พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แปลสำนวน ‘ไม้ใกล้ฝั่ง’ ไว้ว่า ‘แก่ใกล้จะตาย’
นับเป็นคำที่ให้ความหมายตรงไปตรงมา เป็นนิยามที่ไม่ถนอมน้ำใจคนแก่เอาเสียเลย
กลางเดือนกันยายน 2567 ผู้เขียนจะมีอายุครบ 76 ปี ถือเป็นวัยไม้ใกล้ฝั่ง
ไม่ว่าเราอยากได้หรือไม่อยากได้ ต้องการหรือไม่ต้องการ ชราวัยก็มาถึงโดยไม่ขึ้นต่อเจตจำนงใดๆ ของเรา
เดินขึ้นรถไฟฟ้าก็มีหนุ่มหรือสาวสละที่นั่งให้ แม้ว่าเราจะออกท่าออกทางกระฉับกระเฉงแล้วก็ตาม
ส่องกระจกมองใบหน้าก็พบรอยตีนกากระจายทั่ว มองผิวพรรณบนร่างกายก็ยับย่น มีอย่างเดียวที่ตึงคือหู
เดินไปซื้อของที่ตลาด แม่ค้าเรียก ‘ลุง’ นับว่ายังมีดีที่ไม่เรียก ‘ปู่’ ตามที่หลาน 4 คนชอบเรียก
ในมุมหนึ่งนั้น คนแก่ย่อมภาคภูมิใจได้ว่า ‘แก่’ เป็นประสบการณ์ที่คนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ เด็กและคนหนุ่มสาวจะมีทรัพย์ มีความรู้มากมายเพียงไรก็ไม่สามารถเข้าถึงได้
ผู้เขียนเกิดที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เรียนอุดมศึกษา จบคณะรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานหลายประเภท เคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน, ทำรายการวิทยุและโทรทัศน์, ทำบริษัทฝึกอบรมทางธุรกิจ, เป็นผู้บรรยายพิเศษ, เล่นเครื่องดนตรีแบบสมัครเล่น, เขียนกลอน, เขียนบทความลงสื่อ, ทำงานมูลนิธิทางสังคม ฯลฯ จึงเป็นช่วงชีวิตหลากประสบการณ์ หลายบทเรียน จนงงๆ เหมือนกันว่าจะเรียกตนเองว่ามีอาชีพอะไร เป็นนักอะไรกันแน่
เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่งอย่างนี้แล้ว จึงขอทบทวนตรวจตราตนเองว่า ผ่านชีวิตมาจนวันนี้ มีอะไรที่ตกผลึกเป็นคุณค่าให้ตนเองได้
ใช่หรือไม่ว่า เราทุกคนล้วนอยู่ในกระแสแห่งโลกธรรม 8 ด้วยกันทั้งนั้น คือ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข, เสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทา และทุกข์ ทั้งๆ ที่รู้แต่กลับก้าวไม่พ้นปรุงแต่งจิตของตนเอง
เช่น เพียงเขาสะกดชื่อของเราผิด เราก็ออกอาการไม่พอใจเขาแล้ว
เขียนอะไรลงใน Facebook หรือกลุ่ม LINE อุตส่าห์ตั้งใจเขียนให้ดีทันยุคทันสมัย หวังว่าจะมีคนกดไลก์กดแชร์กันมากมาย แต่กลับผิดหวังเพราะมีคนสนใจเพียงน้อยนิด
ถ้ามีคนชื่นชมกลับมา มีกดไลก์เยอะๆ ก็เป็นปลื้ม จิตฟูฟ่อง พอมีคนโต้แย้งก็จิตแฟบแล้วโต้กลับ กลายเป็นคู่วิวาทในก๊วน LINE นั้นๆ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่จิตของเราถูกกักขังไว้ด้วยการปรุงแต่งของตัวเราเอง
อิสรภาพที่อยู่เหนือจิตปรุงแต่งทั้งปวงจึงเป็นสิ่งมีค่านักของคนไม้ใกล้ฝั่ง
ใช่หรือไม่ว่า ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน นับแต่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2516 การเข้าสู่เขตป่าเขาร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ อันเนื่องมาจากภัยคุกคามของฝ่ายการเมืองคู่ตรงข้าม การทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาตลอดจนการแสดงทัศนะทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ เราเคยทำตนเป็นผู้เรียกร้องทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม กระทั่งทางความคิด และความประพฤติของคนอื่น แล้วปักใจว่าเขาจะต้องเดินตามข้อคิดของเรา ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ถ้าเขาไม่ตอบสนอง ก็ออกอาการไม่พอใจ ทำตนประหนึ่งว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่ผู้คนและสรรพสิ่งทั้งหลายจะต้องหมุนรอบตัวเรา
เอาความถือดีอะไรจากไหนมาเป็นผู้ชี้ขาดความถูกต้องของโลกและสังคม
ความจริงแล้วคนอื่นๆ ล้วนมีวาระที่สำคัญของตนเองด้วยกันทั้งนั้น ข้อเสนอของเราจะวิเศษต่อสังคมอย่างไร หรือจะดีต่อตัวเขาอย่างไร ไม่สำคัญไปกว่าอาการเล็บขบที่เขากำลังระบมนิ้วเท้าอยู่
คิดได้อย่างนี้จึงพยายามไม่ชี้ผิดชี้ถูกคนอื่น ไม่เรียกร้องคนอื่น ไม่กำหนดคนอื่น ไม่ระทมทุกข์กับคนที่ไม่ตามใจเรา ท่าทีที่ถูกต้องคือการนำเสนอสิ่งที่คิดสิ่งที่ต้องการออกไป ถูกผิดเป็นวินิจฉัยของอีกฝ่ายหรือคนอื่นที่จะพิจารณา
ใช่หรือไม่ว่า เสรีภาพแห่งการกำหนดตนมีค่ากว่าคำเรียกร้องของคนอื่นที่มีต่อเรา
ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยวิธีเลือกตามกลุ่มอาชีพตามที่เป็นข่าว มีความเคลื่อนไหวของผู้ที่สนใจ
เพื่อนมิตรที่ปรารถนาดีออกปากยุให้ผู้เขียนสมัครเป็น สว. โดยชี้ว่า “ชื่อชั้นของคุณมีโอกาสที่จะได้รับเลือก สมัครเถอะ จะได้ไปทำหน้าที่เพื่อชาติแทนพวกเรา”
ผู้เขียนตอบขอบคุณด้วยอารมณ์สนุกๆ ว่า “กลัวได้เป็น” บางครั้งกับบางคนก็ตอบว่า “แก่แล้ว”
ผู้เขียนเป็น สว. มาแล้ว 2 ครั้ง ในเวลานั้นไม่ได้หายใจเปล่าเปลือง แต่ได้ทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบตามสมควร
ถ้ายังติดหลุมพรางว่าเวทีวุฒิสภา เราจะต้องเป็นคนที่ขาดเสียมิได้ ก็นับเป็นบาปกรรมของสังคมไทย คนรุ่นใหม่มีมากมายที่เขามีกำลังวังชามากกว่า มีความคิดทันโลกทันเหตุการณ์ และไปไกลมากกว่าเรา แล้วจะไปแย่งชิงที่นั่งเขาทำไม แก่แล้วมีแต่ต้องปลดเครื่องหลังทิ้งไปต่างหาก เราจึงควรเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่ใช่ไปเคลื่อนคล้อยตามความต้องการของคนอื่น และเราก็ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะทำอะไรๆ ดีไปหมดทุกเรื่อง
ชีวิตคนคนหนึ่งนั้นมี ‘โลกแห่งความใฝ่ฝัน’ กับ ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ ที่อาจไปหรือไม่ไปด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ไปด้วยกัน
เพราะเหตุที่เราไม่ยอมรับความเป็นจริงว่า โลกนี้มีสิ่งที่เราจัดการไม่ได้เรียงรายเต็มไปหมด เราจึงข้องจิต เราจึงขัดใจตนเอง
หลังชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนที่มีต่อเผด็จการ เมื่อ 14 ตุลาคม 2516
ความใฝ่ฝันแสนงามคือ บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข สังคมไทยจะเป็นอารยะ ดอกไม้ประชาธิปไตยจะเบ่งบานไปทุกตารางนิ้วบนแผ่นดิน
แต่โลกแห่งความเป็นจริงบอกเราว่าไม่ใช่ สังคมไทยยังเผชิญกับวิกฤตทุนสามานย์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเผด็จการย้อนกลับ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ที่เกิดขึ้นซ้อนทับกันมาตลอด 51 ปีแล้ว แถมยังโถมทับสังคมไทยหนักหน่วงยิ่งขึ้น
ตอนเข้าป่าระหว่างปี 2519-2524
ความใฝ่ฝันคือ อุดมการณ์สังคมนิยมที่สังคมเสมอภาคไม่มีใครกดขี่ใคร ไม่มีชนชั้นผู้ขูดรีดกับผู้ถูกขูดรีดอีกต่อไป
แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ ‘เลือดต้องล้างด้วยเลือด’ ไม่ใช่สังคมที่ ‘อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน’ ผู้คนในสังคมล้วนมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ความรู้สึก สุขโศก ทุกข์เศร้า หนาวร้อน อุ่นเย็น ไม่ใช่ถูกกำหนดให้เป็นเพียงแค่หน่วยผลิตที่จะได้รับผล ตอบแทนตามความจำเป็นเพียงเพื่อการยังชีพ โดยทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนกลางตามทฤษฎีของ คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ์
เรื่องโรคโควิดระบาด เรื่องสงครามที่ฉนวนกาซา เรื่องโลกร้อน เรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แม้แต่เรื่องน้ำท่วมภาคเหนือที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนเชียงราย เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัด ล้วนแต่เป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
ตั้งแต่เรื่องเล็กที่ใกล้ตัวไปถึงเรื่องใหญ่ของชุมชน สังคม และโลก เรารู้สึกขัดแย้งเพราะเราหมายใจจะไปบันดาลสรรพสิ่งตามทิศทางที่เราต้องการ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ขึ้นกับเจตจำนงของเราเลย
เราอาจใช้ความพยายามแทบตายในปัญหาที่เกิด แต่ถ้ามันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของเหตุปัจจัย มันก็จะเป็นจริงไปไม่ได้ ดังที่มีการเปรียบเทียบว่า ไข่ไก่เมื่อมีแม่ไก่มาฟักหรือมีอุณหภูมิพอเหมาะ มันย่อมแตกเปลือกออกมาเป็นลูกไก่ได้ เพราะไข่ไก่มีเชื้อพร้อมจะฟักเป็นตัว แต่ถ้าเอาไข่ไก่ไปใส่ตู้เย็นจะแตกเปลือกเป็นลูกไก่ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม เอาก้อนหินไปให้แม่ไก่ฟัก อย่างไรก็จะให้เป็นลูกไก่ไปไม่ได้ เพราะก้อนหินไม่มีเชื้อภายในที่จะฟักเป็นตัวไก่ได้ แม้ว่าอุณหภูมิจะพอเหมาะก็ตาม
ปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอกจึงต้องเอื้อต่อกันและกัน ปัจจัยภายในผ่านได้ ปัจจัยภายนอกเอื้ออำนวย ความฝันจึงจะเป็นจริง
เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ชีวิตหนึ่งที่ประกอบส่วนเข้ากับโลกใบนี้ เราไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่จากไหนเลย เราไม่ใช่ผู้บัญชาการสรรพสิ่ง ไม่ใช่ผู้กำหนดสรรพธรรมชาติ ธรรมชาติต่างหากที่กำหนดเรา เรามีแต่ต้องค้อมคารวะต่อดิน น้ำ ลม ฟ้า ป่าเขา ผู้คน และสรรพชีวิตที่เปิดทางให้เราได้มีชีวิตร่วมบนโลกใบนี้
ความแก่จึงเป็นยุ้งฉางสั่งสมความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ตรงเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นคลังสมบัติแห่งความตระหนักรู้ในชรานุสติ
บันทึกของไม้ใกล้ฝั่งนี้เป็นการเตือนตนว่า เราพึงยอมรับความเป็นจริงอย่างที่มันเป็นตามเหตุปัจจัยของมันเอง ไม่ใช่ไปกะเกณฑ์ให้มันเป็นตามปรารถนาด้านเดียวของเรา
ถ้าอะไรมันไม่เป็นตามที่เราคิด ก็จงเข้าใจเถิดว่านั่นคือความเป็นจริงที่เราต้องต้อนรับ
คิดเช่นนี้ไม่ใช่การวางเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นการยอมรับความเป็นจริงของ ตถตาว่า ‘มันเป็นเช่นนั้นเอง’ ทุกสิ่งอย่างเคลื่อนคล้อยไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องในตัวของมันเอง
ภาพเขียน: ธีรยุทธ บุญมี
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติร้อยเรียงพุทธพจน์คำบาลีเป็นกวีชื่อ ‘กาลเวลา’ ไว้งดงามว่า
กาลเวลากลืนกินสรรพสัตว์
กาลเวลากร่อนกัดสรรพสิ่ง
นี้คือสัจธรรมความเป็นจริง
ถูกทอดถูกทิ้งท่ามกลางกาล
เวลาคือผู้ให้การเกิดมา
และเวลาก็ให้การประหาร
นิมิตรสิ่งมิ่งทิพยวิมาน
นิมิตรสิ่งสาธารณ์ ณ มณฑล