×

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาด ‘งดถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวัน’ ลดการใช้ถุง 9 พันล้านใบต่อปี ยื่นเสนอ 10 ข้อต่อรัฐ กระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าใจ

02.12.2019
  • LOADING...

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งที่มาของถุงพลาสติกหูหิ้วได้จาก 3 แห่งด้วยกัน คือ 40% มาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย จำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี อีก 30% มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี 

 

ที่เหลือ 30% มาจากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน

 

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ผนึกกำลังกับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมืองดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 

 

โดยนับแต่เริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562 สามารถช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วไปแล้วกว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หรือราว 4.6% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด

 

จากความสำเร็จนี้เอง สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมองว่า หากสามารถต่อยอดมาสู่แคมเปญ ‘งดให้ งดรับ’ ถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวัน หรือ Everyday Say No To Plastics Bags และนำมาใช้ในปี 2563 อย่างจริงจัง คาดว่า จะสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากถึง 9,000 ล้านใบต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด จึงได้ประสานงานและเพิ่มจำนวนร้านค้าภาคีในเครือข่ายสมาคม 42 ร้านค้า เพิ่มเป็น 75 ร้านค้า ที่มีช่องทางจำหน่ายกว่า 24,500 ช่องทาง ยืนยันที่จะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างจริงจัง 

 

“เราหวังว่า การเข้าร่วมอย่างจริงจังจะสามารถสร้างพฤติกรรมและทัศนคติต่อผู้บริโภคในการร่วมลด ละ เลิก ขยะพลาสติกได้เร็วกว่าโรดแมปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดว่า ถุงพลาสติกจะหมดไปในปี 2571”

 

ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐจำนวน 10 ข้อ เพื่อทำให้แคมเปญดังกล่าวมีประสิทธิผลมากขึ้น 

 

  1. ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบ และร่วมด้วยช่วยกันงดรับถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างทั่วถึง จากข้อมูลการวิจัย ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ ที่กำหนดให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าในภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่ประชาชนในต่างจังหวัดมีสัดส่วนการรับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวน้อยมาก

 

  1. ภาครัฐควรศึกษาเส้นทางการจับจ่ายของลูกค้า Customer Journey อย่างเข้าใจและเข้าถึง ทั้งนี้ การประชาสัมพันธ์ที่เกิดผลสูงสุด จะต้องให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ตั้งแต่อยู่บ้าน ที่ทำงาน หรือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการจับจ่าย ซึ่งการประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น

 

  1. ภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่เข้าร่วมแคมเปญมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมแคมเปญ นับตั้งแต่ร้านค้าปลีกอื่นๆ ตลาดสดเทศบาล เอกชน แผงลอย และร้านขายของชำ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้วอีก 4 ใน 5 ของปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งประเทศ

 

  1. ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและชัดเจนในการทำโครงการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และกำหนดโลโก้ งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นสากลและมาตรฐาน เพื่อที่ร้านค้าต่างๆ จะได้นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค (ดังตัวอย่าง ฉลากเบอร์ 5 ลดการใช้พลังงาน)

 

  1. ภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลดใช้ งดใช้ถุงพลาสติกเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ห้างร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนำเงินที่ผู้บริโภคบริจาคจากการต้องใช้ถุงพลาสติกในกรณีจำเป็น

 

  1. สมาคมฯ มีความเห็นว่า การลดขยะถุงพลาสติกหูหิ้วไม่ควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ควรเป็นเรื่องการใช้กฎระเบียบบังคับ เพราะสมาชิกสมาคมฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี โดยเป็นภาคสมัครใจและให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ยังได้ผลน้อยมาก

 

  1. สมาคมฯ มีความเห็นว่า การจะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้ได้ผล ภาครัฐต้องออกเป็นประกาศกฎกระทรวงออกมา ให้มีผลบังคับใช้กับผู้บริโภคทุกคนทั่วทั้งประเทศ

 

  1. การประเมินผลสัมฤทธิ์ของแคมเปญ ควรจะให้การดำเนินแคมเปญผ่านไปแล้ว 6 เดือน ทั้งนี้ ช่วงระยะ 6 เดือนแรก เป็นช่วงที่ร้านค้าและผู้บริโภคจะต้องปรับตัวและปรับพฤติกรรมให้เตรียมพร้อมในการจับจ่ายแต่ละครั้ง ด้วยการเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกอื่นๆ ก่อนที่จะเดินเข้าร้าน

 

  1. ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตลอดช่วง 6 เดือนแรก เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของโครงการ

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริโภคจะเข้าใจและตระหนักรู้ถึงวิกฤตของขยะพลาสติกที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมมาจับจ่ายและรับทราบว่า ร้านค้าจะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป 

 

ในระยะแรกของโครงการอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจับจ่าย แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะเป็นแบบอย่างในการรณรงค์ลดขยะพลาสติก และส่งผลให้ร้านค้า ตลาดสด และส่วนงานอื่นๆ ที่เหลือ เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมพร้อมๆ กัน และเป็นพลังร่วมกันทั้งประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising