เศรษฐกิจคือปัญหาใหญ่ของประเทศที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 ต้องเร่งพิสูจน์ตัวเองให้ได้ เพราะเชื้อไฟที่จะล้มรัฐบาลได้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้องของผู้คน
ภายใต้ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ถดถอยสะท้อนจากตัวเลขและเสียงบ่น คำถามคือรัฐบาลมองโจทย์นี้อย่างไร และจะแก้ปัญหาแบบไหน
เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น THE STANDARD พูดคุยกับระดับเพลย์เมกเกอร์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เพื่อสะท้อนมุมมองในภาพใหญ่ของทั้งปีที่ผ่านมาและตลอดทั้งปีที่กำลังจะมาถึง
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงหลักคิดและวิธีการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า “โจทย์คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เพื่อหวังว่าในปีหน้า (2563) เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกคลี่คลาย ไทยจะได้อยู่ในจุดที่พร้อมในการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวอีกครั้ง”
ภายใต้หลักคิดนี้นำมาสู่ ‘ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวม 316,800 ล้านบาท’ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 งบประมาณ 33,000 ล้านบาท
ในที่นี้จะขอพูดถึงมาตรการที่โด่งดังที่สุดคือการแจกเงินเที่ยวคนละ 1,000 บาท 13 ล้านคน
มาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ เฟสแรก รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวคนละ 1,000 บาท หรือเป๋าตัง 1 และสิทธิ์ขอเงินคืน (Cash Back) หรือเป๋าตัง 2 อีกคนละ 4,500 บาท จำนวน 10 ล้านคน
ขณะที่ในเฟสที่ 2 เปิดให้ประชาชนสมัครใช้สิทธิ์เพิ่มอีก 3 ล้านคน พร้อมเพิ่มแรงจูงใจคนใช้เงินในเป๋าตัง 2 ในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท จะได้เงินคืน 20% เท่ากับว่าหากผู้ใช้สิทธิ์ในเป๋าตัง 2 เต็ม 50,000 บาท จะได้เงินคืนจากรัฐบาลถึง 8,500 บาท พร้อมทั้งมีการขยายอายุของมาตรการไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562
เฟส 3 ให้การลงทะเบียนเพิ่มอีก 2 ล้านคน ให้สิทธิ์ได้แต่เป๋าตัง 2 ที่ต้องเติมเงินซื้อสินค้า และขยายเวลาของมาตรการไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2563 และปลดล็อกให้ใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด
มาตรการนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่ามีลักษณะเหวี่ยงแห และสุดท้ายเงินไม่ได้กระจายไปถึงฐานรากตามความตั้งใจ ส่วนคนที่ไปลงทะเบียนส่วนใหญ่ก็ใช้เงินที่รัฐให้ฟรี 1,000 บาท มีสัดส่วนน้อยมากที่จะใช้เงินในกระเป๋าที่ 2
ขณะที่ภาพรวมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 3.1 แสนล้านบาทถือว่าสอบตก
เมื่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่การขยายตัวต่อปีของไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.3% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดของปีนี้ และต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557
หากเมื่อเทียบการเติบโตต่อไตรมาสแล้ว พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 โตจากไตรมาส 2 เพียง 0.1% เท่านั้น
และนั่นจึงเป็นที่มาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 จำนวน 3 โครงการ
โครงการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ‘โครงการบ้านดีมีดาวน์’ ที่รัฐจะสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาทต่อราย แต่ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากรจำนวน 100,000 ราย และผ่านเกณฑ์ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563
กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงส่ง (Momentum)ให้เศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ
ปี 2020 จับตาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 71 โครงการ 1.34 แสนล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยภาพรวมการก่อหนี้ใหม่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สินสาธารณะประจำปี 2563 ว่าจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ มูลค่ารวม 134,413.53 ล้านบาท จำนวน 71 โครงการ กระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น
กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ และอื่นๆ รวมวงเงิน 48,256 ล้านบาท
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวงเงิน 40,367 ล้านบาท และภาคใต้ มีวงเงิน 13,398 ล้านบาท ฯลฯ
หากจำแนกรายสาขาจะพบว่าสาขาคมนาคมมีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด 69% เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) จำนวน 31,654 ล้านบาท ในขณะที่สาขาพลังงานมีสัดส่วนรองลงมาคือ 21% เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 จำนวน 9,503 ล้านบาท ส่วนสาขาสาธารณูปการ 5% เช่น โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 4,057 ล้านบาท และสาขาอื่นๆ อีก 5% เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการ จำนวน 4,300 ล้านบาท
“นี่คือภาพการลงทุนของปีหน้าที่จะเกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนประเทศ สร้างความสมดุลทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้เราพึ่งโมเดลเดิมการส่งออกหนัก ส่วนเศรษฐกิจภายในของเราไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราจะมาเน้นเศรษฐกิจภายในหนัก เพราะถ้าภายในหนักหมายความว่าของส่งออกก็ดีขึ้นด้วย วันนี้เราส่งออกของต้นทางเยอะ เราต้องการของส่งออกที่มีมูลค่าสูง พูดง่ายๆ คือมีแบรนด์ของคนไทย” อุตตมกล่าว
อุตตมกล่าวด้วยว่า “ปี 2563 จะเป็นปีแห่งการลงทุน จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ และจะกระตุ้นการลงทุนจากนอกประเทศให้เข้ามาในไทย และถ้าเราทำเรื่องฐานรากจริงจังก็จะไปช่วยเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง”
นี่คือภาพรวมของปัจจุบันและอนาคตในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2
แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกถือว่าสอบตกไปแล้วหากวัดจากตัวเลข GDP ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นจากภาวะซบเซาได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้าเราคงได้มาตรวจข้อสอบกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์