×

สิ่งแวดล้อมโลก 2021: น้ำท่วมวิปโยค ร้อนวิปริต และคำเตือนถึงวิกฤตที่ส่งผลแล้ว

28.12.2021
  • LOADING...
Global Environment 2021

ปี 2021 ถือเป็นปีที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม COP26 ที่บรรลุข้อตกลงท่ามกลางการประชุมที่ยืดเยื้อ ทว่าที่จริงแล้ว ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติหรืออุณหภูมิในประเทศต่างๆ ที่มีรายงานว่าสูงจนเป็นสถิติ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏในปีนี้มากมาย นอกจากนี้ ในปีนี้เรายังได้เห็น ‘คำเตือน’ จากรายงานระดับโลกอย่างเป็นทางการว่าโลกร้อนนั้น ‘ส่งผลแล้ว’ และจะส่งผลมากขึ้นต่อไปหากเราไม่แก้ไขอะไรตั้งแต่วันนี้

 

เรามาลองทบทวนประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2021 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เพื่อมองไปยัง 2022 (และอนาคตที่ไกลกว่านั้น) ว่ามีอะไรที่โลกนี้ต้องเผชิญต่อ

 

Global Environment 2021

 

ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีในส่วนต่างๆ ของทวีปอเมริกาใต้ตอนเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนเหนือของลุ่มน้ำแอมะซอน ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่และยาวนานในภูมิภาค แม่น้ำรีอูเนกรูในรัฐอามาโซนัช ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบราซิล ก็ถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

 

ข้ามมาที่จีนในเดือนกรกฎาคม 2021 เกิดอุทกภัยใหญ่ในมณฑลเหอหนาน หลังฝนตกหนักเป็นสถิติจนต้องอพยพผู้คนหลายแสนคน และทำให้น้ำท่วมอุโมงค์ทางรถไฟใต้ดิน สื่อของทางการจีนระบุข้อมูลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากถึง 14.81 ล้านคน เสียชีวิต 302 คน และมีผู้สูญหายอีกกว่า 50 ชีวิต พืชผลเสียหาย บ้านเรือนมากกว่า 35,300 หลังพังทลาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงคิดเป็นกว่า 133,700 ล้านหยวน ต่อมาในเดือนตุลาคมก็มีอุทกภัยใหญ่อีกครั้งจากเหตุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องที่มณฑลชานซี ที่สำคัญคือมีการวิเคราะห์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีส่วนส่งผลถึงเหตุการณ์เหล่านี้

 

ตุลาคมเช่นกัน ที่เนปาลและสองรัฐในอินเดีย คือรัฐอุตตรขัณฑ์ และรัฐเกรละ ก็เกิดอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนัก บ้านเรือนประชาชนจมอยู่ใต้น้ำ และเกิดดินถล่ม มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 200 คน รายงานจาก CNN ชี้ว่าทุกปีมีผู้เสียชีวิตในอินเดียจากภาวะน้ำท่วมและดินถล่มในช่วงฤดูมรสุมราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายน และมีผู้ที่ยากจนต้องสูญเสียบ้านไปหลายต่อหลายครั้งจากเหตุดังกล่าว

 

ข้ามมาที่ซูดานใต้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศแห่งนี้ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี ที่มีผู้ได้รับผลกระทบแล้วจนถึงขณะนี้มากกว่า 850,000 คน ซึ่งซูดานใต้เองเป็นหนึ่งในหลายๆ แห่งบนโลกที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง ตามมาด้วยปริมาณฝนที่รุนแรง โฆษกประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในแอฟริกาตะวันออกบอกว่า นี่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ต่อกันที่ยุโรป ภาวะน้ำท่วมจากฝนตกหนักในยุโรปช่วงเดือนกรกฎาคมมีหลายประเทศได้รับผลกระทบ เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ นายกรัฐมนตรีเบลเยียมระบุว่า นี่อาจเป็นภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในเบลเยียม ขณะที่ผู้นำยุโรปต่างกล่าวโทษการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดย  อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้น เรียกร้องให้มีการต่อสู้อย่างมุ่งมั่นกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยอดผู้เสียชีวิตตามรายงานช่วงปลายเดือนกรกฎาคมของเยอรมนีและเบลเยียมรวมกันเกินกว่า 200 ราย

 

มากันที่สหรัฐอเมริกา เดือนสิงหาคม เฮอริเคนไอดาพัดเข้าถล่มชายฝั่งทางตอนใต้ที่รัฐลุยเซียนา และเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตในหลายรัฐ เช่น ลุยเซียนา นิวเจอร์ซีย์ คอนเนทิคัต แมริแลนด์ นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย และเวอร์จิเนีย รวมถึงพบปริมาณน้ำฝนมากเป็นประวัติการณ์ทั้งที่นิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ด้วย

 

และในเดือนธันวาคมนี้เอง ที่สหรัฐอเมริกาต้องประสบกับทอร์นาโดหลายสิบลูกในหลายรัฐทางด้านมิดเวสต์และทางตอนใต้ เช่น เคนทักกี เทนเนสซี อาร์คันซอ มิสซูรี และอิลลินอย เป็นต้น เฉพาะในรัฐเคนทักกีเองที่ดูเหมือนจะได้รับความเสียหายมากที่สุดนั้นพบยอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 คน มีรายงานผู้สูญหาย ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย บ้านมากกว่าพันหลังพังเสียหาย และไฟฟ้าดับ ส่วนในรัฐอื่นมีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 14 คนใน 4 รัฐ ทั้งนี้ การเกิดทอร์นาโดในเดือนธันวาคมนั้นเป็นเรื่องไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม นักอุตุนิยมวิทยาก็ระบุว่า แม้อากาศอุ่นจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการเกิดทอร์นาโด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้นยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน การวิจัยด้านความเชื่อมโยงระหว่างสภาพภูมิอากาศและทอร์นาโดยังคงตามหลังภาวะอากาศสุดขั้วอื่น อาทิ เฮอริเคนและไฟป่าอยู่

 

นอกจากน้ำท่วม เรายังอาจจะต้องกล่าวถึงภัยแล้งด้วย ซึ่งปีนี้ภัยแล้งครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กึ่งเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้เป็นปีที่สองติดต่อกัน ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากในตอนใต้ของบราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และตอนเหนือของอาร์เจนตินา ความแห้งแล้งนำไปสู่ความสูญเสียทางการเกษตร และรุนแรงขึ้นจากมวลอากาศเย็นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกกาแฟของบราซิลหลายแห่ง ระดับน้ำในแม่น้ำที่ต่ำยังลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ และทำให้การขนส่งทางแม่น้ำหยุดชะงัก

 

ภาพ: Noel Celis / AFP, APPU S. NARAYANAN / AFP, BRENDAN SMIALOWSKI / AFP, DOUGLAS MAGNO / AFP

 


Global Environment 2021

 

ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่เผยแพร่เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม และอ้างอิงจากข้อมูลใน 9 เดือนแรกของปีระบุว่า 7 ปีที่ผ่านมากำลังมีแนวโน้มที่จะเป็น 7 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เมื่อดูถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ลานินญาในช่วงต้นปีที่ทำให้เย็นลงชั่วคราวนั้นทำให้คาดว่าปี 2021 อาจเป็นเพียงปีที่ร้อนที่สุดในอันดับ 5-7 เท่าที่เคยมีการบันทึก แต่นี่ไม่ได้เป็นการลบล้างแนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นในระยะยาว หรือทำให้แนวโน้มดังกล่าวย้อนกลับแต่อย่างใด

 

ปีนี้ยังเป็นปีที่มีการบันทึกอุณหภูมิสูงสุดเป็นสถิติในหลายบริเวณทั่วโลก อย่างกรุงมอสโกของรัสเซียก็ต้องพบกับคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ราวปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งอุณหภูมิของกรุงมอสโกในวันที่ 23 มิถุนายน อยู่ที่ 34.8 องศาเซลเซียส ถือเป็นอุณหภูมิสูงสุดของมอสโกในเดือนมิถุนายนตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมา

 

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน วันที่ 29 มิถุนายน ที่หมู่บ้านลิตตันในมณฑลบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ก็มีอุณหภูมิสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศแคนาดา และถือเป็นการทำลายสถิติถึงสามวันติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 27-29 มิถุนายนด้วย สำนักข่าว CBC ของแคนาดารายงานว่า สถิติถูกทำลายลงในขณะที่คลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ยังคงแผดเผาทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และหลังจากสถิติดังกล่าวเพียงวันเดียว ก็ตามมาด้วยไฟป่าที่ทำให้มีคำสั่งอพยพผู้อาศัยในหมู่บ้านลิตตันทุกคน ทั้งหมู่บ้านเต็มไปด้วยเปลวเพลิงในเวลาเพียง 15 นาที และยังมีไฟป่าเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ของมณฑลในเวลาต่อมา (อย่างไรก็ตาม หน่วยจัดการไฟป่าของบริติชโคลัมเบียนั้นเริ่มติดตามฤดูไฟป่าในเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี)

 

ส่วนเขตเคโวทางตอนเหนือของฟินแลนด์บันทึกอุณหภูมิเป็นสถิติสูงสุดในรอบมากกว่า 100 ปี ที่ 33.6 องศาเซลเซียสในวันที่ 4 กรกฎาคม และประเทศใกล้เคียงอย่างสวีเดนและนอร์เวย์ก็เผชิญกับคลื่นความร้อนในลักษณะเดียวกัน และเพียงราวสองสัปดาห์ต่อมา สถิติอุณหภูมิสูงสุดของตุรกีก็ถูกทำลายด้วยอุณหภูมิสูงสุดครั้งใหม่ที่ 49.1 องศาเซลเซียส ณ เมืองซิซีลีในวันที่ 20 กรกฎาคม เช่นเดียวกันกับเมืองทบิลีซีในจอร์เจีย ก็ทำสถิติวันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเมืองในวันเดียวกันที่อุณหภูมิ 40.6 องศาเซลเซียส

 

ข้ามมาที่กรีซในวันที่ 2 สิงหาคม The National Observatory of Athens (NOA) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของกรีซยืนยันอุณหภูมิที่วัดได้ที่เมือง Makrakomi ในภูมิภาค Phthiotis ว่าอยู่ที่ 46.3 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิสูงสุดที่เคยมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการในกรีซ คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งทำให้เกิดไฟป่าหลายครั้ง และทำให้ผู้คนต้องอพยพ ขณะที่วันที่ 14 สิงหาคม สเปนก็ต้องบันทึกสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศครั้งใหม่ไว้ที่ 47.4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่วัดได้ที่เมืองมอนโตโร และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของประเทศ

 

และสดๆ ร้อนๆ ในเดือนธันวาคมนี้เอง ที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศให้อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสที่พบที่เมืองเวียร์โคยันสก์ของรัสเซีย ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่ยืดเยื้อเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2020 กลายเป็นสถิติอุณหภูมิในแถบอาร์กติกที่สูงที่สุด เลขาธิการของ WMO บอกว่า สถิติใหม่นี้ถือเป็นหนึ่งในข้อสังเกตที่ส่งเสียงเตือนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

 

และไม่ใช่แค่การประกาศรับรองสถิติที่รัสเซียเท่านั้น แต่ทีมสืบสวนของ WMO ยังมีงานอื่นอยู่ในมืออีก ทั้งการตรวจสอบค่าอุณหภูมิที่อ่านได้เป็นสถิติถึง 54.4 องศาเซลเซียสที่ ‘หุบเขามรณะ’ ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ทั้งในปี 2020 และ 2021 หรือการตรวจสอบความถูกต้องของสถิติอุณหภูมิสูงสุดของยุโรปที่ 48.8 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2021 บนเกาะซิซิลีของอิตาลี เลขาธิการของ WMO บอกว่า หน่วยด้านจดหมายเหตุของสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศสุดขั้วของ WMO “ไม่เคยมีการสอบสวนที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันขนาดนี้มาก่อน”

 

อีกด้านหนึ่งของปัญหาคือความเย็นที่ผิดปกติ โดยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างผิดปกติส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในตอนกลางของสหรัฐอเมริกาและตอนเหนือของเม็กซิโก มวลอากาศเย็นในฤดูใบไม้ผลิที่ผิดปกติยังส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในยุโรปช่วงต้นเดือนเมษายนด้วย

 

WMO ยังชี้ว่าเมื่อปีที่แล้ว (2020) ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยทั่วโลกนั้นได้สูงทำสถิติใหม่ โดยความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 413.2 ppm (ส่วนในล้านส่วน), ความเข้มข้นของมีเทนอยู่ที่ 1,889 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) และความเข้มข้นของไนตรัสออกไซด์อยู่ที่ 333.2 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ซึ่งคิดเป็น 149%, 262% และ 123% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ปี 1750) ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังคงดำเนินต่อในปี 2021

 

ในปี 2022 คงต้องรอดูอีกครั้งว่าจะมีสถิติใหม่ในเรื่อง ‘ร้อนๆ’ กันอีกมากน้อยแค่ไหน

 

ภาพ: Dimitar Dilkoff / AFP, Patrick T. Fallon / AFP, Jorge Guerrero / AFP, Louisa Gouliamaki / AFP

 


Global Environment 2021

 

รายงาน ณ สิ้นเดือนตุลาคมของ WMO ประกอบกับเอกสารเรื่อง ‘ความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2563’ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลของการแผ่รังสีในเชิงบวกที่ชั้นบนสุดของชั้นบรรยากาศ (The earth Energy Imbalance: EEI) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนภาวะโลกร้อนผ่านการสะสมพลังงานในรูปของ ‘ความร้อนที่สะสมในระบบโลก’ (Ocean Heat Content: OHC) ทั้งนี้ ประมาณ 90% ของการสะสมความร้อนในระบบโลกถูกเก็บไว้ในมหาสมุทร

 

WMO ระบุว่าที่ระดับความสูง 0-2,000 เมตรของมหาสมุทรนั้นอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 นั้นแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ แต่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นจากชุดข้อมูลระดับโลกจำนวน 7 ชุดชี้ว่า ในปี 2020 มหาสมุทรจะอุ่นขึ้นเกินกว่าสถิตินั้นอีก ชุดข้อมูลทั้งหมดยังบ่งชี้ว่า อัตราการอุ่นขึ้นของมหาสมุทรนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่ามหาสมุทรจะยังคงอุ่นขึ้นต่อไปอีกในอนาคต

 

นอกจากนี้ มหาสมุทรยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ และถูกปล่อยสู่บรรยากาศไว้ราว 23% ต่อปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลก แต่ก็ทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ‘การเป็นกรดในมหาสมุทร’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศมากมาย ค่าพีเอช (pH) ที่พื้นผิวของมหาสมุทรเปิดนั้นลดลงทั่วโลกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันก็มีค่าต่ำสุดในรอบอย่างน้อย 26,000 ปี และเมื่อความเป็นกรดของมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศก็จะลดลงด้วย ซึ่งจะเป็นการขัดขวางบทบาทของมหาสมุทรในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อีกด้านหนึ่งยังมีประเด็นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลก ที่ WMO ระบุว่าระหว่างปี 1993-2002 มีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยดังกล่าวอยู่ที่ 2.1 มิลลิเมตรต่อปี ค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นนี้เพิ่มเป็น 4.4 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2013 ถึงเดือนกันยายน 2021 สาเหตุหลักมาจากการสูญเสียมวลน้ำแข็งอย่างรวดเร็วจากธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง

 

ในเรื่องน้ำแข็ง ขนาดของทะเลน้ำแข็งอาร์กติกขยายถึงจุดสูงสุดของปีในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ส่วนขนาดต่ำสุดในเดือนกันยายนหลังฤดูร้อนนั้นมีขนาดมากกว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นขนาดต่ำสุดอันดับที่ 12 ในรอบ 43 ปีที่มีการบันทึกไว้โดยดาวเทียม ส่วนขนาดทะเลน้ำแข็งในทะเลกรีนแลนด์ตะวันออกก็ต่ำสุดเป็นสถิติ แต่ขนาดทะเลน้ำแข็งแอนตาร์กติกโดยทั่วไปนั้นใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปี 1981-2010

 

ส่วนเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ก็เกิดฝนตก ณ จุดสูงสุดของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่เรียกว่า ‘Summit Station’ ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2 ไมล์ และอุณหภูมิอากาศยังคงสูงกว่าจุดเยือกแข็งประมาณ 9 ชั่วโมง โดย WMO ระบุว่า ไม่เคยมีรายงานของฝนที่จุดนี้มาก่อน ขณะที่ เท็ด สแคมบอส นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสที่ National Snow and Ice Data Center มหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าวว่า นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่ากรีนแลนด์กำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

และแทรกประเด็นภัยพิบัติในปีนี้อีกเล็กน้อย กับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเฮติ ขนาดแมกนิจูด 7.2 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,248 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 12,763 ราย และกระทบผู้คนมากกว่า 8 แสนคน บ้านเรือนมากกว่า 137,000 หลังได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ที่ญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ และขนาด 7.2 ที่อินโดนีเซียในเดือนธันวาคม เป็นต้น

 

ภาพ: Dhoxax / Getty Images, Evgen_Prozhyrko / Getty Images, Mario Tama / Staff / Getty Images

 


Global Environment 2021

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change-IPCC) เผยแพร่รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ว่าด้วยความเข้าใจเชิงกายภาพของระบบภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีข้อสรุปได้อย่างย่อที่สุดว่า “อิทธิพลของมนุษย์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

 

มีการกล่าวถึงรายละเอียด อาทิ การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Well-mixed Greenhouse Gases) ตั้งแต่ปี 1750 ซึ่งเกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ การที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกในทศวรรษ 2011-2020 สูงกว่าในปี 1850-1900 แล้วราว 1.09 องศาเซลเซียส การสูญเสียธารน้ำแข็งจากเหตุที่มีการละลายมากกว่าการสะสมตัวของน้ำตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และการลดลงของพื้นที่ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกระหว่างปี 1979-1988 และ 2010-2019 ซึ่งอิทธิพลของมนุษย์มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเรื่องนี้ ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอิทธิพลของมนุษย์มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่อย่างน้อยในปี 1971

 

คลื่นความร้อนกำลังมีแนวโน้มที่จะบ่อยขึ้น พายุหมุนเขตร้อนกำลังมีความรุนแรงมากขึ้น แผ่นดินส่วนใหญ่มีฝนตกมากขึ้นในหนึ่งปี ขณะที่ความแห้งแล้งทางการเกษตรและระบบนิเวศซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยหนึ่งครั้งในรอบ 10 ปีในภูมิภาคแห้งแล้ง ปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยเป็น 1.7 เท่า ผลการประเมินบอกว่าอุณหภูมิพื้นผิวของโลกจะยังคงสูงขึ้นต่อไปจนกระทั่งอย่างน้อยกลางศตวรรษอย่างแน่นอน และหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ อย่างเข้มข้นในหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โลกจะร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 และ 2 องศาเซลเซียสในระหว่างศตวรรษนี้เทียบกับช่วงปี 1850-1900 แต่หากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอยู่ในระดับต่ำมาก ผลกระทบก็อาจจะลดลงกว่าที่คาดไว้ดังกล่าวนี้

 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นสัญญาณฉุกเฉิน หรือ Code Red สำหรับมนุษยชาติ

 

ภาพ: Schroptschop / Getty Images, Glen Richard / Getty Images, mesut zengin / Getty Images, Trevor Gessay / GettyImages

 


Global Environment 2021

 

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือที่รู้จักกันในชื่อ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ เมื่อ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2021 ข้อสรุปที่สำคัญมีทั้งปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปี 2030 ที่มีผู้นำกว่า 100 ประเทศให้คำมั่นสัญญา การลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2030 ซึ่งมีกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม การให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้ถ่านหินโดยกว่า 40 ประเทศ การส่งเสริมพลังงานสะอาด โดย 450 องค์กรที่ควบคุมเม็ดเงิน 130 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 40% ของสินทรัพย์เอกชนทั่วโลก ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียว เช่น พลังงานหมุนเวียน

 

และหลังการเจรจาล่วงเลยกำหนดการประชุมในวันสุดท้ายจนต้องต่อเวลาพิเศษไปถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน ประเทศที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศก็บรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า Glasgow Climate Pact ได้สำเร็จ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญทั้งการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และเลิกสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การระดมทุนช่วยประเทศกำลังพัฒนา 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ซึ่งบรรดาชาติร่ำรวยทำไม่ได้ตามเป้าหมายในปี 2020 ในการจัดหาเงินทุนช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ก็ยังให้คำมั่นว่าจะระดมทุนให้ได้จำนวนดังกล่าวต่อปีไปจนปี 2025) การช่วยเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาโลกร้อน การกำหนดกฎสำหรับตลาดคาร์บอน (ซึ่งถกเถียงกันมานาน) และการเพิ่มเป้าหมายด้านสภาพอากาศของแต่ละประเทศ เพื่อไปสู่จุดหมายใหญ่ของข้อตกลงปารีส

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการตั้งคำถามคือการที่ยังไม่มีไทยอยู่ในประเทศที่ให้คำมั่นในปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เรื่องนี้ พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุผ่านการเสวนา ‘จากปารีสถึงกลาสโกว์ นัยต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลก’ ของสำนักข่าว Bangkok Tribune และองค์กรพันธมิตรว่า การลงนามต้องทำตามขั้นตอน คือการรับเรื่อง ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียเสนอกรรมการระดับชาติและเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงนามในการประชุม COP และ สผ. ก็ยังไม่ได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการ และระยะเวลาก็กระชั้นชิด แต่ได้ยื่นหนังสือไปยังทุกหน่วยงานแล้วเพื่อรอความเห็นกลับมา

 

ส่วน เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 18 ปี ระบุในการเดินขบวนประท้วงระหว่างการประชุมดังกล่าวร่วมกับกลุ่มเยาวชนว่าการประชุม COP26 นั้น ‘ล้มเหลว’ และย้ำว่าจำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากในทันที และบรรยายถึงการประชุมนี้ว่าเป็นเพียงการพบปะสังสรรค์ทางธุรกิจตามปกติยาว 2 สัปดาห์ และการสร้างช่องโหว่เพื่อประโยชน์ของตนเอง

 

อนึ่ง การประชุม COP ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2022 ที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์

 

ภาพ: Daniel Leal / AFP, Ben Stansall / AFP

 


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising