×

ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน: สู่ภาคปฏิบัติ ช่วย 13 ผู้ต้องโทษ ออกคุกบำเพ็ญประโยชน์แทนถูกขังเหตุไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

30.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดตัวโครงการ ‘ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะความจน’ ไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ล่าสุดได้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ต้องโทษ 13 รายที่ต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับ ให้สามารถออกจากคุกมาทำงานสาธารณประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับได้
  • ผลจากการดำเนินโครงการพบว่า ผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ไม่ทราบสิทธิของตนเองและมีข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกัน

วานนี้ (29 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษาจากรายวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย แถลงข่าวผลการดำเนินโครงการ ‘ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะความจน ตอน ปฏิบัติการนักศึกษากฎหมายช่วยคนจนออกจากคุก กรณีติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ’ ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงพื้นที่เรือนจำ ประชาสัมพันธ์ และดำเนินการช่วยเหลือผู้ต้องโทษยากจนที่ต้องมาติดคุกแทนการจ่ายค่าปรับให้สามารถขอศาลพิจารณาอนุญาตให้ทำงานสาธารณประโยชน์แทนได้

 

 

กักขังแทนค่าปรับคืออะไร ใครต้องเผชิญชะตากรรม

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้ต้องโทษปรับ แต่ผู้นั้นไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับหรือไม่มีทรัพย์มาให้ยึดแทนการเสียค่าปรับ จะต้องถูกกักขังแทนการเสียค่าปรับในอัตราวันละ 500 บาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่หากค่าปรับนั้นสูงกว่า 2 แสนบาท จะสามารถถูกขังได้ไม่เกิน 2 ปีจนกว่าจะครบตามที่ศาลสั่ง หรือเมื่อชำระค่าปรับครบ ซึ่งหมายความว่าต้องมีคนมาติดคุกเพียงเพราะความยากจน ไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับ และถือว่าเป็นการซ้ำเติมผู้กระทำความผิดที่ไม่มีทุนทรัพย์อีกด้วย

 

การถูกกักขังนั้นถือเป็นโทษคนละอย่างกับการถูกจำคุก เพราะยังไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นนักโทษ โดยโทษกักขังจะสามารถใช้ได้ใน 2 กรณีคือ เมื่อบุคคลนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี หรือเมื่อบุคคลนั้นไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับ แต่อย่างไรก็ตามผู้ต้องโทษกักขังจะถูกจองจำไว้กับนักโทษในเรือนจำ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันเรือนจำในประเทศไทยประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นความจุ กว่า 1 ใน 3 ของผู้ต้องขังคือผู้ที่กำลังรอคำพิพากษาอยู่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่และไม่ควรถูกปฏิบัติเสมือนเป็นนักโทษเพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัวหรือจ่ายค่าปรับ

 

จากจุดเริ่มต้นสู่การช่วยเหลือของนักศึกษาวิชากฎหมาย

ถึงแม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ผู้ต้องโทษสามารถขอทำงานสาธารณประโยชน์แทนการเสียค่าปรับได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีกรณีน้อยมากที่ศาลจะอนุญาต จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าวที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาและช่วยเหลือประชาชน โดยได้มีการริเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ภาคการศึกษาที่แล้วที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะขยายมายังเรือนจำอื่นๆ อีก 4 แห่งในภาคการศึกษาปัจจุบัน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความเป็นธรรมในชีวิตจริงและเข้าใจถึงปัญหาของกฎหมายในประเทศไทยก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาและเติบโตขึ้นมาเป็นนักกฎหมายในอนาคต

 

จากนั้นตัวแทนนักศึกษา 5 กลุ่มที่ได้ลงพื้นที่ตามเรือนจำต่างๆ 5 แห่งได้ออกมานำเสนอผลการดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่ ปัญหาที่พบ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้

 

 

กลุ่มที่ได้ลงพื้นที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพบว่า จากที่ได้เข้าไปประชาสัมพันธ์สิทธิให้กับผู้ต้องโทษในเรือนจำ และดำเนินการช่วยเหลือส่งคำร้องไปยังศาล 9 ราย กลับไม่มีผู้ต้องโทษรายใดเลยที่ได้รับอนุญาตจากศาลให้สามารถทำงานสาธารณประโยชน์แทนได้ เพราะศาลเห็นว่าสภาพความผิดไม่สมควรอนุญาตเนื่องจากเป็นคดียาเสพติด ซึ่งตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงาน 1 วัน และแนวปฏิบัติในการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และการเปลี่ยนสถานที่กักขัง พ.ศ. 2546 ที่ศาลถือเป็นแนวทางพิจารณาอนุญาตนั้นถือว่าคดียาเสพติดเป็นคดีที่ผลกระทบต่อสาธารณชนส่วนรวม ส่งผลให้ศาลไม่อยากพิจารณาให้ขัดกับระเบียบและพิจารณาไม่อนุญาตไป

 

อย่างไรก็ตาม นักศึกษากลุ่มนี้มองว่า ระเบียบดังกล่าวมุ่งหวังที่จะใช้กับอาชญากรรมปกขาว (อาชญากรรมที่ก่อเหตุโดยการใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน เช่น คดีฉ้อโกง) มากกว่าอาชญากรรมปกน้ำเงิน (อาชญากรรมที่ก่อเหตุโดยผู้ที่มีฐานะทางสังคมที่ต่ำกว่า เช่น คดียาเสพติด) เพราะอาชญากรรมปกน้ำเงินมีผลกระทบต่อสังคมที่น้อยกว่าและเป็นความผิดที่กฎหมายไม่ได้มุ่งที่จะลงโทษในทางทรัพย์สินต่อผู้กระทำผิด ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไข ควรให้เรือนจำออกหนังสือรับรองคุณสมบัติผู้ต้องโทษว่าสมควรให้ไปทำสาธารณประโยชน์เพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาเป็นรายกรณีได้มากกว่าพิจารณาไปตามระเบียบ

 

 

เช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้ลงพื้นที่เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี นักศึกษากลุ่มนี้ประสบปัญหาเรื่องคดียาเสพติดเช่นเดียวกัน แต่เลือกที่จะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้มีการแก้ไขระเบียบดังกล่าวเพราะเห็นว่าไม่ชอบตามหลักความเสมอภาพ

 

ในขณะที่กลุ่มที่ได้ลงพื้นที่เรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ เลือกที่จะยื่นเรื่องผ่านพรรคการเมืองให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ที่ระบุให้ศาลสามารถสั่งกักขังแทนการจ่ายค่าปรับได้เป็นการบังคับให้ทำสาธารณประโยชน์ไปเลย

 

กลุ่มที่ได้ลงพื้นที่เรือนจำจังหวัดสระบุรียังพบอีกว่า ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การที่ผู้ต้องโทษไม่สามารถติดต่อญาติให้มาดำเนินการยื่นคำร้องได้ และตัวผู้ต้องโทษเองที่ไม่เข้าใจแบบเอกสาร ส่งผลให้การกรอกข้อมูลไม่ถูกต้องและถูกตีกลับคำร้อง

 

สำหรับแนวทางการแก้ไข ควรมีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำและติดตามเป็นรายบุคคล ซึ่งเรือนจำจังหวัดสระบุรีได้นำไปใช้และประสบความสำเร็จ สามารถยื่นคำร้องและได้รับการปล่อยตัวออกมาได้ภายในวันเดียวกันจำนวน 1 คน

 

 

ในส่วนของกลุ่มที่ได้ลงพื้นที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี เสนอให้ศาลแจ้งสิทธิให้กับผู้ต้องโทษทราบและปรับปรุงข้อกฎหมายให้กำหนดระเบียบเกณฑ์การยื่นคำร้องอย่างชัดเจนและสอดคล้องกัน เพราะที่ผ่านมาพบว่าเกณฑ์การยื่นคำร้องของแต่ละเรือนจำนั้นไม่เหมือนกัน

 

นักศึกษากลุ่มนี้ยังได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ต้องโทษในแต่ละวันอยู่ที่ 54 บาทต่อคน ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้มองว่าควรนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูนักโทษที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า และสามารถช่วยเหลือผู้ต้องโทษได้จำนวน 12 คน

 

ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ต้องโทษได้มากนัก เนื่องจากผู้ต้องโทษส่วนใหญ่กระทำความผิดในคดียาเสพติด แต่ ผศ.ดร.ปริญญา ย้ำว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จริงจังในเรื่องนี้และมุ่งหวังที่จะขยายโครงการนี้ต่อไปในอนาคต

 

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ปริญญา ได้ที่นี่

thestandard.co/no-one-is-in-jail-since-poorness

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising