×

นักธุรกิจมองเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังท้าทาย ห่วงการฟื้นตัวแบบ K-Shaped นำไปสู่ปัญหาสังคมและการเมือง

29.12.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ประชาคมทั่วโลกมองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุด เพราะตัวขับเคลื่อนหลักหลายตัวดับลง 
  • วิกฤตรอบนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มคนระดับล่าง ซึ่งรัฐต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อน ปัญหานี้อาจกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ทางเศรษฐกิจของไทยปีหน้า เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและอาจเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาการเมืองได้ 
  • ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าและคนยังไม่ได้นึกถึงกันมากนักคือปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในอีก 13-14 เดือนข้างหน้า ดังนั้นปีหน้าประเด็นเรื่องความเป็นอยู่และปากท้องของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ
  • เราฟื้นตัวแบบ K-Shaped ข้างบนดีขึ้น ข้างล่างไหลลง ดังนั้นรัฐบาลต้องลงไปที่มาตรการเยียวยามากขึ้น ต้องทำให้เงินถึงมือคนที่เดือดร้อนจริงๆ 
  • ไทยมีโจทย์ที่ท้าทายในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของตัวเองด้วยการหา S-Curve ใหม่ การยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศ และการสร้างอุตสาหกรรมบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ

เหล่านักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด รวมไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจนำไปสู่ปัญหาด้านการเมือง 

 

พร้อมกับแนะนำให้ภาครัฐเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นที่ส่งตรงถึงผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อดึงให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาของประชาคมโลกว่าไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุดในโลก

 

เศรษฐกิจไทย

 

‘สมโภชน์’ ห่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าสุดในโลก แนะเร่งแก้ปัญหาระยะสั้นควบคู่การลงทุนระยะยาว เพื่อปลดล็อกการเติบโต

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 แม้จะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ แต่โดยภาพรวมยังมีเรื่องที่น่ากังวลอยู่มาก เนื่องจากเวลานี้ประชาคมทั่วโลกมองว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุด เพราะตัวขับเคลื่อนหลักหลายตัวดับลง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

 

“ตอนนี้ Engine หลักๆ ของเราเหลือตัวเดียว คือการส่งออกที่ยังพอเดินไปได้ ประกอบกับนโยบายต่างๆ ที่ออกมายังไม่ชัดเจนว่าจะทำให้เราฟื้นตัวอย่างไร ความไม่ชัดเจนตรงนี้คือจุดที่ผมห่วงสุด”

 

สมโภชน์บอกด้วยว่า ถ้าดูสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเวลานี้ขึ้นไปชนเพดานที่ 60% แล้ว ทำให้รัฐบาลต้องขยายเพดานให้สูงขึ้น หากเราไม่นำเงินจากส่วนที่ขยายเพิ่มนี้มาปฏิรูป (Reform) หรือเปลี่ยนแปลง (Transform) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือยังเน้นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น มองข้ามการเพิ่มศักยภาพในระยะกลางถึงยาว โดยส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าจะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น 

 

นอกจากนี้สมโภชน์มองว่า กลุ่มประชาชนที่ยังได้รับความเดือนร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ถือเป็นกลุ่มคนที่ภาครัฐควรต้องมีมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนออกมามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่างที่หาเช้ากินค่ำ เพราะวิกฤตรอบนี้ต่างจากตอนปี 2540 ที่คนเดือนร้อนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มบน แต่ครั้งนี้คนเดือดร้อนเป็นกลุ่มฐานราก หากภาครัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ เพิ่มเติม คนกลุ่มนี้อาจจะตายด้วยพิษเศรษฐกิจได้

 

สมโภชน์กล่าวด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวอาจกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปีหน้า เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและอาจเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาการเมืองได้ 

 

“ถ้าย้อนมาดูปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในเวลานี้มาจากไหน ก็มาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ดังนั้นเราต้องเคลียร์เรื่องนี้ให้ได้ อย่าหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า เราต้องไม่คาดหวังว่าต่างชาติจะวิ่งมาหาเรา เราจำเป็นต้องยืนได้ด้วยตัวเองก่อน อย่าไปหวังว่าปีหน้ารายได้หลักจะมาจากการท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เพราะเชื่อว่าในปีหน้าจีนเองก็ยังไม่เปิดประเทศ ดังนั้น Engine ตัวนี้ยังดับอยู่ แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมาช่วยกันคิด”

 

