×

2020 เมื่อเทคโนโลยีและกีฬาจะรวมเป็นหนึ่งเดียว

29.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ตลอดทศวรรษ (2010-2019) ที่ผ่านมา วงการกีฬาระดับโลกมีการพัฒนาเรื่องของอุปกรณ์กีฬาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เราพบเห็นเทคโนโลยีไม่น้อยถูกนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยตัดสิน VAR ในวงการฟุตบอล รวมไปถึงระบบการจำลองสถานการณ์ของนักกอล์ฟก็มีออกมาให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการกีฬายุคปัจจุบันแล้ว
  • ก่อนจะผลัดปี 2019 และย่างเข้าปี 2020 อย่างสมบูรณ์ THE STANDARD ขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับเทคโนโลยีในวงการกีฬาที่น่าจับตามอง ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงสิ่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาว่า กำลังมีเทคโนโลยีอะไรให้ชมในอนาคตข้างหน้ากันบ้าง

อีกเพียงไม่นาน ปี 2019 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้วนะครับ

 

การสิ้นสุดของปีนี้อาจถือเป็นการสิ้นสุดทศวรรษนี้ไปด้วยในตัว โดยที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ 2020 ไปพร้อมกัน ซึ่งสำหรับในโลกของกีฬาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา (2010-2019) ถือว่าเป็น 10 ปีที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อทุกเรื่องและทุกมิติบนโลกใบนี้

 

หลายเรื่องที่เคยเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ขึ้นมาด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือบางเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบมากก็กลายเป็นมีผลกระทบชนิดแทบจะพลิกโฉมหน้าของวงการได้เลยทีเดียว

 

มีอะไรบ้าง? ลองมาดูกันครับ 🙂

 

วงการแรกที่ต้องพูดถึงคือ วงการกรีฑา ซึ่งเป็นกีฬาที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง และเป็นกีฬาที่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด เพราะแม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด แต่ก็สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ เรียกได้ว่านักกีฬานั้นอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างคำว่าความสำเร็จและความล้มเหลว

 

 

เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จและลดทอนโอกาสของความล้มเหลว

 

ทศวรรษที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพของนักกีฬาค่อนข้างมากครับ โดยย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2012 เราได้เห็นชุดของนักกรีฑาที่สามารถจะตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ, ตรวจจับการหายใจ, ตรวจท่าทาง, ตรวจความเร็ว, ตรวจการกระจายน้ำหนัก 

 

สิ่งที่เทคโนโลยีช่วยในการตรวจจับเหล่านี้ทำให้นักกีฬาและโค้ชรู้ว่าขณะนี้สภาพร่างกายนั้นเป็นอย่างไร ต้องฝึกซ้อมอีกมากแค่ไหน หรือลดการฝึกซ้อมจุดไหน และต้องทำอะไรบ้างถึงจะประสบความสำเร็จในสนาม

 

เท่านั้นไม่พอ ในปี 2016 เราได้เห็นชุดแข่งขันที่ถูกออกแบบมาพิเศษเพื่อเสริมศักยภาพด้วยการที่สามารถจะขจัดเหงื่อออกจากร่างกายแทนที่จะดูดซับเหงื่อ ทำให้นักกรีฑาสามารถทำผลงานในสนามแข่งได้ดียิ่งขึ้น

 

 

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่ล้ำที่สุดที่ถูกนำมาใช้ในวงการกรีฑาเป็นเรื่องของ Neuroscience หรือประสาทวิทยาศาสตร์ครับ

 

เราอาจจะเคยสังเกตว่านักกีฬาระดับโลกที่สามารถทำผลงานได้อย่างมหัศจรรย์จะมีลักษณะความมั่นใจสูง หรือมีสมาธิสูงจนสังเกตได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองครับ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ นักกีฬาจะสามารถทำผลงานได้ดีที่สุดเมื่อสมองของเขาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด

 

นั่นทำให้ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำให้นักกีฬาสามารถทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยการ ‘เตรียมสมอง’ ของนักกีฬาด้วยประสาทวิทยาศาสตร์ให้สมองและจิตใจของนักกีฬามีความพร้อมมากที่สุด

 

อุปกรณ์สุดเทพนี้มีชื่อว่า Halo ครับซึ่งจะสวมเข้าที่ศีรษะ โดยอุปกรณ์นี้ทำงานด้วยการส่งคลื่นไฟฟ้าเข้าไปช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทตื่นตัว ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรุ่นแรก Halo I ได้ผลิตออกมาเมื่อปี 2017 และรุ่นล่าสุด Halo II เพิ่งจะเปิดตัวในปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง และจะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

 

 

อุปกรณ์คาดศีรษะสำหรับนักวิ่ง Halo

 

ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีรองเท้าวิ่งนั้นก็มีความก้าวหน้าอย่างมากมายครับ ทั้งเบาขึ้น แข็งแรงขึ้น สะท้อนได้ดีขึ้น โดยที่เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะถูกใช้กับบรรดานักกีฬาระดับโลกแล้ว ยังถูกส่งต่อมาถึงนักวิ่งชาวบ้านอย่างเราๆ ที่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้ไปด้วย (แม้ว่าจะสนนราคาไม่น้อยที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาก็ตาม) ก็เป็นเรื่องที่ดีครับ

 

มาถึงวงการต่อมาคือ ฟุตบอล กีฬามหาชนของคนทั้งโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยครับ

 

เทคโนโลยีสำคัญในเกมฟุตบอลที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดคือ VAR (Video Assistant Referee) หรือการนำระบบวิดีโอมาใช้ช่วยในการตัดสิน ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโฉมหน้าของวงการฟุตบอลมากที่สุดในรอบศตวรรษครับ

 

 

 

ที่ต้องบอกเช่นนี้ เพราะเดิมฟุตบอลเป็นกีฬาที่ปฏิเสธจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสิน และมองว่าการตัดสินที่ผิดพลาดนั้นคือ ‘เสน่ห์’ ของเกมลูกกลมๆ แต่เมื่อเกมฟุตบอลก้าวหน้ามากขึ้น ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ นั้นส่งผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะมองข้ามได้

 

นั่นทำให้สุดท้ายฟุตบอลก็ต้องยอมรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสิน ซึ่งความจริงก่อนหน้า VAR ก็มีการนำเทคโนโลยีตัดสินที่เส้นประตู หรือ Goal Line Technology เข้ามาใช้ลดความผิดพลาดนำร่องไปก่อนแล้ว 

 

 

 

VAR นั้นถูกพัฒนาโดยบริษัท Hawk-Eye ที่เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีช่วยใช้ในการตัดสิน และมีการทดลองใช้กันนานพอสมควรครับ โดยที่เราอาจจะไม่ทราบหรือไม่ทันสังเกตมาก่อน

 

ครั้งแรกที่มีการนำ VAR มาทดลองใช้เกิดขึ้นในปี 2012 ในลีก Eredivisie ของเนเธอร์แลนด์ จากนั้นจึงเริ่มมีการนำมาใช้ในเกมกระชับมิตรทีมชาติระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลีในปี 2016 และนำมาใช้รายการ FIFA Club World Cup

 

จากนั้นในปี 2017 จึงเริ่มมีการนำมาใช้ในลีกทั่วโลก อาทิ เอ-ลีก ออสเตรเลีย, เมเจอร์ลีก ซอกเกอร์ สหรัฐฯ, บุนเดสลีกา, เซเรีย อา ซึ่งถือเป็นการอุ่นเครื่องใหญ่ก่อนจะนำมาใช้ในฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย และในฟุตบอลลาลีกาของสเปน ก่อนจะมาถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในปีนี้

 

อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยี VAR จะมีข้อดีและช่วยในการตัดสินกรณีปัญหาได้หลายครั้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่เกิดปัญหา เพียงแต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่วิจารณญาณในการตัดสินของผู้ตัดสินเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวกันไป

 

อีกเรื่องที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในเกมฟุตบอลคือเรื่องของ Big Data ที่ปัจจุบันเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมาก ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลและสถิติของทีมฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นทีมของตัวเองหรือทีมคู่แข่งที่จะลงในรายละเอียดทุกอย่าง 

 

 

 

เช่น ทีม A ถนัดการเล่นเกมรุก ชอบการต่อบอลสั้น ขึ้นเกมทางฝั่งขวาเป็นพิเศษ ใช้การครอสบอลเรียดเป็นหลัก ใน 10 นัดหลังสุดที่ผ่านมามีการครอสบอลจากริมเส้นเข้าไปเฉลี่ยนัดละ 10 ครั้ง แต่ประสบความสำเร็จต่ำกว่า 43%

 

หรือแบ็กขวาทีม B มีความเร็วจัดจ้าน ความเร็วสูงสุดในการวิ่งอยู่ที่ 36mph แต่จากค่า Heat Map (ตรวจสอบคลื่นความร้อน ใช้ดูพื้นที่ในการเล่นว่าอยู่จุดไหนของสนามบ้าง) ส่วนใหญ่จะเล่นอยู่ในแดนคู่แข่ง เปิดพื้นที่ว่างหลังแนวรับ และมักจะกลับลงมาไม่ทัน 

 

ข้อมูลพวกนี้ยังถูกทีมเทคนิคนำมาใช้สำหรับการวิเคราะห์หาผู้เล่นที่ทีมฟุตบอลต้องการและดูว่ามีความเหมาะสมกับทีมหรือไม่ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ใช้เฉพาะในการหานักฟุตบอล แต่ยังใช้ในการหาโค้ชหรือผู้จัดการทีมด้วยก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจา

 

 

เคสคลาสสิกที่มีการเปิดเผยกันคือ การที่ เอียน เกรแฮม เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ของทีมลิเวอร์พูล นำข้อมูลการวิเคราะห์ผลงานการคุมทีมของ เจอร์เกน คล็อปป์ มาให้ฝ่ายบริหารพิจารณา ก่อนจะนำไปสู่การเจรจาและคว้าตัวผู้จัดการทีมชาวเยอรมันมาคุมทีม เพราะข้อมูลบ่งบอกว่าคล็อปป์มีความเหมาะสมทั้งในเรื่องของสไตล์การทำทีม อุปนิสัย แนวคิด ฯลฯ

 

เรียกว่าการนำ Big Data มาใช้มีความสำคัญต่อเกมฟุตบอลมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ตำแหน่งนักวิเคราะห์ (Football Analyst) เป็นตำแหน่งงานที่ทุกสโมสรกำลังให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นทีมเล็กหรือทีมใหญ่ก็ตาม

 

แต่สำหรับวงการฟุตบอลไทย อันนี้ไม่ทราบนะครับว่าให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้แค่ไหน…

 

 

 

เทคโนโลยีความก้าวหน้ายังมาถึงกีฬาลูกผู้ชายอย่าง รักบี้ ด้วยครับ โดยในปี 2010 ทีมรักบี้ แบรดฟอร์ด บูลส์ เป็นทีมแรกที่นำเทคโนโลยี GPS Tracking มาใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลและสถิติของผู้เล่น (ซึ่งต่อมาเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแทบทุกชนิดกีฬาประเภททีม) ก่อนจะมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัว GPS สามารถเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจ, ตำแหน่งในสนาม ไปจนถึงความเหนื่อยล้า และสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับบาดเจ็บหรือไม่

 

และเช่นกันกับเกมฟุตบอล รักบี้ก็มีการนำเทคโนโลยีการตรวจับ Hawk-Eye มาใช้ด้วยเหมือนกัน เพื่อช่วยให้การตัดสินเกมเป็นไปอย่างขาวสะอาดมากขึ้น ซึ่งผลตอบรับที่ออกมาก็ถือว่าดีอยู่ครับ ไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนในเกมฟุตบอล

 

 

 

แต่ที่ถือว่าล้ำสุดๆ คือการนำเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เข้ามาใช้ทั้งในเกมระดับสโมสรหรือทีมชาติ โดย VR จะช่วยจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามให้เหล่านักรักบี้ได้ฝึกซ้อมกัน ซึ่งจะช่วยทั้งในเรื่องของความคุ้นชินและปรับเรื่องสภาพจิตใจให้มีความพร้อมมากขึ้น มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีขึ้น และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำขึ้น

 

กอล์ฟเองก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้นะครับ! แม้ว่าจะเป็นกีฬาที่เหมือนจะไม่น่ามีอะไรเลยก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้ามกอล์ฟเป็นกีฬาที่มีการรวบรวมข้อมูลกันอย่างละเอียด เพราะข้อมูลทุกอย่างคือรายละเอียดที่นำไปสู่การตัดสินชัยชนะได้เลย

 

แต่เทคโนโลยีที่มีการพูดถึงอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของกอล์ฟคือลูกกอล์ฟยุคใหม่ที่เรียกว่า Genius Ball ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นสมาร์ทบอล ที่จะทำให้สามารถตรวจสอบระยะเวลาการเดินทาง ระยะทาง การหมุนของลูกบอล ความเร็ว และสำคัญที่สุดคือมี GPS ที่บอกได้ว่าลูกกอล์ฟตกอยู่ตรงไหน

 

 

ตัวอย่างภาพ Genius Ball โดย Oncore Golf

 

Genius Ball ยังไม่มีวางจำหน่ายในเวลานี้นะครับ อยู่ระหว่างการพัฒนา แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาเปิดตัวแล้วน่าจะฮือฮาและช่วยทำให้กอล์ฟเป็นกีฬาที่สนุกขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารองเท้ากอล์ฟสมัยใหม่ที่จะช่วยลดอาการบาดเจ็บของนักกอล์ฟด้วย

 

ที่ล้ำอีกเรื่องคือระบบการจำลองสถานการณ์ Full SkyTrak System ที่ช่วยให้นักกอล์ฟสามารถฝึกซ้อมวงสวิงอยู่ในบ้านของตัวเองได้แม้ว่าสภาพอากาศภายนอกจะย่ำแย่ก็ตาม โดยระบบจะจำลองสถานการณ์ต่างๆ ให้ และยังรวบรวมข้อมูลสถิติในแบบเรียลไทม์ด้วย

 

 

ระบบการจำลองสถานการณ์ Full SkyTrak System

 

และสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือ ‘ประสบการณ์ของแฟนกีฬา’ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังจะมาครับ

 

ลองจินตนาการดูว่าเราสามารถไปนั่งอยู่ในสนามฟุตบอลในฝันที่ยุโรปหรือลาตินอเมริกาได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไป เพียงแค่สวมอุปกรณ์ VR ก็จะนำเราไปสู่สนามแห่งนั้นได้โดยสามารถมองเห็นทุกอย่างในมุมมอง 360 องศาเหมือนว่าไปอยู่ในสนามจริง ได้ยินเสียงกระหึ่มจากแฟนบอล โดยที่ยังสามารถเรียกข้อมูลสถิติของเกมการแข่งขันมาดูได้ตลอดเวลา ไปจนถึงการแชตหรือสนทนากับเพื่อนได้ด้วย

 

 

ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าเราน่าจะพอเห็นแล้วว่าเรื่องของเทคโนโลยีและอุปกรณ์กีฬาที่ล้ำสมัย ซึ่งจัดเข้าข่ายเป็น IoT (Internet of Things) หรือ Big Data นั้นกำลังหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับเกมกีฬาอย่างลงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

และเชื่อว่าในทศวรรษต่อไปนับจากปี 2020 เราจะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยได้เห็นอีกมากมายครับ

 

นักกอล์ฟอาจจะเปลี่ยนจากการนั่งรถกอล์ฟหรือเดินไปหลุมต่างๆ มาใช้อุปกรณ์ Hoverboard เพื่อความสะดวกสบาย

 

นักวิ่งอาจจะมีวิธีพัฒนาขีดความสามารถให้ทำลายสถิติโลกของ ยูเซน โบลต์ หรือคิปโชเก ได้อย่างสบายๆ ในอนาคต

 

ผู้ตัดสินฟุตบอลจะมี AI ช่วยตรวจสอบการตัดสินให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปทุกนาที กีฬาจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถหยุดนิ่งได้เช่นกันครับ 

 

 

 

ภาพ: Oncore Golf / Golfswingsystems / Halo Headbanduk

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X