโจทย์ปัญหาที่กำลังเผชิญและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5
“ปัจจุบันทั้งภาครัฐ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งระดมหาทางออกให้กับจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดวิกฤตเมืองที่มีค่ามลพิษติดอันดับโลกให้กลับสู่ภาวะปกติ เอื้อต่อการอยู่อาศัย การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า กองทุน ววน. จัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหา PM2.5 พื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ประมาณ 130 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 ขยายพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน งบประมาณทั้งสิ้น 450 ล้านบาท และคาดว่าจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกในปีต่อไปอีก 450 ล้านบาท รวม 2 ปี 900 ล้านบาท
กสว. จะต้องเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุผลภายใน 2 ปี โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 ตุลาคม 2569 มีเป้าหมายคือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจะต้องปลอดฝุ่น PM2.5 และไร้หมอกควัน ในเบื้องต้นวางแผนปฏิบัติการ 3 ขั้น ดังนี้
- จำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ไม่เกิน 50 วันต่อปี
- ลดจำนวนสถิติผู้ป่วย COPD ที่แอดมิตครั้งแรกจากสาเหตุฝุ่น ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี
- ลดจำนวน Hotspot (จากแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง) ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่เกิน 4,000 จุดต่อปี
ด้าน ศ. ดร.สมปอง กล่าวว่า สกสว. ในฐานะเลขา กสว. มีบทบาทในการนำองค์ความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้แก้วิกฤต PM2.5 โดยที่ผ่านมาระบบ ววน. วางแผนงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- แผนงาน Haze Free Thailand และปัญหา PM2.5 (สนับสนุนทุนในปี 2563-2567)
- แผนงาน P24 แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งประเด็นวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ (สนับสนุนทุนในปี 2566-2567)
ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMUs) ทั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ร่วมกัน โดยกำหนดกลุ่มการดำเนินงานเป็น Work Package (WP) ตามมิติการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการขยายผล เพื่อบูรณาการความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ต่อไปในยุทธศาสตร์เป้าหมายของ สกสว.
ศ. ดร.สมปอง กล่าวด้วยว่า แม้จะมีความพยายามสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นด้วย ววน. มาโดยตลอด แต่ก็ยังมีอุปทานจากหลายภาคส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของการแก้ปัญหา และต้องการการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การศึกษาและแก้ปัญหา PM2.5 จากแหล่งกำเนิดฝุ่นทุติยภูมิ ในปัจจุบันการแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาจากแหล่งกำเนิดฝุ่นปฐมภูมิ คือฝุ่นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเศษวัสดุเกษตร หรือฝุ่นจากไฟป่า
และยังมีแหล่งกำเนิดสำคัญที่ต้องการการศึกษาและแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกันคือฝุ่นทุติยภูมิจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx), ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) และกลุ่มก๊าซสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากการคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตร จากการปลดปล่อยของผืนป่าในธรรมชาติหรือมหาสมุทรที่สามารถเคลื่อนตัวข้ามทวีปได้ ซึ่งกระบวนการเกิดฝุ่นทุติยภูมิ สัดส่วนของปริมาณฝุ่นทุติยภูมิ และแนวทางบริหารการจัดการ ยังต้องการการศึกษาและพัฒนาเป็นมาตรการและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป
ในเดือนมกราคม 2568 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมติดตั้งอุปกรณ์ ACSM (Aerosol Chemical Speciation Monitor) ตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีของ PM2.5 เพื่อหาแหล่งกำเนิด วิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิด PM2.5 โดยประเดิมติดตั้ง 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และสงขลา
ศ. ดร.สมปอง กล่าวต่อว่า ในด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความคุ้มทุนเชิงเศรษฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง นอกจากการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาแล้ว ระบบ ววน. ยังมีเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมและนโยบายเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาจากรากเหง้า
ทั้งความคุ้มค่าและคุ้มทุนของการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรวบรวมเศษวัสดุมาส่งต่อให้กลุ่มธุรกิจและได้ค่าตอบแทนที่คุ้ม การลดต้นทุนเครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งชีวมวล และสุดท้ายสิ่งที่สำคัญคือการสานพลังประชาชนให้ตระหนักและเข้าใจ รวมถึงยินดีซื้อสินค้าเกษตรจากแหล่งเพาะปลูก และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปลูกพืชให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ ในการประชุมจะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อหาช่องว่างของปัญหา และแนวทางการทำงานร่วมกับโครงการที่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจัดทำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนความต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในระบบ ววน. ให้ร่วมแก้ปัญหาอย่างมีเป้าหมายและเป็นรูปธรรม มีการติดตามผลในแต่ละโครงการ
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก สกสว. อย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการลดฝุ่นจากต้นกำเนิดการเผาในพื้นที่เกษตร การลดไฟในป่า การลดฝุ่นควันข้ามแดน และการบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจระดับพื้นที่ ตลอดจนการใช้กระบวนการวิจัยในการสร้างความเข้มแข็ง สร้างนักวิจัยชุมชน การสื่อสารสาธารณะ และการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย
โดยผลจากงานวิจัยส่วนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ได้นำไปใช้ในการสนับสนุนการยกร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ที่มี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ เป็นผู้ผลักดันให้การทำงานในพื้นที่มีเป้าหมายชัดเจนเป็นรูปธรรม