“ผมจะจ่ายค่าผ่าตัดเข่าให้แม่ แล้วก็ค่ารักษาต้อกระจกของพ่อด้วย ผมเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว พ่อแม่จะได้อยู่สบาย หลังจากที่ผมได้งานประจำนะครับ” คิมซอนอู – Move to Heaven
ถ้ามองด้วยสายตาคนทั่วไป การเรียนมหาวิทยาลัย ได้ทำงานประจำ และมีเงินมาดูแลพ่อแม่ คือความฝันขั้น ‘พื้นฐาน’ ที่ใครคนหนึ่งควรมี แต่ในซีรีส์ Move to Heaven EP.1 สิ่งนี้กลายเป็นความฝันขั้น ‘สูงสุด’ ของคิมซอนอู เด็กหนุ่มน่าสงสารที่แค่คิดฝัน ก็ยังมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น
ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือเขาทำได้แค่ฝัน ทุกอย่างพังทลาย เมื่อสุดท้ายเขาต้องจบชีวิตอย่างเดียวดายและน่าเศร้า เพียงเพราะไม่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างทันท่วงที
และสิ่งที่น่าเศร้าไม่แพ้กัน คือช่วงเวลาที่ภาพในซีรีส์ซ้อนทับขึ้นมากับเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เข้าขั้นวิกฤต ผู้ป่วยหลายคนเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าในห้องเช่าเล็กๆ เช่นเดียวกับคิมซอนอู
ถึงแม้พ่อแม่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน แต่คิมซอนอูก็เติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง ทันที่ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเข้าฝึกงานที่บริษัทแห่งหนึ่งเพื่อเก็บเงินเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย
ในขณะที่วัยรุ่นหลายคนได้เล่นสนุก แต่ชีวิตของคิมซอนอูไม่มีอะไรมากกว่าการ ทำงาน เก็บเงิน อ่านหนังสือ คิดถึงพ่อแม่ ตัดเล็บ ฉีดสเปรย์ดับกลิ่นเข้าไปซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อ ที่การได้คุยกับพนักงานเก็บเงินคือสิ่งเดียวที่พอจะเรียกรอยยิ้มให้ปรากฏขึ้นมาได้บ้าง
ความยากจนไม่ใช่อุปสรรคหนึ่งเดียวของความฝัน เพราะเขาอดทนมากพอที่จะประหยัด อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ที่แทบไม่มีพื้นที่วางของ อาหารทำให้อิ่มท้องมีแค่คิมบับสามเหลี่ยมที่เลือกรสชาติไม่ได้ เพราะซื้อได้เฉพาะเวลา 1 แถม 1 และบะหมี่ถ้วยที่ช่วยประทังชีวิตในมื้อเร่งด่วน
เพราะสิ่งที่ขัดขวางความฝันของเขาจริงๆ คือ กลุ่มรุ่นพี่ร่วมงาน โดยเฉพาะ ‘หัวหน้า’ ที่เอารัดเอาเปรียบใช้ให้คิมซอนอูไปซ่อมเครื่องจักรที่ชำรุดกลางดึกเพียงคนเดียว เมื่อรู้ว่าคิมซอนอูบาดเจ็บที่ขาเพราะอุบัติเหตุ ก็บอกให้ไปหาหมอแต่เช้า แล้วรีบกลับมาทำงานให้ทัน พร้อมคำขู่ว่าถ้าไม่อยากโดนไล่ออก ห้ามบอกเรื่องนี้กับหมอเด็ดขาด
สุดท้ายแผลของคิมซอนอูติดเชื้อบาดทะยัก ป่วยหนักขึ้นเรื่อยๆ เสียชีวิตเพียงลำพังไม่มีคนสนใจ ไม่มีแม้โอกาสได้คุยกับหมอ ภาพและเสียงในซีรีส์ซ้อนทับกับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างน่าหดหู่
นอกจากไม่ยอมรับความผิด หัวหน้าแผนกยังมาที่งานศพ บอกกับพ่อและแม่ของคิมซอนอูว่าเขาเสียชีวิตที่ห้องพัก ไม่นับว่าเป็นอุบัติเหตุในโรงงานที่บริษัทต้องรับผิดชอบ แต่ก็ยังตีหน้าซื่อพูดว่าเสียใจ ขอรับผิดชอบทางจริยธรรมด้วยเศษเงินในซองขาว และคำปลอบใจปลอมๆ ว่า
“เราเองก็สงสารเด็กนั่นจับใจ ทุกคนเอ็นดูเขามาก เศร้ากันสุดๆ เลยครับ ถ้าอย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็สู้ๆ นะครับ”
คำพูดว่า “สู้ๆ นะครับ” ที่ฟังจากดาวอังคารก็รู้ว่าไม่จริงใจของ ‘หัวหน้าแผนก’ ซ้อนทับกับ ‘หัวหน้า’ อีกคนหนึ่งที่ล่าสุดเพิ่งตอบคำถามวิกฤตโควิด-19 ด้วยคำพูดทำนองว่า
“คนที่จะแก้ปัญหาให้กับเราก็คือคนไทยทุกคนนะจ๊ะ”
“มันมีหมดแหละปัญหา แต่เชื่อใจฉันไหม ฉันจะทำให้สำเร็จ”
“รัฐบาลดูแลหมด โอเคไหมจ๊ะ”
แล้วก็ชูสองนิ้วเป็นรูตัว ‘V’ เล่นมุก หัวเราะเอิ๊กอ๊ากกับทีมงานที่อาจคิดกันไปเองว่านี่คือการสร้างความมั่นใจ แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ได้ยินแล้วรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะนอกจากคำพูด ไม่มีใครมองเห็นถึงวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เห็นแต่การปฏิเสธความรับผิดชอบ โยนภาระให้คนอื่น และที่สำคัญที่สุด คือสัมผัสไม่ได้ถึงความจริงใจ
นอกจากไม่ตักเตือนเมื่อหัวหน้าทำผิด เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็รู้สึกโล่งใจที่คุณพ่อและคุณแม่ของคิมซอนอูยากจน มาจากต่างจังหวัด แถมยังพูดไม่ได้ เพราะถ้าทั้งคู่ ‘เสียงดัง’ มากกว่านี้ เรื่องทั้งหมดคงไม่เงียบหายไป
เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่ ‘ไร้เสียง’ ของคุณแม่คิมซอนอู จึงไม่ต่างอะไรกับ ‘เสียง’ ของผู้ป่วย เสียงของประชาชนคนธรรมดา เสียงของบุคลากรทางการแพทย์ เสียงของคนในครอบครัวที่ ‘ไร้พลัง’ ต่อให้เจ็บปวด ตะโกน เรียกร้องจนเจ็บเจียนตายก็ไม่เคยถูกรับฟัง จนสุดท้ายหลายชีวิตต้องจากโลกนี้ไปจริงๆ โดยผู้ป่วยหลายชีวิตไม่มีโอกาสได้เห็นแม้แต่ขาเตียงผู้ป่วยด้วยซ้ำ
“เขาเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนเพื่อนๆ ไม่ได้เพราะเราจนมาก แต่คุณให้งานเขา ฉันเลยบอกให้เขาพยายามเต็มที่ ตอบฉันหน่อย ลูกชายของฉันเคยทำงานครึ่งๆ กลางๆ หรือขัดคำสั่งคุณไหม คุณจะทำแบบนี้ไหมถ้าเขาเป็นลูกคุณ ถึงจะตายเพราะเงินนั่น ฉันก็ไม่ขอแลกกับชีวิตลูกชายเด็ดขาด”
คุณแม่คิมซอนอูพรั่งพรูความรู้สึกผ่านภาษามือด้วยความเจ็บปวด เมื่อรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย แล้วหัวหน้าแผนกได้แต่ก้มหน้าเงียบ เพราะตอบคำถามไม่ได้ว่าคิมซอนอูทำอะไรผิด
เหมือนที่กับหลายคนคงอยากได้ยินคำตอบจาก ‘หัวหน้า’ คนนี้เหมือนกันว่าพวกเราทำอะไรผิด ทำไมหลายคนไม่ได้รับการรักษา ทำไมวัคซีนที่ควรมายังมาไม่ถึง ทำไมต้องมีชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน อยู่กับตัวเลขเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ยังไม่เคยได้ยินแผนการว่าจะทำได้อย่างไร อยู่กับการเล่นคำไปมาจะ ‘ล็อก’ หรือไม่ล็อก (แล้วสั่งปิดแค่แคมป์ก่อสร้าง) และอยู่บนโลกที่มองไม่เห็นว่า ‘อนาคต’ ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ฯลฯ
ไม่จำเป็นต้องตอบด้วยน้ำเสียงหวานหู ไม่ต้องเล่นมุก ไม่ต้องชูสองนิ้ว ไม่ต้องบิลด์อารมณ์ขัน หรือสรรหาถ้อยคำสวยหรู แล้วลงท้ายประโยคด้วย ‘นะจ๊ะ’
ขอแค่มองตาทุกคนที่กำลังลำบาก แล้วตอบทุกคำถามอย่างจริงใจก็พอ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: