เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล เผยว่าไฟป่าแอมะซอนอาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด เป็นข่าวลวงเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและโจมตีรัฐบาล พร้อมระบุว่าส่งทหารและคณะทำงานเข้าพื้นที่ประสบเหตุไฟป่าแล้ว โดยก่อนหน้านี้เขากล่าวโทษว่าไฟป่าในแอมะซอนบางส่วนเป็นการจัดฉากของกลุ่ม NGOs ที่ไม่พอใจหลังถูกรัฐบาลลดเงินสนับสนุนมากกว่าเกิดจากนโยบายที่เน้นการพัฒนามากกว่าการอนุรักษ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล (INPE) เผยว่าสถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอนยังคงน่าวิตก นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 25 สิงหาคม 2019 บราซิลตรวจพบไฟป่าในแอมะซอนกว่า 80,620 จุด เพิ่มขึ้นเกือบ 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2018 (45,086 จุด) ซึ่งถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013
ผู้นำประเทศเจ้าของฉายา ‘ทรัมป์-ดูเตร์เตแห่งบราซิล’ ยังได้ประณามประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่วิพากษ์วิจารณ์การจัดการต่อสถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอนครั้งนี้ของบราซิล พร้อมระบุว่าประชาคมโลกจะร่วมมือกันดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อบราซิลเนื่องจากเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุดังกล่าวสามารถพบได้ทั่วไปทั่วโลก หลังรัฐบาลฝรั่งเศสและไอร์แลนด์เผยว่าพวกเขาจะไม่รับรองการเจรจาทางด้านการค้ากับกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฟินแลนด์ก็เรียกร้องให้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปแบนการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อวัวจากบราซิลเพื่อกดดันให้รัฐบาลจัดการกับวิกฤตไฟป่าอย่างจริงจัง
ทางด้าน รูเบน ริกูเปโร อดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ระบุว่า “การบริหารงานของโบลโซนารูที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำประเทศที่น่าดูหมิ่นเหยียดหยามมากที่สุดในโลก ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีภัยพิบัติใดสร้างแรงกระเพื่อมและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เชิงลบของบราซิลได้เท่ากับไฟป่าในครั้งนี้”
ในขณะที่ มารินา ซิลบา อดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของบราซิลเมื่อปี 2003-2008 ระบุว่า ริการ์โด ซาเยส รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบันไม่ใช่รัฐมนตรี เขาไม่เคยทำหน้าที่ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเลย ปัญหาพื้นที่ป่าแอมะซอนถูกทำลายไม่ใช่ปัญหาใหม่ในบราซิล แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาก็ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ เสมอมา เนื่องจากผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลกกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในบราซิล
ภาพ: Sergio Lima / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: