×

PM2.5 – ขยะพลาสติก – 3 สารเคมีเกษตร: ส่องปัญหาตกค้างด้านสิ่งแวดล้อม 2019 พร้อมมองแนวโน้มในปี 2020

26.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 MINS. READ
  • ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือหนึ่งในปัญหาที่วิกฤตและสร้างผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุดจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหลายจังหวัดในเชียงใหม่ พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานติดต่อกันนานนับเดือน
  • มลพิษจากขยะพลาสติกเป็นอีกปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับประเทศไทยไม่น้อย หลังพบปริมาณขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ล่าสุดจึงเกิดมาตรการเร่งด่วนจากภาครัฐ ซึ่งจับมือกับองค์กรธุรกิจกว่า 75 แห่ง ร่วมใจกันเลิกจ่ายถุงหูหิ้ว (ถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง) ท่ามกลางความสงสัยว่าเพียงพอไหมที่จะช่วยให้ภาพรวมปริมาณขยะลดลง
  • ปัญหาการต่อสู้ระหว่างฝ่ายสนับสนุนการแบน 3 สารเคมีและฝ่ายต่อต้านการแบนกำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 หลังจากรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติในที่ประชุมถึง 3 หน จนหลายฝ่ายจับตามองว่ากว่าจะถึงเดดไลน์แบนครั้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ระหว่างทางนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่

ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่คนไทยหันมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มจากช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 กลายเป็นวิกฤตที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่

 

เช่นเดียวกับปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงผ่านงานวิจัยต่างๆ รวมถึงตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันปริมาณขยะพลาสติกสะสมอยู่ในประเทศไทยเยอะขนาดไหน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปจนถึงสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลจำนวนไม่น้อย

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมการเกษตร นั่นก็คือการแบน 3 สารเคมีการเกษตร ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะมีผลกระทบเป็นภาพรวมต่ออุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ หลังจากล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ข้อสรุปและเงื่อนไขใหม่ว่าการแบน 3 สารเคมีดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกลางปี 2563 

 

 

ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นวาระแห่งชาติ

เรื่องแรกที่สร้างผลกระทบหนักที่สุดแก่คนไทยในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมคงหนีไม่พ้นประเด็นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมา นับเฉพาะช่วงพฤศจิกายน 2561 ลากมาจนถึงเดือนเมษายน 2562 มีการตรวจพบปริมาณฝุ่นในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกินมาตรฐานติดต่อกันอย่างน่าตกใจ 

 

 

ยกตัวอย่าง หนึ่งในพื้นที่ประสบภาวะค่าฝุ่นเกินมาตรฐานมากที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็คือ เขตริมถนนพระรามที่ 2 โดยพบว่ามีปริมาณ PM2.5 สูงสุดติดต่อกันหลายวัน และอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 

 

 

ไม่ใช่แค่เขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่ปัญหาฝุ่นควันยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนืออีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยพบปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 503 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึงขนาดที่เว็บไซต์ AirVisual จัดให้เชียงใหม่เป็นอันดับ 1 ของเมืองที่มีค่าฝุ่นเยอะที่สุดในโลกในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมใหญ่อย่างการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนดังกล่าว และสร้างปัญหาแก่ประชาชนที่ต้องเดินทางไปใช้สิทธิใช้เสียงไม่น้อย

 

 

กางแผน 3 มาตรการจากภาครัฐ หนึ่งในกลยุทธ์ลด PM2.5

จากปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาชนถึงหน่วยงานรัฐให้มีการจัดการฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยตรงอย่างกรมควบคุมมลพิษ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมี 3 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

 

มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

สำหรับมาตรการนี้มุ่งเน้นการบริหารจัดการและควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดในเชิงพื้นที่ โดยการกําหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตของสถานการณ์ รวมถึงการดําเนินงานระยะเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงวิกฤตในพื้นที่ที่มีปัญหาและพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่

  • พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ
  • พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • พื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันภาคใต้
  • พื้นที่ตําบลหน้าพระลาน อําเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี
  • พื้นที่จังหวัดอื่นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละออง เช่น ขอนแก่น, กาญจนบุรี 

 

มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)

สำหรับมาตรการนี้จะโฟกัสไปที่การมุ่งให้ความสําคัญในการควบคุมและลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิด รวมถึงลดจํานวนแหล่งกําเนิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนกฎหมายบังคับใช้และกําหนดใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567, ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อยภายในปี 2565, บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ยูโร 6/VI ภายในปี 2565, เพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์ รวมถึงการปรับลดอายุรถที่ต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปี เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสภาพรถยนต์ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจสภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฯลฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ฝุ่น PM2.5  มีปริมาณที่ลดลงกว่าเดิมในรูปแบบการควบคุมแบบระยะสั้นและระยะยาว 

 

มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ

เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกําหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ประกอบด้วยระยะสั้นและระยะยาว เช่น การพัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2567 

 

รวมถึงการมีเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการคุณภาพอากาศอย่างเป็นระบบ 

 

 

นอกจาก 3 มาตรการจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ที่เป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้กับฝุ่น PM2.5 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว กระทรวงพลังงานก็มีการออกมาตรการลดฝุ่น PM2.5 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

ระยะสั้น 2562-2563: สนับสนุนให้มีการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียของรถยนต์

ระยะกลาง 2563-2565: สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร

ระยะยาว 2565-2567: ปรับคุณภาพน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังงัดมาตรการพิเศษอย่างการประกาศว่ากรมควบคุมมลพิษจะเป็นหน่วยงานแรกในการร่วมแก้ไขปัญหา โดยการให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานร่วมใจงดใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานเพื่อลด PM2.5 ทุกวันพุธของสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในรอบปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าปัญหาฝุ่นยังคงเป็นปัญหาที่วิกฤตอย่างหนึ่งของประเทศไทย แต่ปัจจุบันเริ่มมีสถานการณ์ที่เบาบางลงหากเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภาวะค่าฝุ่นสูงมาจากสาเหตุหลักด้านภูมิอากาศ คือสภาพอากาศในช่วงเกือบปลายปีมีลักษณะปิดแบบโดมลดน้อยลง 

 

เนื่องจากสภาพอากาศช่วงหลังไม่เหมือนช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ที่พบว่าสภาพอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ (เปรียบดังเมืองใหญ่มีฝาชีความร้อนมาครอบอยู่) ส่งผลให้อากาศใกล้พื้นดินร้อนอบอ้าว ไม่มีลมพัด มองไม่เห็นก้อนเมฆในตอนกลางวัน ความเร็วลมบนที่สูงจะลดลงกว่าปกติ ทำให้มลพิษทางอากาศที่ลอยขึ้นไปจากภาคพื้นดินไม่สามารถกระจายตัวได้ เกิดเป็นการสะสมเป็นฝุ่นลอยตัวฟุ้งในอากาศเป็นจำนวนมาก จนทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ฝุ่นเกินมาตรฐานตามรายงานทั้ง Air4Thai หรือ AirVisual เองก็ตาม

 

“เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเรื่องของมลพิษทางอากาศจะไม่หายไปในเร็ววัน แต่ก็มองว่าจะไม่หนักไปกว่านี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการสร้างความตระหนักหรือพูดถึงเกี่ยวกับปัญหา PM2.5 เริ่มลดลง อาจจะเป็นเพราะหลายฝ่ายเริ่มเกิดความคุ้นชินในระดับที่เราอาจจะรู้สึกว่ามันจะคล้ายๆ กับเรื่องของรถติดที่เราเจอแล้วรู้สึกว่าต้องอยู่กับมันให้ชิน แน่นอนว่าผมไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น มันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตเราในระยะยาว”

 

 

ในปี 2563 ฝุ่น PM2.5 จะลดลงได้หรือไม่ 

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล บอกว่าหากมองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ประเมินว่าค่าฝุ่นในปี 2563 จะยังไม่ลดลง แต่ขณะเดียวกันคงไม่ถึงขั้นที่แย่กว่าปีที่ผ่านมา เพราะปริมาณฝุ่นก็ยังอยู่ทรงตัวอยู่ในระดับเดิมจาก 3 ปัจจัยหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย

 

1. ภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในหลายๆ ช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจราจร ปลุกคนไทยผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้น้ำมันรถดีเซล B10 หรือแม้กระทั่งรณรงค์และสอดส่องลดการเผาไหม้ในที่โล่ง ซึ่งประเด็นนี้ทำให้คาดการณ์ว่าจะช่วยให้ปริมาณฝุ่นลดลงได้จำนวนหนึ่ง

2. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทย ซึ่งพบว่ายังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่อย่างใด ในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นให้น้อยลง โดยส่วนนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝนยังคงเดิม

3. ลักษณะอากาศโดยรวมของปี 2563 จะไม่ย่ำแย่เท่ากับปี 2562 โดยคาดว่าจะไม่ส่งผลให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด 

 

 

สุดท้าย รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เน้นย้ำว่าหากต้องมองหาทางออก ในแง่กลยุทธ์นั้นมีหลากหลายทาง อย่างหน่วยงานภาครัฐก็เดินมาถูกทาง เช่น การทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามาตรการทั้งสามของภาครัฐเป็นแนวทางที่ดี เพียงแต่เห็นด้วยมากที่สุดกับสองมาตรการแรกคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เพราะเมื่อเรารู้ว่าโซนไหนคือแหล่งกำเนิดสำคัญ ที่มาของฝุ่นจะช่วยให้เราวิเคราะห์และจัดการปัญหาได้ดีขึ้น และการลดที่แหล่งกำเนิดคือสิ่งที่ดี เช่น การจราจร การเผาไหม้ หรือหมอกควันจากต่างแดน 

 

พร้อมมองว่าสิ่งที่จะทำให้ปัญหาของฝุ่น PM2.5 ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องเกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดที่มีต่อการดำรงชีวิต ซึ่งดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการแก้ปัญหากันที่ปลายทาง

 

มลพิษจากขยะพลาสติก ปัญหาหนักใจของคนไทยทั้งชาติ

อีกหนึ่งปัญหาหนักใจของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพียงแต่ถูกมองอย่างให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงปี 2562 คือกรณีของขยะพลาสติกที่เริ่มพบปริมาณมากขึ้นในประเทศไทย 

 

สำหรับสถานการณ์ขยะพลาสติกชุดล่าสุดตามรายงานโดยกรีนพีซ เรื่อง ‘ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ แสดงให้เห็นว่าหากเทียบกันในระดับอาเซียนแล้ว ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2559 ที่มีจำนวน 69,487 ตัน ส่วนในปี 2561-2562 กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 481,381 ตัน อีกทั้งยังติดอันดับที่ 2 จากกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่มีปริมาณขยะสูงที่สุด รองจากอันดับ 1 ของอาเซียนก็คือประเทศมาเลเซียที่มีปริมาณขยะที่ 872,797 ตัน

 

 

คำถามต่อมาหลังจากเห็นตัวเลขปริมาณขยะมากมายเช่นนี้คือขยะพลาสติกเหล่านี้ไปอยู่ไหนบ้างในประเทศไทย 

 

ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษต่อสถานการณ์ด้านการจัดขยะมูลฝอยของไทย พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั้งหมด 2,490 แห่งโดยประมาณ แยกเป็นสถานที่ที่มีการกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 466 แห่งเท่านั้น แบ่งเป็นกองทิ้งขยะและเผากลางแจ้ง 64% ฝังกลบ 35% และเตาเผา 1% ซึ่งสวนทางกับจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน เป็นเหตุให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยสะสมตกค้างจำนวนมาก และจากปริมาณขยะเหล่านั้นมี 10-15% ไหลลงสู่น่านน้ำทะเลไทย

 

 

ซึ่งปัญหาขยะที่ถูกพบในท้องทะเลได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิตของ ‘มาเรียม’ พะยูนที่เคยรอดจากการเกยตื้นจนกลายเป็นที่รักของคนไทยหลายคน แต่ทว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาภายหลังจากการเสียชีวิตของมาเรียมได้มีการผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต ปรากฏว่ามีชิ้นส่วนพลาสติกอุดตันในลำไส้จนทำให้ลำไส้อักเสบ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่งช็อกและจากไปในที่สุด 

 

 

การตายของมาเรียมกลายเป็นกระจกสะท้อนถึงภัยขยะพลาสติกที่แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันมีสัตว์ทะเลจำนวนมากกำลังถูกขยะพลาสติกที่เล็ดลอดลงสู่ท้องทะเลคุกคามอย่างหนัก และที่น่าตกใจกว่านั้น มีการรายงานว่าด้วยเรื่อง ‘สถานการณ์ขยะและพลาสติกในท้องทะเล’ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของโลก

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมไทยช่วงหลังเกิดโครงการผุดขึ้นมาจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาจัดแคมเปญแสดงพลังต่อต้านการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการลดจำนวนขยะพลาสติกในประเทศไทยให้น้อยลงมากที่สุด

 

 

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชนอย่างทีมฟุตบอล ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ที่ออกมาเปิดตัวเสื้อครบรอบ 10 ปีสโมสร บนความพิเศษที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงแคมเปญงดใช้ถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, แม็กซ์แวลู, แฟมิลี่มาร์ท และอื่นๆ ซึ่งงดให้บริการถุงพลาสติกกับลูกค้าทุกวันที่ 4 ของเดือน 

 

ขณะที่เซเว่น อีเลฟเว่น มีโครงการลดวันละถุง คุณทำได้ เชิญชวนให้คนปฏิเสธการรับถุงพลาสติกด้วยเงื่อนไขที่ว่า ทุกครั้งที่ลูกค้าปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจะนำเงินค่าถุง 20 สตางค์ไปสมทบทุนบริจาค 77 โรงพยาบาลทั่วไทย

 

 

ส่วนหน่วยงานจากรัฐบาลได้งัดโครงการต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งลดการใช้ถุงหิ้วพลาสติกที่ใช้สำหรับใส่ยา ซึ่งในเบื้องต้นมีการเปิดเผยจาก นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าสามารถลดปริมาณการใช้ถุงหิ้วพลาสติกในรั้วโรงพยาบาลได้ถึง 87% หรือคิดเป็น 344,043.2 กิโลกรัม อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินในการสั่งซื้อถุงหูหิ้วพลาสติกได้กว่า 24 ล้านบาท

 

ขณะที่มาตรการล่าสุดซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนไม่น้อยคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศจับมือธุรกิจกับภาครัฐและเอกชนประมาณ 75 องค์กร ร่วมลดละเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) ให้กับผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยความหวังที่ต้องการให้ปริมาณขยะจากพลาสติกลดลง 

 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ถึงประเด็นของการยกเลิกการจ่ายถุงพลาสติกให้ประชาชนที่เปรียบเสมือนการหักดิบ และสร้างผลกระทบให้ผู้คนหรือไม่ 

 

พิชามญชุ์ระบุว่า “ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นการหักดิบ เพราะเราได้มีการพูดคุยถึงประเด็นของพลาสติกในสังคมกันมาสักระยะแล้ว ซึ่งมากพอที่จะทำให้คนในสังคมเล็งเห็นว่ามลพิษพลาสติกอยู่ในทิศทางไหนและวิกฤตเพียงใด เรามองว่าการแบนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมแล้วที่จะให้ผู้บริโภคใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะช่วยปรับพฤติกรรมของผู้คนได้ไปในตัว และทำให้คนรู้สึกว่าตอนนี้เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป และการเลิกจ่ายถุงพลาสติกนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

 

เมื่อถามถึงประเด็นว่าการเลิกจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพียงพอที่จะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกภาพรวมลดลงหรือไม่ พิชามญชุ์บอกสั้นๆ ว่า “ยังเป็นไปไม่ได้”

 

จริงอยู่ที่ถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในประเภทของขยะพลาสติกที่ถูกพบในไทยมากกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี แต่ในขณะเดียวกันขยะพลาสติกนั้นถูกผลิตในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น แก้วพลาสติก หลอด เศษโฟม กล่องอาหาร หรือที่พบได้บ่อยอย่างขวดน้ำพลาสติก 

 

 

อีกทั้งการเลิกจ่ายถุงหูหิ้วที่เตรียมใช้อย่างเป็นทางการช่วงต้นปีหน้าเป็นเพียงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นเฉพาะองค์กรประเภทห้างร้านสรรพสินค้าเท่านั้น ทว่าตามแหล่งตลาดท้องถิ่นทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ร้านขายของชำทั่วประเทศ ซึ่งมีการประเมินว่ามีอยู่ 5-6 แสนร้านโดยประมาณก็ยังคงมีการใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกอยู่ดี ดังนั้นการแบนพลาสติกเพียงชนิดเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมขยะพลาสติกในปี 2563 หรือปีถัดๆ ไปลดลง

 

มหากาพย์ศึกแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร

การแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรอย่าง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2 ปีกับอีก 8 เดือนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าศึกการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร หากเปรียบเทียบเป็นภาพยนตร์ก็ใกล้ที่จะถึงตอนจบเต็มทีแล้ว

 

โดยสาเหตุที่เรื่องราวทุกอย่างดำเนินมาถึงจุดสำคัญในปี 2562 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเกิดขึ้นของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง และมีการก่อร่างสร้างตัวรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี มนัญญา ไทยเศรษฐ์ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่าต้องการที่จะแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรให้ได้ภายในปี 2562 พร้อมยกให้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญจากพรรคภูมิใจไทย

 

 

ย้อนความกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการแบน 3 สารเคมี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เร่งออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างจริงจังโดยให้เหตุผลว่าสารดังกล่าวเป็นสารที่มีอันตรายในแง่ของผู้บริโภคที่ต้องกินผักผลไม้จากการเกษตรที่ใช้สารเคมี รวมไปถึงต่อตัวผู้ใช้สารเองก็เสี่ยงอันตรายไปด้วย

 

ทว่าการแบนสารทั้ง 3 ชนิดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับฝ่ายสนับสนุนให้แบนแต่อย่างใด เนื่องจากมีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ออกมารวมตัว พร้อมแสดงความเห็นว่าการแบนสารดังกล่าวนั้นจะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะการใช้สารเคมีตัวใหม่มาทดแทนต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น แถมยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของผลผลิตลดลง

 

 

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ในมุมที่สวนกระแสว่าสาร 3 ชนิดนี้ยังไม่สมควรถูกแบน เนื่องจากสารทั้ง 3 ชนิดที่ถูกเสนอให้แบนมีประสิทธิภาพการใช้งานที่แตกต่างกัน 

 

เริ่มจากตัวแรก ‘คลอร์ไพริฟอส’ ถือเป็นยาฆ่าแมลง เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่มีไว้ใช้เพื่อกำจัดแมลง และจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหากพบสารตกค้างหรือเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งคลอร์ไพริฟอสเป็นสารที่สามารถแบนได้เลย เนื่องจากปัจจุบันมีสารทดแทนชนิดอื่นที่มีพิษต่ำกว่าคลอร์ไพริฟอส 

 

ส่วนอีก 2 ชนิดที่เป็นประเด็นคือ ‘พาราควอต’ และ ‘ไกลโฟเซต’ ที่มีไว้เพื่อใช้ฆ่าหญ้าหรือกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารตกค้างถึงผู้บริโภค เพราะไม่ได้มีสารตกค้างแบบเดียวกับยาฆ่าแมลง

 

พร้อมกำชับถึงหน่วยงานที่สนับสนุนให้การแบนเกิดขึ้นว่าหากต้องการที่จะแบนจริงๆ ควรมีข้อมูลประกอบจากหลายฝ่ายที่รอบด้าน และออกมาบอกกับผู้คนว่า 3 สารชนิดนี้ต่างกัน ยกตัวอย่าง คลอร์ไพริฟอสแบนได้เลย เพราะอันตรายจริงๆ ส่วนพาราควอต ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ขณะที่ไกลโฟเซตไม่มีความจำเป็นต้องแบน เพราะอุตสาหกรรมการเกษตรทั่วโลกก็มีการใช้กัน ซึ่งถ้าแยกเรื่องเหล่านี้ได้ เราก็จะพอมองออกว่าการแบนสารพิษไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับสารทั้งหมดก็ได้

 

 

ขณะที่ฟากฝั่งของทีมที่สนับสนุนการแบนเต็มสูบอย่าง มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ระบุสาเหตุที่ควรแบนสารทั้ง 3 ชนิดผ่านรายการ THE STANDARD Daily ว่าการแบนสารเคมีการเกษตรดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศเข้าสู่การเป็นเกษตรปลอดภัย 

 

“คำว่าเกษตรปลอดภัยไม่ใช่คำว่ากินแล้ว มีสารเคมีตกค้างในฐานะที่กินได้ เราต้องการเปิดเผยให้ผู้บริโภครู้ว่าคำว่าปลอดภัยของคุณไม่ใช่ปลอดภัยเพียงเพราะคำว่าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก หรือปลอดภัยโดยที่ยังมีสารอยู่ แต่พอรับได้ แต่ถามหน่อยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตคนคนหนึ่งรับสารเหล่านั้นได้ขนาดไหน เราจึงอยากให้ทุกคนรู้ว่าในวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับการเกษตรของไทย มันเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่คุณกำลังบริโภค”

 

ทั้งนี้เมื่อถูกถามว่าในปัจจุบันมีสารเคมีการเกษตรมากกว่า 3 ชนิดที่พบว่าอันตรายหรือสร้างสารตกค้างในผลผลิตไม่แพ้กัน และส่อเค้าโครงว่าอาจมีชะตากรรมถูกแบนอย่าง 3 ชนิดข้างต้นหรือไม่ 

 

มนัญญากล่าวว่า “แน่นอน ไม่ใช่แค่สาร 3 ชนิดที่ถูกพูดถึง แต่ยังมีสารอีกกว่า 200-300 ชนิดเข้ามาในไทยเกือบ 5,000 ตัน ถูกนำเข้าจากอีกกว่า 70 บริษัท และสารทุกอย่างก็มีฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป เพียงแต่ในเวลานี้ในมุมของชาวบ้านอาจจะมองแค่ว่าสาร 3 ตัวให้ผลลัพธ์ที่ดี แต่อย่าลืมว่าสารเคมีเหล่านี้ยิ่งใช้เท่าไร พืชผักก็จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น ลองสังเกตดูนะว่าทุกวันนี้เรามีแมลงแปลกๆ มากขึ้น พื้นดินก็ยิ่งสูญเสีย ต้นไม้ใกล้เคียงก็อ่อนแอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามองว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคปลอดภัย ตัวเกษตรกรก็ปลอดภัย เราต้องมองที่มุมนี้ แล้วเราจะเดินหน้าไปด้วยกันได้”

 

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดปี 2562 นี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติในที่ประชุมเกี่ยวกับการแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดถึง 3 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 14 กุมภาพันธ์: คณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง สนับสนุนให้มีการใช้สารพาราควอต ส่วนที่เหลืออีก 5 เสียงงดออกเสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามมติเดิมที่ระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 22 ตุลาคม: คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติที่ประชุมโดยมีความเห็นให้แบน 3 สารเคมีทางการเกษตรภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 3 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562: คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนแบน 2 สารเคมี ประกอบด้วยพาราควอต คลอร์ไพริฟอส จากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ขณะที่ไกลโฟเซตไม่ถูกแบน แต่ถูกควบคุมการใช้แทน

 

ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ผลการลงมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งล่าสุดมีคำสั่งให้เลื่อนแบน 2 จาก 3 สารเคมีทางการเกษตรอย่างพาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ขยับออกไปอีก 6 เดือนนั้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายมองว่าปัจจุบันในไทยยังคงมีสารอยู่ในสต๊อกจำนวนกว่า 23,000 ตัน​ จึงมีการขยายเวลาออกไป พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการหาสารทดแทน รวมถึงจัดการระบายสารให้เสร็จสิ้นในกรอบวันดังกล่าว 

 

 

ทำให้ตอนนี้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนการแบนและต่อต้านยังคงต้องเฝ้าจับตาดูสถานการณ์กันต่อไปอย่างน้อยๆ ก็เป็นเวลาอีก 6 เดือนกว่าจะถึงวันนั้น ก่อนจะมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมาแบนสารทั้ง 2 ชนิดอย่างเป็นทางการ อาจจะมีจุดพลิกผันที่ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องเดินกลับเข้าห้องประชุมอีกครั้งหรือไม่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น มหากาพย์ศึกแบน 3 สารเคมีการเกษตร อาจเป็นปัญหาคาราคาซังสังคมไทยชนิดที่ยืดเยื้อ ไม่แพ้ประเด็นปัญหาขยะพลาสติกและฝุ่น PM2.5 อย่างแน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising