×

มอง ‘ค้าปลีกไทย 2020’ ผ่าน 4 ความหวัง 4 ความกังวล

25.12.2019
  • LOADING...
ค้าปลีกไทย 2020

ในช่วงที่ค้าปลีกชะลอตัว คำถามคือ ‘ยังพอมีความหวังกับเรื่องอะไรได้บ้าง’ ภายหลังมีการประเมินว่าอุตสาหกรรมค้าปลีก ปี 2562 น่าจะมีการเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2%

 

สำหรับในปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมองว่ายังมีอีก 4 เรื่องที่ยังพอมีความหวังหรือปัจจัยบวกในการขับเคลื่อนการบริโภคภาคค้าปลีกในปีหน้า ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อกังวลหรือปัจจัยลบที่อาจทำให้การบริโภคภาคค้าปลีกไม่เติบโตเท่าที่ควรอีก 4 ข้อกังวลเช่นกัน

 

4 ความหวัง หรือปัจจัยบวก

 

1. น่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นจากนโยบายการคลังออกมาเพิ่มอีก 

ที่ผ่านมานโยบายการคลังเน้น ‘บรรเทา’ ช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำในกลุ่มที่ยังมีกำลังจับจ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำที่ยังไม่ถูกลดการทำงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราว เช่น ที่รัฐดำเนินการไปแล้วในโครงการชิมช้อปใช้ และโครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย

 

2. เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563

ถ้าเป็นภาวะปกติ งบประมาณประจำปีจะเริ่มเดือนตุลาคม แต่สำหรับปีนี้ที่เพิ่งผ่านการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน และส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเดือนพฤศจิกายน คาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติราวเดือนมกราคม 2563 ซึ่งการเร่งรัดเบิกจ่ายน่าจะเริ่มเห็นผลราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจะถูกเร่งรัดใช้ให้หมดภายในเดือนกันยายน งบประมาณปี 2563 จึงเป็นงบประมาณที่จะถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้

 

3. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 

เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อ GDP อยู่ที่ 42% ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็เก็บภาษีมาใช้คืนหนี้ได้ตามนโยบายทางการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% หากปรับลดก็จะเป็นดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดที่เคยมีมา การลดดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

 

4. การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเติบโต 

จากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย พบว่าช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจน และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายหลัก คือเป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เบนทิศทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

 

4 ข้อกังวล หรือปัจจัยลบ

 

1. ผลกระทบจากการเลิกจ้างและลดการผลิต

ปัจจัยภายนอกประเทศทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่กระทบคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย หรือการถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

จากสถิติ อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกและอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการจ้างงานราว 2.5 ล้านคน หรือราว 40% ของการจ้างงานภาคการผลิตทั้งหมด ปรากฏการณ์การปิดหรือการลดกำลังการผลิต การลดกำลังคน การยกเลิกโอที จนถึงการเลิกจ้างงานมีให้เห็นเป็นรายวัน ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างน่าตระหนกตกใจ

 

2. ผลจากภัยแล้งปี 2562

คาดว่ากระทบผลผลิตและรายได้ทางการเกษตรลดลง 16% จากปี 2561 สำหรับปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารายได้ทางการเกษตรจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยประมาณ 0.5% 

 

3. ผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

การประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มวันละ 5-6 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 มีผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากยังต้องใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ การจ้างงานของภาคบริการโดยเฉพาะการจ้างงานในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง มีจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน

 

4. ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรอบนี้เป็นวงกว้างและเป็นเวลานาน

การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ ผลกระทบแตกต่างจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 อย่างสิ้นเชิง โดยวิกฤตปี 2540 มีผลกระทบหลักต่อผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ชนชั้นบน ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของประชากร และหนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเป็นหนี้ทางธุรกิจ ซึ่งการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับเข้าสู่โหมดเดิมใช้เวลาไม่นาน 

 

แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวในรอบนี้ (2556-2565) มีผลต่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของประชากร หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อเป็นสำคัญ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูกลับมา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X