×

2020 ปีที่เทคโนโลยีจะช่วยในการค้นพบทางโบราณคดี จนอาจนำไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่

03.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นำไปสู่การค้นพบที่สำคัญทางโบราณคดีมากมาย เมื่อไม่นานมานี้ มาซาโตะ ซากาอิ นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบภาพลายเส้นนาซกาที่ประเทศเปรูเพิ่มเติมมากถึง 143 ภาพ ด้วยการใช้ AI (Artificial Intelligence) ช่วยประมวลผลจากภาพถ่ายทางอากาศ 
  • ในปี 2020 วงการโบราณคดีจะมีการค้นหาหลักฐานใหม่ที่เก่าแก่ขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น และการพัฒนาเทคนิคการกำหนดอายุจะก้าวหน้ายิ่งขึ้น 
  • Grand Egyptian Museum ที่กำลังจะเปิดขึ้นนี้ คงมีโบราณวัตถุแปลกตาและล้ำค่ามาจัดแสดง ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการศึกษาในเชิงลึกกันอีกครั้ง และอาจมีภาพยนตร์แนวอียิปต์ออกมาเช่นกัน 
  • จากกระแสการเรียกร้องและทวงคืนโบราณวัตถุที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศจะเริ่มคิดและทบทวนเรื่องการคืนของที่ซื้อมา ได้มา หรือขโมยมาในช่วงสงครามโลก หรือในช่วงอาณานิคมคืนให้กับประเทศต่างๆ กันมากขึ้น และปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องปรินต์แบบสามมิติ (3D Printing) ที่ก้าวหน้าและสามารถจำลองวัตถุได้เหมือนจริง จึงอาจไม่จำเป็นต้องเอาของจริงมาตั้งอีกในอนาคต
  • ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เราอาจจะต้องมาเริ่มต้นทำความเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงประวัติศาสตร์กันใหม่ รวมถึงแนวโน้มของการตระหนักรู้ต่อปัญหาการนำโบราณคดีมารับใช้การเมืองในปัจจุบันอีกด้วย

ตลอดปีที่ผ่านมา มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ หลักฐานบางอย่างสามารถช่วยไขปริศนาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติให้ชัดขึ้น จนต้องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ทีเดียว ในขณะที่บางอย่างคงต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป เพราะประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นยาวนานนับแสนนับล้านปี 

บทความนี้นอกจากผมจะสรุปว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่ค้นพบบ้างในไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในโลกนี้ ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องเลือกเฉพาะเรื่องที่สำคัญในสายตาของผม โดยจะพยายามชี้เห็นถึงประเด็นเชิงลึกบางอย่างไปพร้อมกันด้วย จากนั้นจะลองเอาการค้นพบต่างๆ มาประมวลเพื่อทำนายว่า แล้วปี 2020 นั้นงานโบราณคดีจะเป็นอย่างไร

 

Now: 2019 ปีแห่งการค้นพบ ที่อาจนำไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่

 

ในไทย: 

 

ถ้าเริ่มจากในไทยก่อน อันดับแรกๆ ที่ผมคิดว่าสำคัญคือ การค้นพบแหล่งถลุงเหล็กที่ใหญ่ที่สุดและเก่าที่สุดในภาคเหนือที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ โดยมีนักโบราณคดีคนใต้นาม ยอดดนัย สุขเกษม เป็นผู้บุกป่าฝ่าดงไปสำรวจพบร่วมกับประชาชนในเมืองลี้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ ผลจากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ พบว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีอายุมากถึง 2,500-2,700 ปีมาแล้ว หรือก่อนหน้าการตั้งรัฐหริภุญไชยถึงพันปี นับว่าเก่าแก่มาก จนต้องทำให้มาพิจารณาถึงทฤษฎีการรับเทคโนโลยีการถลุงเหล็กว่ามาจากจีน เวียดนาม หรือที่อื่นกันเลยทีเดียว 

 

 

พิธีกรรมเลี้ยงผีบ่อเหล็กของชาวลัวะ ที่มีขึ้นเพื่อบูชาและขอพรผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์​ที่รักษาแหล่งทรัพยากรแร่เหล็ก ให้ได้พบสายแร่เหล็กที่มีคุณภาพดี สามารถนำมาถลุงเหล็กออกมาได้ในปริมาณมาก

Photo: Archaeology 7 Chiang Mai / Facebook

 

นอกจากนี้แล้ว ยอดดนัยยังได้ทำการสำรวจแหล่งแร่เหล็ก หรือแหล่งถลุงเหล็กอีกหลายแห่งในภาคเหนือ เรียกได้ว่าเป็น ‘Iron Man’ ตัวจริงกันเลยทีเดียว พื้นที่ที่ผมว่าน่าสนใจที่สำรวจพบกิจกรรมการถลุงโลหะสมัยโบราณอีกคือ ในเขตบ้านแม่โถ​ ตำบลบ่อสลี​ อำเภอฮอด​ จังหวัดเชียงใหม่​ จากหลักฐานที่ปรากฏ​ สันนิษฐานว่าชุมชนถลุงเหล็กโบราณแห่งนี้​เกิดขึ้นระหว่างราว​ 300-450​ ปีมาแล้ว หรือตกในสมัยล้านนา  จุดที่น่าสนใจคือ พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ปัจจุบันและย้อนกลับไปในอดีตเป็นพื้นที่ของชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่เรียกว่า ‘ลัวะ’ (หรือ ละเวือะ) นี่จึงเท่ากับเป็นการเปิดหน้าใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนากันเลยทีเดียว เพราะเดิมเรามักรู้จักประวัติศาสตร์ล้านนาในเฉพาะส่วนของคนเมืองเท่านั้น

 

การขุดค้นอีกแห่งที่นับว่าสำคัญมากในไทยคือ การขุดค้นโบราณสถานวัดพระงามที่นำไปสู่การค้นพบจารึกหลักใหม่สมัยทวารวดีเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นโครงการของสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ริมทางรถไฟกลางเมืองนครปฐม เป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ ดูคล้ายภูเขาย่อมๆ ลูกหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะพบจารึก ได้มีการขุดค้นพบประติมากรรมดินเผารูปอสูร ซึ่งแสดงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแห่งราชวงศ์วากาตะกะผสมผสานกับศิลปะแบบพื้นเมือง 

 

Photo: สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร / Facebook

 

หลังจากนั้นไม่นานในวันที่ 2 ตุลาคม ได้มีการขุดค้นพบศิลาจารึกหลักหนึ่ง ในเฟซบุ๊กของสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ระบุว่า จารึกหลักนี้มีตัวอักษรเพียงด้านเดียว จำนวน 6 แถว เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า ‘ทวารวตีวิภูติ’ เป็นเบื้องต้น

 

สิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีและนักภาษาโบราณตื่นเต้นกันมากกับจารึกหลักนี้ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับข้อถกเถียงว่า ศูนย์กลางของรัฐทวารวดีนั้นอยู่ที่ไหน ซึ่งการค้นพบจารึกหลักนี้ที่มีคำว่า ‘ทวารวดี’ อาจเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า นครปฐมเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญของรัฐทวารวดีในยุคต้นก็เป็นได้ ดังนั้น โบราณสถานวัดพระงามจึงสำคัญมากๆ ชนิดที่ควรต้องเร่งอนุรักษ์และพัฒนากัน

 

Photo: กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร / Facebook

 

ข่าวสุดท้ายในช่วงปี 2019 คือ กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้ขุดซากเรืออินเดียโบราณ อายุ 2,100 ปี ที่ปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง ซากเรือนี้ค้นพบมาแล้วตั้งแต่ปี 2559 โดยชาวประมงละแวกดังกล่าว จากการตรวจสอบของกรมศิลปากรพบว่า ซากเรือนี้ยาวประมาณ 19 เมตร กว้าง 4.50 เมตร ไม้ที่ใช้ทำเรือมีความหนา 10-15 เซนติเมตร เทคนิคการต่อเรือเป็นแบบอินเดียโบราณคือ การยึดแผ่นไม้ด้วยเดือยแล้วตอกลูกประสักไม้ยึดแผ่นไม้กับเดือยเข้าไว้ด้วยกัน โชคร้ายที่ซากเรือนี้ได้มีชาวบ้านมาขุดหาสิ่งของมีค่าต่างๆ ไป ซึ่งชาวบ้านระบุว่าได้ภาชนะดินเผา ลูกปัด เศษทอง และเหรียญโรมันไป

 

Photo: กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร / Facebook

 

Photo: กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร / Facebook

 

ความสำคัญของการค้นพบซากเรือดังกล่าวนี้มี 3 ประการคือ 

 

  1. อย่างน้อยเมื่อ 2,100 ปีมาแล้ว ภาคใต้หรือสุวรรณภูมิได้ติดต่อทำการค้ากับอินเดียตามเส้นทางการค้าสายไหมทางทะเล 
  2. การรับเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อการผลิตลูกปัดเข้ามายังภูมิภาคแห่งนี้  
  3. การเข้ามาของอินเดียนี้คงเข้ามาพร้อมกับความเชื่อทางศาสนาพุทธในยุคก่อนการสร้างพระพุทธรูป เพราะที่แหล่งโบราณคดีไม่ห่างกันคือ ภูเขาทอง มีการค้นพบลูกปัดตรีรัตนะ (สัญลักษณ์มงคลในพระพุทธศาสนา) และอาจรวมถึงการรับความเชื่อเรื่องการปกครองโดยกษัตริย์เข้ามาด้วย ซึ่งส่งผลทำให้เกิดรัฐขึ้นในภาคใต้ และดินแดนต่างๆ 

 

จากที่กล่าวมานี้ เท่าที่สังเกต ความก้าวหน้าทางด้านโบราณคดีในไทยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสนใจเชิงปัจเจกหรือความหลงใหลส่วนบุคคลของนักโบราณคดี หรือการค้นพบหลักฐานโดยบังเอิญแล้วนักโบราณคดีคนนั้นๆ นำไปศึกษาต่อยอด หรืออีกทางก็คือเป็นงานในเชิงพันธกิจตามการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี ในขณะที่โครงการวิจัยระยะยาวและเชิงลึกยังมีค่อนข้างน้อย ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากเงื่อนไขหลายเหตุผล เช่น การโยกย้ายราชการประจำปี ขาดแคลนแหล่งทุนวิจัย หรือขาดการวางธีมการวิจัยไว้ในแต่ละปี เป็นต้น แต่เอาเป็นว่าเมื่อเทียบจำนวนบุคลากรกับภารกิจแล้ว ก็นับว่านักโบราณคดีในกรมศิลปากรนั้นยังมีจำนวนน้อยเกินไป 

 

ในต่างประเทศ: 

 

Photo: Ratno Sardi / Griffith University / AFP / Getty Images

 

ที่ใกล้ตัวเรากันหน่อยก็คือการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 44,000 ปีที่เกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ โดย อดัม บรูมม์ นักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ซึ่งถือเป็นฉากการล่าสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ภาพดังกล่าวมีความยาว 4.5 เมตร วาดเป็นภาพของนายพรานกำลังล่าสัตว์ ได้แก่ หมูและควาย ภาพพวกนี้คงวาดขึ้นเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ของพิธีกรรมก่อนการออกไปล่าสัตว์ 

 

สาเหตุที่นักโบราณคดีทั่วโลกตื่นเต้นกับอายุของภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์ที่เกาะสุลาเวสีนี้ เพราะโดยปกติแล้วมีทฤษฎี (ซึ่งกลายเป็นความเชื่อไปแล้ว) ว่าภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ในแอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชียนั้นมีอายุน้อยกว่ายุโรป นั่นหมายความว่าจะต้องเขียนเรื่องพัฒนาการของศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของโลกกันใหม่ 

 

Photo: www.cambridge.org

 

ใกล้ขึ้นมาอีกนิด ข่าวการค้นพบเมืองโบราณบนเขาพนมกุเลนถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เมืองบนภูเขานี้ตั้งอยู่บนภูเขาที่มีชื่อว่า ‘มเหนทรบรรพต’ หรือรู้จักกันในปัจจุบันว่าพนมกุเลน สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แห่งกัมพูชา (พ.ศ. 1345-1378) ความน่าสนใจของการค้นพบเมืองนี้อยู่ตรงที่การใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ที่เรียกว่า ‘ไลดาร์’ (LiDAR) สแกนหาเมืองที่ปกคลุมอยู่ใต้ผืนป่า ส่งผลทำให้เห็นแนวถนน คูเมือง คันคลอง อ่างเก็บน้ำ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่วางแผนผังอย่างเป็นระบบในตารางกริด ขนาดไม่น้อยกว่า 50 ตารางกิโลเมตร การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการโดยทีมนักโบราณคดีของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (EFEO) นำโดย ดร.เดเมียน อีวานส์ 

 

Photo: www.cambridge.org

 

การค้นพบเมืองโบราณบนเขาพนมกุเลนนี้นับว่าสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะช่วยทำให้ตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรเขมร และสถาปนาลัทธิเทวราชาขึ้นบนมเหนทรบรรพตเพื่อประกาศความเป็นราชาแห่งภูเขานั้นกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา และสะท้อนด้วยว่าเมื่อราว พ.ศ.1350 อาณาจักรเขมรได้พัฒนาระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นแล้ว 

 

 

อาจกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนี้เองที่นำไปสู่การค้นพบที่สำคัญมากมายในปีนี้ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่า มาซาโตะ ซากาอิ นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบภาพลายเส้นนาซกาที่ประเทศเปรูเพิ่มเติมมากถึง 143 ภาพ ด้วยการใช้ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ค้นหา ช่วยประมวลผลจากภาพถ่ายทางอากาศ และสร้างภาพที่สังเกตได้ยากขึ้นมา ทำให้นักโบราณคดีเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมนี้มากขึ้น

 

Photo: University of Copenhagen / Theis Jensen / AFP

 

ข่าวด้านโบราณคดีที่ออกจะเหลือเชื่อสักหน่อยส่งท้ายปีนี้คือ การถอดรหัสดีเอ็นเอจากหมากฝรั่ง อายุ 5,700 ปี นำโดย ฮันเนส ชโรเดอร์ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ซึ่งได้ทำการสกัดดีเอ็นเอจากยางไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นหมากฝรั่ง ซึ่งพบว่าเจ้าของหมากฝรั่งชิ้นนี้เป็นผู้หญิงผิวคล้ำ ผมสีเข้ม และตาสีฟ้า 

 

การค้นพบดังกล่าวนี้นับว่าสำคัญในแง่ที่ทำให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายของประชากรในยุโรป เพราะผลจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอยังทำให้พบว่า เจ้าของหมากฝรั่งนี้เป็นกลุ่มคนในสังคมล่าสัตว์หาของป่าจากภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ไม่ได้เป็นคนที่อาศัยอยู่แถบตอนกลางของสแกนดิเนเวีย (จุดที่พบหมากฝรั่งนี้อยู่บนเกาะของเดนมาร์ก) 

 

ความจริงยังมีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ อีกมากมาย เช่น การค้นพบกัญชาในพิธีศพที่มีอายุมากถึง 2,500 ปีในแถบเทือกเขาทางตะวันตกของจีน, การค้นพบกะโหลกของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ที่กรีซที่มีอายุมากถึง 210,000 ปี, ส่วนในอียิปต์ก็ค้นพบโลงศพของนักบวช มัมมี่สัตว์ และพื้นที่เวิร์กช็อปของคนงานที่สร้างสุสานในหุบเขากษัตริย์ เป็นต้น เรียกได้ว่าปีนี้มีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ที่สำคัญทั่วโลกไม่น้อยกว่าร้อยแห่งเลยทีเดียว 

 

Next: 2020 ปีแห่งการค้นพบหลักฐานใหม่ที่เก่าแก่ขึ้นด้วยเทคโนโลยี และคำถามถึงความยั่งยืนทางด้านโบราณคดี 

เป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยากทีเดียว แต่จากแนวโน้มของการค้นพบสิ่งต่างๆ ในปี 2019 นี้ ในกรณีของไทยเชื่อได้ว่า บราณคดีโลหกรรม (Archaeometallurgy) ในภาคเหนือจะก้าวหน้าขึ้น อันเป็นผลมาจากการสำรวจ ขุดค้น และการส่งตัวอย่างถ่านที่พบไปกำหนดอายุ ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถเรียงลำดับพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านโลหกรรมในภาคเหนือได้ชัดเจนขึ้น 

เรื่องการค้นคว้าโลหกรรมในภาคเหนือนี้ไม่ได้สำคัญเฉพาะในแง่ที่ผมว่ามา แต่ยังรวมถึงการนำข้อมูลที่ได้ไปวิพากษ์และทบทวนงานโบราณคดีโลหกรรมที่ผ่านมาที่มักให้ความสำคัญในเขตภาคกลางและภาคอีสานอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ความรู้นั้นถูกสร้างขึ้นโดยนักโบราณคดีชาวอเมริกันนับแต่สมัยสงครามเย็น 

 

งานโบราณคดีที่ว่าด้วยการติดต่อกับอินเดียในยุคต้นๆ ในเขตภาคใต้และภาคกลางจะขยายตัวมากขึ้น อันเป็นผลมาจากในช่วงหลายปีมานี้มีการค้นพบเรือโบราณ ลูกปัด จารึก และอื่นๆ กันมากขึ้น จนทำให้ต้องมาพิจารณาเรื่องการค้าและการติดต่อของคนในภูมิภาคนี้กับอินเดีย 

 

การพัฒนาของสังคมเมืองที่เกิดขึ้นทั่วในประเทศไทยนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน ดังนั้น ผมเชื่อว่าในปีหน้าและอีกหลายปีถัดไป งานโบราณคดีเมือง (Urban archaeology) จะทวีความสำคัญมากขึ้น เพื่อใช้ในการกู้ภัยแหล่งโบราณคดี รวมถึงการพัฒนาพื้นที่บางแห่งให้กลายเป็นแหล่งความรู้ของท้องที่หรือชุมชน แต่ปัญหาที่อาจตามมา ซึ่งคงเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีมากมายในไทยคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน  

 

 

 

นอกจากนี้จากการประกาศให้เมืองศรีเทพและพนมรุ้งอยู่ในรายชื่อที่มีแนวโน้มจะได้ขึ้นเป็นมรดกโลก (Tentative List) นั้น ก็จะทำให้เกิดการวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณทั้งสองแห่งกันเพิ่มขึ้น แต่ระดับของการศึกษานั้นจะเป็นแบบใด จะเป็นสหวิทยาการมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป ในมุมมองของผม เมืองศรีเทพนั้นต้องเน้นการศึกษาอิทธิพลของศาสนาพุทธมหายานในเชิงลึกและเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคทั้งกับจีน ทิเบต และอินโดนีเซียให้มากขึ้น ส่วนพนมรุ้งต้องเน้นเรื่องความสัมพันธ์ทางเครือญาติของกลุ่มเมืองในเขตเทือกเขาพนมดงรักกับเมืองในเขตทะเลสาบเขมร การเชื่อมโยงระดับภูมิภาคนี้จะเป็นหนทางที่ช่วยย้ำความสำคัญของเมืองโบราณทั้งสองแห่งว่าเป็นสมบัติของมนุษยชาติอย่างน้อยก็ในเอเชีย

 

งานโบราณคดีนั้นไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่เป็นเรื่องของการพัฒนาความรู้ทางด้านแนวคิดและทฤษฎีอีกด้วย ในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วยการเติบโตของโซเชียลมีเดีย และการรับความรู้หลังสมัยใหม่ ทำให้มีนักโบราณคดีจำนวนหนึ่งที่หันมาสนใจแนวคิดทฤษฎีเชิงวิพากษ์ ทั้งนี้เพื่อเข้าใจถึงการก่อร่างความรู้ของโบราณคดี อำนาจของความรู้ทางโบราณคดีที่มีต่อสังคมการเมืองในปัจจุบัน หรือชาตินิยมในงานโบราณคดี เป็นต้น นั่นหมายความว่าจะมีงานศึกษาด้านโบราณคดีที่ไม่ได้เป็นเรื่องการศึกษาเพื่อเข้าใจอดีตเท่านั้น แต่ยังเข้าใจปัจจุบันอีกด้วย เช่น บทบาทของโบราณสถานหรืออุทยานประวัติศาสตร์ที่มีต่อการสร้างชาติ เป็นต้น สรุปสั้นๆ ก็คือ จะมีนักโบราณคดีที่สนใจแนวคิดโบราณคดีหลังสมัยใหม่กันมากขึ้น จนนำไปสู่การทบทวนความรู้ที่ผ่านมาในอีกหลายปีข้างหน้า

 

Photo: Grand Egyptian Museum / Facebook

 

ส่วนในต่างประเทศนั้น เชื่อได้เลยว่าทั้งนักโบราณคดีและผู้คนทั่วโลกจะมาสนใจอารยธรรมอียิปต์กันมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเปิด Grand Egyptian Museum ในปีหน้า ซึ่งคงมีโบราณวัตถุแปลกตาและล้ำค่ามาจัดแสดงมากมาย จนกระตุ้นให้เกิดการศึกษาในเชิงลึกกันอีกครั้ง และอาจมีภาพยนตร์แนวอียิปต์ออกมาเช่นกัน 

 

 

ด้วยการเรียกร้องและทวงคืนโบราณวัตถุที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศจะเริ่มคิดและทบทวนเรื่องการคืนของที่ซื้อมา ได้มา หรือขโมยมาในช่วงสงครามโลก หรือในช่วงอาณานิคมคืนให้กับประเทศต่างๆ กันมากขึ้น มีผู้เสนอว่าการคืนโบราณวัตถุนี้อาจเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องปรินต์แบบสามมิติ (3D Printing) ที่ก้าวหน้ามากและสามารถจำลองวัตถุได้เหมือนจริง ดังนั้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องเอาของจริงมาตั้งอีกในอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่านี่จะเป็นความฝันหรือไม่นะครับ เพราะพิพิธภัณฑ์บางที่ก็อาจจะไม่ต้องการคืนก็ได้ 

 

ในส่วนของเพื่อนบ้านนั้น งานโบราณคดีจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะมีนักโบราณคดีต่างชาติเช่น อเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เข้าไปศึกษาวิจัยและให้เงินทุนนักโบราณคดีท้องถิ่นไปเรียนต่อ ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาในอนาคต ดังนั้นปีหน้าองค์ความรู้เกี่ยวกับทุ่งไหหินน่าจะพัฒนาขึ้นอีก เช่นเดียวกับงานโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในพม่า โดยเฉพาะในเขตพุกามจะเติบโตขึ้น และขยายไปถึงในเขตชนกลุ่มน้อย เช่น ในเขตรัฐกะเหรี่ยง เป็นต้น ส่วนในกัมพูชาจะมีการวิจัยและขุดค้นในเขตเทือกเขาพนมกุเลนและเมืองละแวกกันมากขึ้น ด้วยเป็นเพราะต้องการเข้าใจเรื่องการกำเนิดเมืองพระนคร และยุคสมัยหลังเมืองพระนครที่ไม่ได้รับความสนใจมาช้านาน สุดท้ายในเขตอินโดนีเซียและคาบสมุทรมลายูจะมีนักโบราณคดีสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นทางการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กันมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการค้นพบภาพเขียนสีอายุ 4 หมื่นปีล่าสุด 

 

โดยสรุปก็คือ งานโบราณคดีในปี 2020 จะมีการค้นหาหลักฐานใหม่ที่เก่าแก่ขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น การพัฒนาเทคนิคการกำหนดอายุ และในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าเราอาจจะต้องมาเริ่มต้นทำความเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงประวัติศาสตร์กันใหม่ รวมถึงแนวโน้มของการตระหนักรู้ต่อปัญหาการนำโบราณคดีมารับใช้การเมืองในปัจจุบันอีกด้วย 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X