สมโภชน์กล่าวย้ำว่า ช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญความยากลำบากอยู่นี้ แทนที่จะรอเวลารับคลื่นลูกใหม่ เราควรเอาเวลาตรงนี้มาปรับปรุงบ้านทำความสะอาดจัดระเบียบภายในเพื่อให้สอดรับกับอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศกำลังจะมุ่งไป เช่น ในเรื่องของการท่องเที่ยว เราจะมุ่งไปสู่การเป็น Ecotourism หรือไม่ หากจะไปถึงจุดเหล่านั้นได้ต้องช่วยผู้ประกอบการในการปรับตัวอย่างไร ซึ่งเราจำเป็นต้องลงรายละเอียดในทุกจุด

 

นอกจากนี้เขาย้ำด้วยว่า ยุทธศาสตร์ประเทศของไทยควรต้องชัดว่าจะเดินไปทางไหน และต้องลงรายละเอียดในทุกจุดด้วย เพราะอย่างน้อยการมียุทธศาสตร์ช่วยให้เราเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น ที่เหลือเป็นเพียง How กับ When ดังนั้นหลังจากนี้เราต้องมาโฟกัสหมุดหมายที่จะเดินไป

 

“บางคนบอกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเวิร์กเหรอ ผมมองว่าถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายเราจะจับต้องอะไรไม่ได้เลย ผมว่ายุทธศาสตร์ที่สภาพัฒน์จัดทำมาถือว่าเมกเซนส์ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ยิ่งถ้าเราใส่ OKR เข้าไปด้วย โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน คิดว่าเราน่าจะแก้ปัญหาได้”

 

สมโภชน์กล่าวย้ำว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นที่ทำควบคู่กับการลงทุนเพื่อหวังการเติบโตในระยะกลางถึงยาว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว ที่สำคัญยังช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาของประชาคมโลกที่มองว่าไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุดด้วย

 

เศรษฐกิจไทย

 

‘เศรษฐา’ มองเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังท้าทาย แนะรัฐเดินหน้าอัดฉีดมาตรการกระตุ้น สร้างความหวัง-แรงบันดาลใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจลุกสู้วิกฤต

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทาย แม้แนวโน้มการเติบโตจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากฐานตัวเลขที่อยู่ระดับต่ำ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงยังต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐอยู่

 

“วิกฤตโควิดได้กดเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 ปีลงค่อนข้างมาก ยิ่งตอนนี้กำลังมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นสร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลก ภาคท่องเที่ยวจึงยังเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

 

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าและเป็นสิ่งที่คนยังไม่ได้นึกถึงกันมากนักคือปัจจัยด้านการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในอีก 13-14 เดือนข้างหน้า ดังนั้นปีหน้าประเด็นเรื่องความเป็นอยู่และปากท้องของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

เศรษฐากล่าวย้ำว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องจำเป็นในปีหน้า รวมไปถึงการหานโยบายที่มาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยปีหน้าคิดว่าเศรษฐกิจไทยก็น่าจะยังฟื้นตัวแบบ ‘K-Shaped’ กล่าวคือคนรวยจะยังรวยขึ้น ในขณะที่คนจนยังจนลง รัฐบาลจึงต้องตระหนักเรื่องเหล่านี้ให้ดี

 

“ผมคิดว่ารายใหญ่ที่ยังไปไหวต้องออกมาช่วยพยุงรายเล็กๆ มาตรการของรัฐก็ต้องออกมาช่วยกระตุ้นให้คนอ่อนแอกลับมาแข็งแรงขึ้น รวมไปถึงมาตรการภาษีที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผมยังมีความหวัง เพียงแต่ยังขาดความชัดเจนในการปฏิบัติ ผมถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะภาษีเป็นมาตรการที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม”

 

ส่วนสิ่งที่คาดหวังและอยากเห็นในปีหน้า เศรษฐากล่าวว่า อยากเห็นมาตรการที่เข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจเพื่อสร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจและประชาชน แม้มาตรการเหล่านี้จะไม่เห็นผลภายใน 1-2 เดือน แต่ก็จะเกิดผลในระยะข้างหน้า ซึ่งการสร้างความหวังและแรงบันดาลใจถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อทำให้คนลุกขึ้นสู่กับปัญหาต่างๆ ที่กำลังเผชิญในขณะนี้ 

 

 

‘บรรยง’ ห่วงมาตรการเยียวยารัฐช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้คนรวย หลังกำไรบริษัทจดทะเบียนโตต่อเนื่อง แนะเร่งปรับให้เงินถึงมือคนเดือดร้อนมากขึ้น 

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งในแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยว และอัตราดอกเบี้ยในภาวะปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่สิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าน่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้คือ การที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง GDP ประเทศในภาพรวมติดลบไปราว 6% 

 

“เรื่องนี้สะท้อนว่ามาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลกู้มา 2 ล้านล้านบาทไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลพอ เพราะดูเหมือนจะไปจบที่กลุ่มคนมั่งคั่งหมด ขณะที่คนเดือดร้อนยังมีจำนวนมาก เราฟื้นตัวแบบ K-Shaped ข้างบนดีขึ้น ข้างล่างไหลลง ดังนั้นรัฐบาลต้องลงไปที่มาตรการเยียวยามากขึ้น ต้องทำให้เงินถึงมือคนที่เดือดร้อนจริงๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบด้วย ต้องช่วยธุรกิจกลุ่มนี้เพื่อรักษาการจ้างงาน” บรรยงกล่าว

 

บรรยงกล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเยอะมาก เมื่อสถานการณ์โควิดทำให้มูลค่าการท่องเที่ยวทั่วโลกหายไป 80% หรือลดลงจากปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์เหลือ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไทยจึงได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่ใช่ความผิดใคร แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความโชคร้ายส่วนหนึ่ง

 

“ถ้าถามว่าเราต้องปรับโครงสร้างในมิติไหนบ้าง มันก็เยอะเลย ยกตัวอย่างก็เช่น 1. เราต้องหดขนาดภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 2. เราต้องพัฒนาภาคการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” บรรยงกล่าว

 

เศรษฐกิจไทย

 

ซีอีโอ ปตท. มองโควิดเป็นความเสี่ยงระยะสั้น ชี้โจทย์ระยะยาวไทยต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยการหา S-Curve ใหม่

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ปัจจัยภายนอกและภายใน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในประเทศที่ดีขึ้น รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ไทยในปี 2565 ดีขึ้นกว่าในปีนี้

 

“ปี 2564 GDP น่าจะขยายตัวได้ราว 1% ซึ่งถือว่าช้ากว่าการฟื้นตัวของประเทศอื่นๆ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง แต่หากมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลดีต่อการส่งออกของเรา ส่วนการท่องเที่ยวก็น่าจะทยอยฟื้นตัวหากเราเปิดประเทศได้ต่อเนื่อง ทำให้ในภาพรวม GDP น่าจะดีกว่าในปีนี้” อรรถพลกล่าว

 

สำหรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังต้องติดตามต่อเนื่องในปี 2565 อรรถพลกล่าวว่า ในระยะสั้นยังคงหนีไม่พ้นเรื่องโควิดที่ยังมีโอกาสเกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ ส่วนในระยะกลางถึงระยะยาว มองว่าไทยมีโจทย์ที่ท้าทายในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองด้วยการหา S-Curve ใหม่ การยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศและการสร้างอุตสาหกรรมบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ

 

เศรษฐกิจไทย

 

ผู้บริหาร ตลท. มองโควิด-เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงในปีหน้า แนะไทยเร่งลดเหลื่อมล้ำ-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ในระยะยาว

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างมองตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นตัว อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนต้องเริ่มกลับมาทบทวนและเพิ่มความระมัดระวังกันอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าโอไมครอนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ถือว่าเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คืออัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมขึ้นและความคุ้นชินของภาคธุรกิจที่เริ่มปรับตัวกับสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ยังต้องติดตามต่อ คือการระบาดของโควิดและเรื่องเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมองว่าสถานการณ์โควิด เงินเฟ้อ และเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเป็นเพียงปัญหาระยะสั้นของไทย โดยไทยยังมีโจทย์ที่ใหญ่และสำคัญกว่าให้ต้องแก้ไขในระยะยาว คือปัญหาความเหลื่อมล้ำและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันในโลกได้

 

“ในระหว่างทางที่เราแก้ปัญหาระยะสั้นต่างๆ เราควรคิดถึงทางออกสำหรับปัญหาระยะยาวไปด้วย เช่น เรายังอยากให้สัดส่วนของการท่องเที่ยวใน GDP เท่าเดิมอยู่หรือไม่ หรือจะปรับโฟกัสอย่างไร ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะช่วยให้ภาคส่วนที่ปรับตัวได้ช้าเข้าใกล้คนที่ปรับตัวได้ไวอย่างไร และจะทำอย่างไรไม่ให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างเพิ่มขึ้น” ศรพลกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising