×

สงครามน้ำลาย จากกรณีระเบิดเขื่อนโนวาคาคอฟกาถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ใครสาดโคลนใคร?

15.07.2023
  • LOADING...
เขื่อนโนวาคาคอฟ

ยังคงสร้างความฉงนให้กับผู้ติดตามสถานการณ์สู้รบในยูเครนไม่หาย กับกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซียเกิดเหตุระเบิดขึ้น แน่นอนว่าผู้ต้องสงสัยอันดับแรกที่จะต้องถูกพูดถึงคือรัสเซีย ในฐานะที่เป็น ‘ผู้ยาตรา’ เข้ามาในแผ่นดินยูเครน 

 

หลายคนคงจะพอทราบกันแล้วว่า เขื่อนโนวาคาคอฟกาเป็นเขื่อนปลายน้ำของแม่น้ำดนีเปอร์ที่ต้นน้ำไหลมาจากทางเหนือของประเทศยูเครน โดยผ่านกรุงเคียฟและไหลลงมาในทางทิศใต้ โดยมีเขื่อนโนวาคาคอฟกาเป็นเขื่อนที่อยู่ท้ายน้ำ

 

อันที่จริงการระเบิดเขื่อนเพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางการทหาร ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต 

 

ช่วงจุดเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการบุกสหภาพโซเวียตแบบสายฟ้าแลบของกองทัพแวร์มัคต์ ฝ่ายนาซีเยอรมนีก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นกันคือ ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 1941 ฝ่าย ‘เจ้าบ้าน’ อย่างสหภาพโซเวียต ที่กำลังถอยร่น ได้พยายามใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อประวิงเวลาให้ ‘ผู้รุกราน’ อย่างนาซีเยอรมนี ยาตราทัพเข้าสู่สหภาพโซเวียตให้ช้าที่สุด ในขณะที่ฝ่ายนาซีเยอรมนีได้มีการรุกถึงยูเครน และมีการสั่งการลับผ่านหน่วยสืบราชการลับ NKVD (ต่อมาจะกลายเป็น KGB อันโด่งดัง) ให้ระเบิด ‘เขื่อนดนีโปร’ (Dnipro Hydro Electric Station) ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในยูเครน ณ ขณะนั้น เพื่อให้น้ำท่วม และกองทัพเยอรมนีไม่สามารถรุกคืบเข้าไปในแผ่นดินโซเวียตได้โดยสะดวก 

 

แต่ผลในครั้งนั้นก็ทำให้ชาวบ้านนับแสนที่ไม่รู้แผนการนี้ต้องจมน้ำเสียชีวิตอีกนับแสนต้องไร้ที่อยู่อาศัย เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอีกหน้าหนึ่งของยูเครนในปัจจุบันเช่นกัน

 

กลับมาที่ยุคปัจจุบัน เรื่องการระเบิดเขื่อนโนวาคาคอฟกากลายเป็นประเด็นร้อน ในฐานะที่เป็นอีกเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อโจมตีซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายยูเครนและฝ่ายรัสเซีย

 

แน่นอนว่าทันทีที่เกิดเหตุขึ้น กระแสมุ่งเป้าโจมตีไปที่รัสเซียโดยทันที เพราะว่าเป็น ‘จำเลยสังคม’ ในกรณีการบุกยูเครนอยู่แล้ว โดยมีการชี้ไปที่รัสเซียว่าเป็น ‘ผู้ก่อเหตุ’ นี้ เพื่อให้ชาวบ้านยูเครนจมน้ำตาย และเพื่อให้พื้นที่เพาะปลูกและการเกษตรไม่สามารถใช้การได้ รวมทั้งด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ผู้เขียนไม่ขอลงรายละเอียด เพราะผู้อ่านสามารถรับชมหรือหาอ่านได้ตามรายงานข่าวต่างประเทศทั่วๆ ไป 

 

แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไรและใครเป็นต้นเหตุ แต่ทางฝั่งยูเครนรวมถึงกลุ่มประเทศ NATO ได้กล่าวหารัสเซียโดยทันทีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุเขื่อนพังทลาย

 

โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้กล่าวว่า “รัสเซียคือผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ครั้งนี้”

 

โดยฝั่งยูเครนและพันธมิตรมองว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายรัสเซีย และกล่าวหาว่ารัสเซียจงใจใช้การทำลายเขื่อนเป็นอาวุธในการทำลายพื้นที่เพาะปลูกและการเกษตร ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลกระทบลูกโซ่ต่อจากนี้คือวิกฤตการณ์ด้านอาหารที่จะกระทบต่อห่วงโซอุปทานด้านอาหาร ไม่เพียงเฉพาะต่อยูเครนและยุโรป แต่รวมไปถึงความเดือดร้อนระดับโลกด้วย

 

มิโคลา คาลินิน หัวหน้าวิศวกรของ Ukrhydroproject วิสาหกิจไฟฟ้าพลังน้ำและการจัดการน้ำของยูเครน ได้พุ่งเป้าไปยังสาเหตุว่า การระเบิดคือตัวการทำให้เขื่อนพัง

 

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งยูเครนและ NATO บางคนยังวิเคราะห์ว่า ที่รัสเซียจะได้ประโยชน์จากการที่เขื่อนพังคือ การที่ถนนบนสันเขื่อนจะไม่สามารถใช้การได้ และจะทำให้กองทัพยูเครนสามารถรุกคืบยึดดินแดนจากฝ่ายรัสเซียได้ช้าลง

 

แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำและนำเสนอคือ ข้อเท็จจริงจากฝั่งรัสเซียที่นำมาโต้แย้งข้อกล่าวหาของยูเครน (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยมีการนำเสนอสักเท่าไร) 

 

ฝ่ายรัสเซียมองว่าเขื่อนโนวาคาคอฟกาเป็นสถานที่ที่เพิ่งจะอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะการที่เขื่อนระเบิดและทิศทางที่น้ำในเขื่อนทะลักออกไปนั้นก็เป็นแนวป้องกันของฝ่ายทหารรัสเซียอยู่แล้ว การที่น้ำในเขื่อนไหลบ่าไปพร้อมๆ กับทุ่นระเบิดจำนวนมากที่ต่างฝ่ายต่างวางไว้เพื่อป้องกันแนวรบของตนเองก็ไหลไปตามน้ำลงไปทางฝั่งแนวป้องกันของรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอันตรายต่อฝ่ายรัสเซียเองเช่นกัน (แน่นอนว่าชาวบ้านโดยรอบเขื่อนก็ตกอยู่ในสภาวะอันตรายนี้) 

 

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น ในขณะที่เกิดเหตุ ประตูน้ำมีการเปิดไว้ให้กว้างที่สุด รวมไปถึงมีการเปิดเผยว่า เขื่อนเหนือน้ำอย่าง ‘เขื่อนดนีเปอร์’ ได้มีการกักเก็บน้ำมากกว่าปกติและปล่อยน้ำมหาศาลมาที่เขื่อนปลายน้ำราวกับว่า เพื่อเตรียมการให้เกิดผลเสียหายมากกว่าปกติเมื่อเกิดเหตุร้ายอันใดก็ตามที่เขื่อนท้ายน้ำอย่างเขื่อนโนวาคาคอฟกา

 

ในเมื่อเหตุผลไม่ได้ชี้ไปในทางที่รัสเซียจะวางระเบิดตัวเอง ก็มีอีกความเป็นไปได้ที่เขื่อนจะถูกทำลายโดย ‘ลูกยาว’ อย่างเช่น จรวด Himars ที่ฝั่ง NATO ส่งไปให้ยูเครนใช้ และก็มีการใช้ลูกยาวแบบนี้หลายกรณี ตั้งแต่การยิงถล่มสะพานข้ามแม่น้ำดนีเปอร์ตัดเส้นทางการบุกของฝั่งรัสเซีย รวมไปถึงการโจมตีสถานที่ต่างๆ ในไครเมีย พูดสั้นๆ ก็คือ รัสเซียก็ชี้นิ้วไปทางยูเครนบอกว่า “เอ็งนั่นแหละเอาลูกยาวยิงเขื่อน เพื่อจะป้ายสีข้า”

 

ในแง่ของผลกระทบในระยะยาว แน่นอนว่าฝ่ายที่จะเดือดร้อนก็คือไครเมีย ที่ฝักใฝ่ทางรัสเซีย อันเนื่องมาจากการที่ต้องพึ่งพาน้ำจืดที่ไหลมาจากทางยูเครน ก่อนหน้านี้ก็มีการเล่นเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลที่เคียฟและไครเมีย โดยเคยมีการขู่ว่าจะตัดการส่งน้ำจืดเข้าไปยังไครเมียมาแล้ว โดยเฉพาะในปี 2014 ปีแรกที่ไครเมียประกาศแยกตัวจากยูเครน รัฐบาลกลางที่กรุงเคียฟเคยใช้การ ‘ตัดการส่งน้ำ’ เป็นอาวุธบังคับให้ไครเมียยอมกลับมาสิโรราบต่อยูเครนมาแล้ว

 

ดังที่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนไว้แล้วว่า ‘เจ้าบ้าน’ คงจะสามารถใช้ยุทธวิธีอันใดก็ได้หรือวิธีใดก็ได้ เพื่อให้เกิดผลหยุดยั้งต่อ ‘ผู้รุกราน’ 

 

ภาพ: International Atomic Energy Agency / Handout via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising