มหาวิหารน็อทร์-ดาม (Notre-Dame de Paris) ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาวปารีส (ปารีเซียง) และมรดกโลกเพียงเท่านั้น หากยังเป็นต้นแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมยุคโกธิกที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ไฟไหม้มหาวิหารครั้งนี้จึงประเมินค่ามิได้ จึงไม่แปลกใจที่ผู้คนทั่วโลกจะอาลัยต่อความสูญเสียครั้งนี้ กระทั่งมีเศรษฐีฝรั่งเศสช่วยกันบริจาคเงินเพื่อจะช่วยบูรณะคืนสภาพให้กลับมาเป็นเหมือนเก่าให้ได้มากที่สุด
ต่อเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ ผู้เขียนคงไม่ต้องเล่าอะไรอีก หากแต่เราน่าจะลองมาดูถึงความสำคัญของมหาวิหารนี้โดยย่อ และมาสำรวจกันว่าเมื่อเกิดไฟไหม้อาคารสำคัญนั้น ในอดีตเขามีแนวคิดอย่างไรต่อการจัดการกันบ้าง
ไฟไหม้พระที่นั่ง และไฟไหม้กรุงศรีฯ
แนวคิดการอนุรักษ์ของคนโบราณในยุคจารีต เช่น ไทย ไม่เหมือนกับในยุคปัจจุบัน ถ้าหากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมักจะสร้างใหม่ ไม่ใช่พยายามคืนสภาพให้เหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้ถูกสร้างแทนพระที่นั่งองค์หนึ่งที่ถูกไฟไหม้ไปคือ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท
พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2532 เวลาบ่ายสามโมง ได้เกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรงในกรุงเทพฯ ส่งผลทำให้ฟ้าผ่าตกลงตรงหน้าบันพระที่นั่งอมริทราภิเษกมหาปราสาท และลุกลามกลายเป็นเพลิงไหม้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมข้าราชการต่างช่วยกันดับเพลิง โชคดีที่ราชบังลังก์และพระมหาเศวตฉัตรได้รับการยกออกมาทันก่อนที่จะถูกพระเพลิงเผาผลาญไป
ด้วยสภาพของพระที่นั่งที่ยากต่อการซ่อมแซม ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อปราสาทหลังนี้ลงเสีย แล้วสร้างใหม่ให้มีขนาดเล็กลงเท่ากับพระที่นั่งสุริยามรินทร์ในพระราชวังหลวงของอยุธยา แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เช่นเดียวกับกรณีของกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าเผา (บางส่วน) รัชกาลที่ 1 ก็ทรงเลือกที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยจำลองความเป็นกรุงศรีอยุธยาผ่านการรับรู้ว่าอาคารอะไรแทนอาคารหลังใด แต่ไม่ได้เป็นการสร้างเลียนแบบของเก่าร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนแนวคิดที่ต้องการอนุรักษ์หรือคืนสภาพของอาคารเก่าให้เหมือนเดิม หรือคงสภาพเดิม ถือเป็นแนวคิดใหม่ในสยาม เริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการรับแนวคิดจากตะวันตกที่มองว่า โบราณสถานนั้นสะท้อนรากเหง้าและความมีอารยธรรมหรือ ‘ศิวิไลซ์’ ของประเทศ
ดังนั้นคิดง่ายๆ ว่า ถ้าหากพระที่นั่ง อาคาร โบราณสถานถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อสนองกับการใช้งานของปัจจุบันเสียแล้ว ก็เท่ากับเป็นการลบความมีอารยธรรมของตนเอง
ไฟไหม้พระราชวังมัณฑะเลย์
พระราชวังมัณฑะเลย์ดั้งเดิมสร้างด้วยไม้สัก แกะสลักอย่างสวยงาม เป็นหมู่อาคารมีหลายหลังมาก ทว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อในวันที่ 20 มีนาคม 2488 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรของอังกฤษได้ทิ้งระเบิดจำนวนมากลงยังพระราชวัง เพราะเชื่อว่ากองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นที่ส่องซุ่มกองกำลัง ส่งผลทำให้เพลิงไหม้พระราชวังทั้งหมดราบเป็นหน้ากลอง ยกเว้นอาคารเพียง 2 หลังที่รอดคือ ป้อมสังเกตการณ์ และโรงกษาปณ์หลวง
หลังการลุกฮือขึ้นปฏิวัติของประชาชนต่อรัฐบาลทหารพม่า ในปี ค.ศ. 1988 (Upspring) ทำให้รัฐบาลทหารพม่าพยายามจะสร้างระบอบทหารให้เข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้ง
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1989 ทางรัฐบาลจึงได้เริ่มต้นโครงการคืนสภาพ (Reconstruct) ของพระราชวังแห่งนี้ โดยตั้งเป้าให้ได้พระที่นั่งและตำหนักต่างๆ จำนวน 25 หลัง ทำให้ต้องระดมช่างไม้และช่างแขนงต่างๆ ชั้นเยี่ยมกว่า 400 คนจากทั่วประเทศ และกรรมกรอีก 320 คน ทำงาน 10-14 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เสร็จในปี ค.ศ. 1994
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ มีพระราชวังอีกแห่งที่รัฐบาลทหารพม่าได้สร้างขึ้นใหม่ด้วยคือ พระราชวังกัมโพชธานี ของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งทางรัฐบาลทหารพม่าได้ให้นักโบราณคดีขุดหาร่องรอยของพระราชวังที่ถูกไฟเผา จากนั้นจึงได้ทำการสร้างจำลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
กรณีของพม่าจะเห็นได้ว่า การสร้างพระราชวังขึ้นมาใหม่นี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ทำให้มีความพยายามในการจำลองให้เหมือนกับในอดีตให้มากที่สุด ซึ่งโชคดีในกรณีของพระราชวังมัณฑะเลย์ที่สามารถสร้างได้เหมือนพอควร เพราะว่ามีภาพวาดและภาพถ่ายเป็นจำนวนมากในสมัยอาณานิคม
มหาวิหารน็อทร์-ดาม ตัวแทนของสถาปัตยกรรมแบบโกธิก
ผู้เขียนเคยไปมหาวิหารนี้ 2 ครั้งด้วยกัน แทนที่จะเดินเข้าไปชมความงามด้านในของวิหารทันที แต่มีความสุขกับการเดินวนรอบวิหาร เพราะในแง่ของคนที่เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรปมาคงพอทราบว่า มหาวิหารน็อทร์-ดามเป็นวิหารหลังแรกที่เริ่มใช้เสาค้ำยันที่เรียกว่า ‘Flying Buttress’ เสาค้ำยันรูปร่างคล้ายปีกนกนี้มีประโยชน์เพื่อช่วยรับน้ำหนักและค้ำยันผนังวิหาร ทำให้สามารถพัฒนาความสูงของอาคารได้มากขึ้น ส่งผลทำให้สามารถเจาะหน้าต่างได้สูงและกว้างขึ้น จนนำไปสู่การประดับกระจกสีแบบสเตนกลาส จนทั้งหมดเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมแบบโกธิก
ภายในของมหาวิหารแห่งนี้ก็นับว่างดงามมาก และเต็มไปด้วยประติมากรรมสลักหินที่สวยงาม ที่สำคัญคือรูปแม่พระน็อทร์-ดามแห่งปารีส (Virgin of Paris) ที่เป็นตัวแทนของประติมากรรมแบบโกธิกสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่อ่อนช้อยและงดงามราวกับมีชีวิต
รูปพระแม่แห่งปารีส
Photo: wikipedia
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากมหาวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1160 จึงเก็บศิลปวัตถุที่สำคัญไว้เป็นจำนวนมาก เช่น มงกุฎของพระเยซู ซึ่งรอดจากไฟไหม้ด้วยความกล้าหาญของบาทหลวง ข่าวล่าสุดคือ มงกุฎนี้จะถูกนำไปเก็บรักษายังพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เช่นเดียวกันกับศิลปวัตถุอีกหลายชิ้นที่จะส่งมอบให้ดูแลเช่นกัน
ความสำคัญของมหาวิหารน็อทร์-ดามนี้ยังไม่หมดเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วโลกผ่านป๊อปคัลเจอร์ต่างๆ เช่น นิยายสุดคลาสสิกเรื่อง Hunchback of Notre-Dame ของ Victor Hugo ที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับมหาวิหารหลังนี้อีกครั้ง เพราะนิยายเล่มนี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงทำเป็นภาพยนตร์มากมาย หรือปรากฏเป็นฉากสำคัญในหนังหลายเรื่อง เช่น Midnight in Paris, Before Sunset หรือเรื่อง Van Helsing เป็นต้น
ดังนั้น การสูญเสียมหาวิหารแห่งนี้จากเหตุเพลิงไหม้ จึงเป็นการสูญเสียทั้งพื้นที่ศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและความทรงจำต่อปารีสของใครหลายคน
แนวทางการอนุรักษ์คืนสภาพอาคารหลังไฟไหม้
ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่ เนื่องจากมหาวิหารนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการบูรณะ และมีการทำ 3D Scan หรือการเก็บข้อมูลภาพด้วยระบบสามมิติไว้ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ คงจะไม่ยากนักที่จะคืนสภาพได้เหมือนก่อนไฟไหม้
ถึงอย่างนั้น เราน่าจะมาดูแนวทางว่า ปัจจุบันนั้นถ้าหากมีโบราณสถานหรืออาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้นั้น ปกติเขามีแนวทางในการจัดการอย่างไรบ้าง
ในเอกสารชื่อว่า Can We Learn from the Heritage Lost in a Fire? บรรณาธิการโดย อนุ ลอริลา (Anu Laurila) ซึ่งเป็นการบอกเล่าประสบการณ์การอนุรักษ์และปฏิบัติต่ออาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ได้อธิบายกระบวนการจัดการหลังไฟไหม้ไว้ว่ามีอยู่ 4 แนวทางที่พึงปฏิบัติ
อย่างแรก ถ้าหากอาคารเกิดความเสียหายจากไฟไหม้ทั้งหมด สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเร่งรวบรวมข้อมูลเอกสาร แผนผัง ภาพถ่าย ภาพวาดต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้าง วัสดุ และเทคนิคในการก่อสร้างเกี่ยวกับอาคารที่ถูกไฟไหม้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคืนสภาพ
อย่างไรก็ดี ลอริลาได้กล่าวว่า ควรมีการเก็บข้อมูลก่อนที่จะเกิดไฟไหม้ขึ้นเป็นดีที่สุด กันไว้ดีกว่าแก้ทีหลัง
คราวนี้ในกรณีของไทยเองนั้น มีอาคารที่สร้างด้วยไม้เป็นจำนวนมาก หากต้องทำทุกหลังคงเป็นไปไม่ได้ ลอริลาแนะนำว่าควรต้องมีการประเมินคุณค่าว่าอันไหนสำคัญเป็นอันดับต้น แล้วค่อยๆ บันทึกข้อมูลไปทีละหลัง
อย่างที่สอง การปกป้องอาคารหลังถูกไฟไหม้คือ การกันพื้นที่ไม่ให้คนเข้าไป และการสร้างวัสดุค้ำจุนโครงสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ให้ถล่มลงมา เช่น กรณีของโบสถ์ Tyrvää ในฟินแลนด์ที่กำแพงไม้ถูกไฟไหม้ ได้มีการสร้างวัสดุค้ำจุนชั่วคราวและเต็นท์คลุมไว้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้กำแพงถล่มและได้รับความเสียหายจากน้ำฝน
อย่างที่สาม มีทีมที่เก็บโบราณวัตถุ ชิ้นส่วนไม้ และประติมากรรมต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการคืนสภาพ
อย่างที่สี่ การคืนสภาพอาคารที่ถูกไฟไหม้นี้จะมีการประเมินการสร้างแทนที่ (Replaceability) แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับแรก มีความเป็นไปได้ในการสร้างแทนที่ใหม่ ระดับที่สอง มีความเป็นไปได้ในการสร้างแทนที่บางส่วน ระดับที่สาม ไม่สามารถสร้างแทนที่ได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายของตัวอาคาร ถ้าหากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากก็สมควรต้องสร้างแทนที่ขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยคงทั้งรูปแบบและวัสดุให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
จากนั้นจึงมาประเมินว่าอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปนี้มีคุณค่าใดบ้าง เช่น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน ส่งผลต่อภูมิทัศน์ของพื้นที่อย่างไร ประโยชน์ในการใช้งาน ความเป็นไปได้ของการสร้างคืนสภาพ เช่น ความสามารถของช่าง วัสดุ และงบประมาณ
อย่างไรก็ดี นอกจากรัฐบาลจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะสร้างใหม่ดีหรือไม่แล้ว ลอริลามองด้วยว่า ต้องถามความเห็นของคนในท้องถิ่นด้วยว่า ยังต้องการอาคารหลังใหม่ด้วยหรือไม่
มีเรื่องหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ ในต่างประเทศมักข้ามพ้นแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์อาคารเพื่อใช้เป็นเครื่องบ่งบอก ‘อารยธรรม’ ของชาติมานานแล้ว แต่เขามองกันที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์และอื่นๆ ประกอบ ดังนั้น หากอาคารหลังใดในไทยเกิดไฟไหม้ขึ้นมาแล้วต้องการอนุรักษ์คืนสภาพ ก็คงต้องสำรวจความคิดของเราไปพร้อมกันด้วยครับ
สุดท้าย มีเรื่องที่ควรพูดด้วยคือ ในขณะที่ผู้คนทั่วโลกต่างสลดหดหู่กับการสูญเสียครั้งนี้ แต่กลับมีคนไทยบางคนนอกจากมองไม่เห็นความสำคัญของมหาวิหารแห่งนี้ แต่ซ้ำเติมและวนเวียนกับแนวคิดที่ตกค้างมาจากปมปัญหาทางประวัติศาสตร์ในสมัยอาณานิคมและการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การศึกษาและสิ่งแวดล้อมแบบไหนหนอที่ผลิตคนแบบนี้ขึ้นมา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.thenational.ae/arts-culture/film/notre-dame-cathedral-in-popular-culture-the-parisian-landmark-is-so-much-more-than-just-a-building-1.849739
- www.facebook.com/Arch.kidyang
- www.facebook.com/1446556965622503/photos/a.1449779655300234/2311794829098708/?type=3&theater
- en.wikipedia.org/wiki/Notre-Dame_de_Paris