ปี 2019 เป็นปีที่แฟนกีฬาชาวไทยได้หันกลับมามองศักยภาพและพัฒนาการของวงการกีฬามากพอสมควร จากฟุตบอลทีมชาติไทยถึงผลงานของทัพนักกีฬาไทยในศีกซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่ผ่านมา
เราได้รับบทเรียนอะไรบ้างตลอดปีที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่เราพัฒนาขึ้น และอะไรคือบทเรียนที่เราต้องเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่ปี 2020 ปีที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะโคจรกลับมาแข่งขันอีกครั้งในประเทศญี่ปุ่น
ฟุตบอลไทย ทีมชาติไทย ภายใต้กุนซือเอเชีย
ฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอน โดยปีนี้ได้หัวหน้าผู้ฝึกสอนเป็นชาวเอเชียครั้งแรกในประวัติศาสตร์
จาก มิโลวาน ราเยวัช สู่โค้ชโต่ย-ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย ถึงอากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริหารทีมชาติไทยอีกครั้ง
ครั้งนี้ นิชิโนะได้นำพาระบบ ระเบียบวินัย และการทำงานเป็นทีมมาสู่ฟุตบอลทีมชาติไทยที่มีชื่อเสียงด้านความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ จนทำให้เกิดมิติใหม่ของการเล่นขึ้น
โดยเกมแรกของฟุตบอลทีมชาติไทยภายใต้ยุคสมัยของนิชิโนะอย่างเป็นทางการเป็นการพบกับเวียดนาม ทีมในภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้การคุมทีมของ พัคฮังซอ กุนซือชาวเกาหลีใต้
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
และผลการแข่งขันด้วยการเสมอกันทั้ง 2 นัดที่เจอกันทั้งเหย้าและเยือนโดยไม่มีประตูเกิดขึ้นเลย ก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าเวียดนามพัฒนาขึ้นมาถึงระดับไหนของอาเซียน
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในเวลานี้ของฟุตบอลทีมชาติไทยภายใต้อากิระ นิชิโนะ คือระเบียบวินัย และความตรงต่อเวลา
หากเวียดนามจะน่าเกรงขามด้วยคือความแข็งแกร่งและความฟิต บวกกับสไตล์การทำทีมของพัคฮังซอที่พร้อมบู๊เพื่อชัยชนะ
ไทยภายใต้อากิระ นิชิโนะ ก็มีระเบียบวินัย และระบบที่มาประกอบร่างกับความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะไทยที่อยู่ในไทยลีก และก้าวข้ามไปเล่นในเจลีก ถือเป็นจุดแข็งใหม่ที่น่าสนใจพอสมควรสำหรับช้างศึก
การทำงานของสื่อภายใต้ยุคของนิชิโนะ ก็บ่งบอกได้ถึงความเป็นมืออาชีพของนิชิโนะพอสมควร โดยทุกครั้งที่มีการซ้อมทีมชาติไทย สื่อต้องเดินทางไปถึงสนามก่อนเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะนั่นคือเวลาที่ อากิระ นิชิโนะ จะเดินทางไปถึง เพื่อเตรียมความพร้อมทุกอย่างก่อนเริ่มซ้อม
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
ขณะที่การฝึกซ้อม นิชิโนะจะพูดคุยกับนักเตะทีละคน ส่วนการวอร์ม ซ้อมแท็กติกต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของโค้ชทีมชาติไทยที่นิชิโนะได้กระจายหน้าที่ไปให้ เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเพื่อให้เขามีเวลาได้ทำความรู้จักและเข้าใจรายละเอียดของนักเตะที่ละคน
ผลของการทำงานรูปแบบนี้ได้ก่อให้เกิดเกมรับที่เป็นระเบียบและละเอียดมากขึ้น จากที่ได้มีโอกาสติดตามทำข่าวฟุตบอลทีมชาติไทย
แต่ผลงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบุกไปพ่ายต่อมาเลเซียในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2022 โซนเอเชีย และการตกรอบแรกของฟุตบอลชายซีเกมส์เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นความล้มเหลวที่ยังมีเหตุผลกำกับไว้ว่า ‘เวลาเตรียมทีมน้อยเกินไป’
ปี 2020 ที่กำลังจะมาถึงนี้ นิชิโนะจะเจอกับบททดสอบครั้งใหญ่อีกครั้งด้วยการพาทีมชาติไทยลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการผ่านเข้ารอบสุดท้ายโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2020
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
ภาพถ่ายการปรับปรุงราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ระหว่างการเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในปี 2020
ในตอนนี้เหตุผลที่ว่านิชิโนะได้รับเวลาเตรียมทีมน้อยเกินไปกำลังมีน้ำหนักเบาลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับเวลาที่เดินไปข้างหน้า และรูปแบบการทำงานต่างๆ ต้องเริ่มแปลงเป็นผลการแข่งขันตั้งแต่ต้นปี
ไม่เช่นนั้นสุดท้ายแล้วคำกล่าวที่ว่า “เขาอาจไม่ใช่ผู้ที่เหมาะสมในการพาฟุตบอลทีมชาติไทยไปข้างหน้า” อาจจะดังขึ้นเรื่อยๆ จนกลบสิ่งต่างๆ ที่นิชิโนะได้เริ่มต้นทำมา
ธีราทร บุญมาทัน กับการเปิดประตูสู่โอกาสของแชมป์เจลีกคนแรกของไทย
ความสำเร็จของธีราทร บุญมาทัน ได้รับการยอมรับว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของนักกีฬาอาชีพไทย เมื่อเขาคว้ารางวัลนักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยมชายในงานประกาศรางวัลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันเสารที่ 7 ธันวาคม ธีราทร บุญมาทัน กลายเป็นนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้สัมผัสถ้วยแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่น เมื่อโยโกฮามา เอฟ มารินอส ต้นสังกัดของเขาสามารถเอาชนะเอฟซี โตเกียว ในเกมสุดท้ายไปได้ถึง 3-0 โดยตัวเขาเองยังได้ยิงประตูแรกอย่างสุดสวยในเกมนี้อีกด้วย
ด้วยฟอร์มการเล่นที่ธีราทร สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญของทีมในกราบซ้าย และการเล่นในตำแหน่งที่เป็นมากกว่าแค่แบ็กซ้ายที่เติมเกมรุก และถอยมาตั้งรับ ทำให้ธีราทรพิสูจน์ให้เจลีกได้เห็นศักยภาพของนักฟุตบอลไทย เหมือนกับที่ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ ได้ทำไว้อย่างโดดเด่นก่อนหน้านี้
การคว้าแชมป์ในครั้งนี้ของธีราทร จึงเป็นการเปิดประตูโอกาสให้กับนักฟุตบอลไทยในการก้าวขึ้นไปสู่การแข่งขันลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างนักฟุตบอลไทยในอนาคต
ภาพ: สลัก แก้วเชื้อ / THE STANDARD
เคลาส์ ออเกนธาเลอร์ ตำนานนักเตะทีมชาติเยอรมนีตะวันตกชุดแชมป์โลกปี 1990 เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ในบทความ ‘ในโลกฟุตบอล ไม่มีใครสนใจความสำเร็จในอดีต’ เคลาส์ ออเกนธาเลอร์ กับขาลงของอินทรีเหล็ก และสิ่งที่ฟุตบอลทีมชาติไทยเรียนรู้ได้จากทีมชาติเยอรมนี ถึงการพัฒนาแข้งเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของทีมชาติไทยไว้ว่า
“ผมเห็นเยาวชนไทยที่มีศักยภาพสูงจนถึงอายุ 15-16 ปี แต่พอโตจากนี้ไปแล้ว เด็กเหล่านี้กลับไม่ได้รับโอกาสไปค้าแข้งกับสโมสรในต่างแดน นั่นคือคำถามที่ต้องหาคำตอบ
“นักเตะไทยมีแพสชันในการเล่นฟุตบอลมาก อย่างช่วงพักระหว่างทัวร์นาเมนต์ที่สุพรรณบุรี มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 10 ปี ช่วงพักทุกครั้งเขาจะมาเล่นฟุตบอลต่ออยู่คนเดียว ผมจึงเข้าไปเล่นกับเขา และพบว่าถ้าเด็กคนนี้ได้รับการโค้ชที่ดีอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าเด็กคนนี้จะเป็นนักเตะอาชีพได้อย่างแน่นอน
“แน่นอน นักเตะทีมชาติไทยสามารถเล่นได้ในลีกรองของเยอรมนี บางคนก็สามารถเล่นได้ในลีกสูงสุด แต่หากพวกเขาไปเล่นก็จำเป็นต้องเล่นในทีมที่มีระบบที่ดี เพราะเมื่อพวกเขาเล่นในระบบที่ดี พวกเขาจะสามารถปรับตัวเข้ากับระบบได้ดี”
แต่คำพูดเหล่านั้นเกิดขึ้นก่อนที่ธีราทรจะสามารถคว้าแชมป์เจลีกมาครองได้เป็นคนแรก ซึ่งความสำเร็จนี้เองที่มีโอกาสเป็นประตูไปสู่ทางออกของระบบการพัฒนาเยาวชนไทยในอนาคต จากการที่เราได้เห็นพัฒนาการของแข้งช้างศึกที่ได้ไปสัมผัสการแข่งขันในเจลีกมาแล้ว
เมื่อความสำเร็จของนักเตะรุ่นพี่อาจนำพานักเตะเยาวชนไทยไปสู่ฟุตบอลเจลีกมากขึ้นและเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ในสนามฟุตบอล แต่การเรียนรู้สู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพมากขึ้นในช่วงเวลาที่ฟุตบอลลีกในประเทศไทยต่างก็ประสบปัญหาการปิดตัวลงของหลายสโมสรอาชีพในช่วงปีที่ผ่านมา
ไทยลีก แชมป์เปลี่ยนมือครั้งแรกในรอบ 10 ปี
ความสำเร็จของสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ไทยลีก ลีกสูงสุดของประเทศไทยได้เป็นสมัยแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรเมื่อปี 2009 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับวงการฟุตบอลไทย
เนื่องจากบทเรียนจากความสำเร็จของลีกกีฬาทั่วโลก โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (ยกเว้นฤดูกาลนี้ ที่ลิเวอร์พูลนอนมาจนไม่รู้จะพลาดแชมป์ได้ในรูปแบบใดอีกต่อไปแล้ว) คือการที่ลีกมีการแข่งขันที่เข้มข้น ดุเดือด และที่สำคัญคือ คาดเดาได้ยากว่าใครจะเป็นผู้ที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโพเดียมในตอนจบ
ซึ่งสำหรับสโมสรเชียงราย ต้องใช้คำว่า Do it in style หรือคว้าแชมป์อย่างน่าจดจำด้วยกฎ Head to Head ครั้งแรกในไทยลีกเกมสุดท้ายของฤดูกาล ทำให้ฟุตบอลไทยกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง บวกกับการที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดแชมป์เก่า และรองแชมป์ปีนี้ได้บอกไว้ก่อนเกมสุดท้ายว่า พวกเขาจะไม่ฉลองแชมป์ในเกมสุดท้ายที่เป็นเกมเยือน แต่จะกลับมาฉลองที่บุรีรัมย์ ยิ่งทำให้ชัยชนะครั้งนี้มีเรื่องให้พูดถึงมากกว่าแค่ผลการแข่งขันบนสกอร์บอร์ด
มิตติ ติยะไพรัช ประธานที่ปรึกษาสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ไว้ว่า ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ แต่ที่สำคัญคือนักเตะที่เกิดมาเพื่อเป็นสตาร์ พวกเขาคือนักเตะไทยหลายคนที่เปิดตัวได้อย่างโดดเด่นในลีกสูงสุดของประเทศไทย และก้าวขึ้นไปเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทย ทั้ง พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล กองกลางเจ้าของฉายา Thai Tank และ เอกนิษฐ์ ปัญญา ต่างก็เสริมสร้างมิติใหม่ให้กับช้างศึกได้อย่างน่าสนใจ
ซีเกมส์ 2019 เวียดนามพัฒนามากกว่าแค่ฟุตบอล ขณะที่ดาวรุ่งไทยแจ้งเกิดบนเวทีระดับอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง
ซีเกมส์ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เริ่มต้นด้วยเสียงวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของเจ้าภาพ ก่อนจะจบลงด้วยทัพนักกีฬาไทยได้อันดับที่ 3 ในตารางสรุปเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี
ซึ่งหากนับแยกเพียงแค่กีฬาสากล ที่ไทยตั้งเป้าหมายไว้หลายชนิดกีฬาในครั้งนี้ ไทยก็ยังจบอันดับที่ 3 เช่นกัน โดยชาติที่แทรกไทยขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 2 คือเวียดนาม ที่มาแรงตั้งแต่การคว้าแชมป์ฟุตบอลซีเกมส์ครั้งแรกในรอบ 60 ปี จนถึงการคว้ารองแชมป์เจ้าเหรียญทองทั้งในแบบรวมทุกชนิดกีฬาและแยกเฉพาะกีฬาสากล
เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้ารางวัลนักกีฬาหญิงยอดเยี่ยม สหพันธ์เทควันโดโลกประจำปี 2019 จากผลงาน 26 แชมป์ระดับนานาชาติตั้งแต่ปี 2014
ผลงานครั้งนี้ของไทยซึ่งคว้ามาทั้งหมด 92 เหรียญทอง (จากที่ตั้งเป้าไว้ 121 เหรียญทอง) 103 เหรียญเงิน และ 122 เหรียญทองแดง ถือว่าไม่น่าผิดหวังมากนัก จากชนิดกีฬาความหวังที่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย รวมถึงมีดาวรุ่งเกิดใหม่ในซีเกมส์ครั้งนี้จากหลายชนิดกีฬา
โดยสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ เป็นสมาคมกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลมากที่สุด จาก 12 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน 12 เหรียญทองแดง ตามด้วย สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย 7 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 6 เหรียญทองแดง และ สมาคมกีฬายูโดแห่งประเทศไทยฯ 7 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง
ขณะที่กีฬาเซิร์ฟและอีสปอร์ตก็สามารถประเดิมศึกซีเกมส์ได้อย่างงดงาม ด้วยผลงาน 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงินจากอีสปอร์ต และผลงาน 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ของทีมเซิร์ฟ
แน่นอนในการแข่งขันซีเกมส์ เจ้าภาพจะเป็นผู้ครองเจ้าเหรียญรางวัลอยู่บ่อยครั้งในอดีต แต่การที่ไทยหลุดอันดับ 2 เป็นครั้งแรกในรอบ 28 ก็เป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกได้ว่า ชาติในภูมิภาคอาเซียนสามารถเบียดขึ้นมาแย่งพื้นที่ความสำเร็จในระดับนี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามเป็นชาติที่มีพัฒนาการทางกีฬาที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
โดยภายในงานประกาศรางวัลนักกีฬาดีเด่นเนื่องในโอกาสวันกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมวงการกีฬาไทยในปี 2019 โดยเฉพาะจากผลงานในศึกซีเกมส์ที่ผ่านมา
“ในผลงานของซีเกมส์ เหรียญรวมเราได้ที่ 3 แต่ถ้าเราพิจารณาอีเวนต์ที่เป็นกีฬาสากล โดยเฉพาะอีเวนต์เดียวกับที่ใช้แข่งขันโอลิมปิก เราเป็นที่ 2 รองจากเวียดนาม” ก้องศักด เริ่มต้นด้วยผลงานของศึกซีเกมส์
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
“ซีเกมส์เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง แต่กีฬามีหลายมิติ ทั้งกีฬาอาชีพ กีฬาสมัครเล่น และ กีฬาเยาวชน ที่น่าสังเกตคือปีนี้เราสร้างเยาวชนขึ้นมาค่อนข้างเยอะ จากการแข่งขันในซีเกมส์ นักกีฬา 981 คนที่เราส่งไป เป็นนักกีฬาที่ไม่ได้ผ่านกีฬาซีเกมส์มาก่อนถึง 550 คน คิดเป็น 67% ถือว่านักกีฬาเหล่านี้ไปหาประสบการณ์ โดยเฉพาะระดับเยาวชน
“เช่น แบดมินตันเราก็เป็นแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย ในกีฬามวยเราก็สร้างนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งยิงธนู ยิงปืน เรามีนักกีฬาเยาวชนที่ไปแข่งซีเกมส์แล้วได้เหรียญทองอายุ 14-15 ปี ถือว่าเราสร้างนักกีฬาใหม่ๆ ขึ้นมาได้บ้างพอสมควร
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (คนกลาง) นักแบดมินตันไทยวัย 18 ปี เจ้าของรางวัลนักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นชาย เผยเป้าหมาย “ผมอยากเป็นมากกว่าลีชองเหว่ย”
“ส่วนในกีฬาสากล แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง เราเป็นรองเพียงเวียดนาม ซึ่งในระยะหลังมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก เขามีการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา มีโรงพยาบาลกีฬา สามารถที่จะนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาเตรียมนักกีฬาได้ค่อนข้างดี
“ซึ่งเราเองก็ไม่นิ่งนอนใจ เราเองจะมีการบูรณาการระหว่างการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการโอลิมปิก เพื่อที่จะเตรียมการของเราให้ดีที่สุด ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ตอนนี้เราจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงมีตัวแทนจากสมาคมกีฬาในแต่ละกลุ่ม
คีแรน-คิริน ตันติเวทย์ นักวิ่งลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เจ้าของ 2 เหรียญทองซีเกมส์ 2019 ที่หลังจากคว้าชัยชนะที่ฟิลิปปินส์เสร็จต้องรีบขึ้นเครื่องบินกลับไปสอบที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
“เช่น กลุ่มกีฬาต่อสู้ กลุ่มกีฬาทีม กลุ่มกีฬาบุคคล เพื่อมาระดมความคิด การทำงาน และวางแผนทำงานกัน ทำยังไงให้เม็ดเงินของรัฐเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำยังไงให้มีการเก็บตัวนักกีฬาอย่างต่อเนื่อง ทำยังไงให้มีการพัฒนาที่เทียบระดับกับไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่กับระดับสากล ในโอลิมปิก และซีเกมส์ครั้งต่อไป
“ซีเกมส์เหมือนเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติเวทีแรก ดังนั้นเราต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการเปิดโอกาสให้กับนักกีฬาหน้าใหม่ๆ เข้ามาเพื่อต่อยอดไปเอเชียนเกมส์จนถึงโอลิมปิก กับนักกีฬาที่เป็นความหวัง เราทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ซีเกมส์ครั้งนี้จึงมีหลายบทเรียนที่เราต้องนำมาทบทวนและแก้ไข”
นอกจากนี้ ทางผู้ว่าฯ ยอมรับว่าพอใจกับรางวัลต่างๆ ในปีนี้ ที่มีนักกีฬาระดับเยาวชนที่เป็นอนาคตของวงการกีฬาไทยกำลังเติบโตขึ้น ในเวลาการแข่งขันสากลอย่างมีประสิทธิภาพ
น้องมิลค์-ด.ญ.วรรรญา วรรณผ่อง อายุ 12 ปี คว้าแชมป์การแข่งขันโดรนเรซซิ่งชิงแชมป์โลก ประเภทรายการหญิงเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน
“รางวัลในวันนี้เราเห็นได้ชัดในนักกีฬาเยาวชน เราเห็นได้ชัดว่าเรามีพัฒนาการ เรามีนักกีฬาที่เป็นเด็ก บางคนยังเป็นเด็กชาย เด็กหญิงที่ได้รับรางวัล อย่างนักกีฬาเรือใบยังเป็นเด็กชายอยู่เลย
“เราเห็นอนาคตของนักกีฬาไทย แบดมินตันทั้งชายและหญิง เรามีเด็กๆ ที่กำลังก้าวขึ้นมา มวยก็เป็นกีฬาที่กำลังขึ้นมา
“เพราะฉะนั้นผมอยากให้มองไปถึง 3-4 ปีข้างหน้า ในอนาคตเราจะมีมหกรรมกีฬาใหญ่หลายรายการ หลังจากโตเกียวโอลิมปิก เราก็ต้องเตรียมเอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ (Asian Indoor & Martial Arts Games) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพที่ชลบุรี หลังจากนั้นก็มีมหกรรมกีฬาใหญ่ คือยูธโอลิมปิก
“ซึ่งผมคิดว่าพอถึงเวลานั้นทัพนักกีฬาไทยเราจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนไปสู่การแข่งขันรายการใหญ่ๆ อย่างเอเชียนเกมส์ที่เราตั้งเป้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2030 หลังจากนั้นก็เป็นฟุตบอลโลกในปี 2034”
หากจะมองบทเรียนจากปี 2019 สำหรับวงการกีฬาภาพรวมที่ผ่านมาตั้งแต่มหกรรมกีฬาซีเกมส์ถึงการแข่งขันชิงแชมป์โลก เราได้เห็นแล้วว่าปี 2019 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งบทเรียนของการเป็นที่หนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งอาเซียนของฟุตบอลไทย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับแชมป์ไทยลีก จนถึงเบอร์หนึ่งของโลกอย่างนิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ ทีมรักบี้ที่ครองตำแหน่งแชมป์โลกมาถึง 2 สมัยตั้งแต่ปี 2011 และ 2015 แต่กลับถูกอังกฤษที่คว้าแชมป์โลกครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2003 เขี่ยตกรอบรองชนะเลิศในรูปแบบที่เหนือกว่าในทุกด้าน
ฟุตบอลไทย มีบทเรียนหนึ่งที่เหมือนกับนิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ แม้ว่าจะเป็นการแข่งขันคนละชนิดกีฬาและคนละเวทีกัน
นั่นก็คือการเป็นเบอร์หนึ่งไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตามในโลก ก็เป็นเสมือนว่าคุณมีเป้าติดอยู่ที่หลัง เพราะทีมที่เหลือต้องการเอาชนะคุณให้ได้
บทเรียนก่อนหน้านี้ที่ทุกคนเรียนรู้คืออย่าสนใจคนอื่น มุ่งเน้นแต่การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อออลแบล็กส์พ่ายแพ้ในรอบรองชนะเลิศ คำวิจารณ์แรกจากแฟนรักบี้ทั่วโลกที่ปรากฏคือ ออลแบล็กส์สนใจแต่พัฒนาการของตนเอง และไม่ได้มองพัฒนาการของรักบี้ในภูมิภาคอื่น ขณะที่รักบี้ทีมชาติอังกฤษ ภายใต้การคุมทีมของเอ็ดดี้ โจนส์ ให้สัมภาษณ์เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า เขาเตรียมทีมมา 2 ปีกว่าเพื่อเอาชนะออลแบล็กส์ โดยเฉพาะ
เช่นเดียวกันกับฟุตบอลไทยในระดับอาเซียน ความสำเร็จในเวทีนี้เป็นสิ่งที่ทุกชาติต้องการเพื่อเป็นพื้นฐานขึ้นไปต่อกรในระดับเอเชีย และวันนี้ฟุตบอลหลายประเทศก็ได้ก้าวเข้ามาประชิดความสำเร็จของไทยในเวทีอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนาม
ความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วสำหรับปี 2020 แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือความตั้งใจที่จะเรียนรู้ทุกด้านอย่างต่อเนื่อง
แง่คิดนี้เกิดขึ้นจากการที่เราได้ติดตามรายงานข่าวโมโตจีพี ครั้งที่ 2 ในประเทศไทยและครั้งแรกที่การแข่งขันมอเตอร์ไซค์ความเร็วสูงมาตัดสินแชมป์บนแผ่นดินไทย
ภายในห้องแถลงข่าวหลังจากที่ มาร์ก มาร์เกซ คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 8 ได้สำเร็จ มีสื่อมวลชนตัดสินใจถามว่า 6 แชมป์จาก 7 ฤดูกาล การพลาดแชมป์ในปี 2015 เขารู้สึกหงุดหงิดใจหรือไม่ หรือว่าความล้มเหลวในปีนั้นทำให้เขากลายเป็นแชมป์ในวันนี้?
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
“ในภาษาสเปนเรามักจะพูดกันว่า เราต้องก้าวถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อกระโดดไปข้างหน้าให้ไกลกว่าเดิม 2 ก้าว บางครั้งตอนที่เราเด็กมากๆ ตอนปี 2015 ผมอายุเพียง 22 ปี ผมเด็กมาก แต่ผมก็เรียนรู้ได้เยอะมากจากปีนั้น เพราะผมล้มบ่อยมาก และผมก็พบเจอกับจุดอ่อนของผมคือความสม่ำเสมอ
“ทุกปีต่อจากนั้น ผมก็พยายามแก้ไขจุดอ่อนนี้ ทำงานหนักต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่ในปีนี้ความแข็งแกร่งของผมคือความสม่ำเสมอ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผมมากในการทำงานร่วมกับทุกคนต่อจากนี้”
หลังจากที่มาร์เกซเดินทางออกจากประเทศไทยไปแข่งขันรายการที่เหลือ เขาก็ตกเป็นข่าวอีกครั้งในศึกมาเลเซียน กรังด์ปรีซ์ ด้วยการขับตาม ฟาบิโอ การ์ตาราโร นักขับดาวรุ่งไฟแรงชาวฝรั่งเศส ที่ก้าวขึ้นมาขับเคี่ยวกับเขาในช่วงท้ายฤดูกาล ชนิดที่ว่าตามทุกท่วงท่าและรูปแบบของการขับ
แม้ว่าสุดท้ายจะจบลงด้วยการที่มาร์เกซ ล้มลงอย่างรุนแรงอีกครั้ง แต่ทุกคนก็เชื่อว่าสาเหตที่เขาตัดสินใจขับตามการ์ตาราโร ในรอบ Q2 ครั้งนี้เพื่อศึกษาคู่แข่งหน้าใหม่ที่กำลังมาแรงในสนามแข่งขันเดียวกันกับเขา แม้ว่าเขาจะมีสถานะเป็นแชมป์โลกไปแล้วก็ตาม
เวลายังคงเป็นสิ่งที่ยุติธรรมเสมอ การให้เวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักกีฬาไทยที่กำลังเติบโตขึ้นมาสู่เวทีระดับโลก เพราะจากบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่เราได้พูดคุยกับนักกีฬาไทยรุ่นใหม่ ที่ขึ้นชื่อว่าพวกเขามีความมุ่งมั่น และพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปสร้างความสำเร็จได้ในอนาคต
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย / THE STANDARD
วินนี่-ธนัชานนท์ ศรีเพชรสุวรรณ นักขับรุ่นมินิจีพีวัย 7 ขวบ และแฟนคลับตัวยง ได้รับแรงบันดาลใจจากไอดอล มาร์ก มาร์เกซ ยอดนักขับเจ้าของแชมป์โลก 8 สมัยชาวสเปน
ปี 2019 จึงเป็นก้าวสำคัญของการเรียนรู้ เรียนรู้ตัวเอง หาจุดอ่อนให้พบ และสร้างมันเป็นจุดแข็ง เรียนรู้คู่แข่ง เพราะความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้การันตีความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ มีความสม่ำเสมอในการทำงาน และสุดท้ายมีความมั่นใจในสิ่งที่ตัดสินใจทำ เหมือนกับที่ เอเลียด คิปโชเก มนุษย์ผู้ทำลายกำแพงมาราธอนภายใน 2 ชั่วโมงในปีนี้ลงได้จากความเชื่อที่ว่า
‘No Human is Limited’
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์