×

ชัยธวัชปาฐกถา มองมรดกตกค้างจาก 6 ตุลา 19 คือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ประชาชนขาดเสรีภาพ ต้องไม่ติดคุกเพราะแสดงออกทางการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2023
  • LOADING...
6 ตุลา 19

วันนี้ (6 ตุลาคม) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในผู้กล่าวปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวในหัวข้อ ‘อีกกี่ตุลา (คม) สังคมไทยจึงจะพร้อมสำหรับเรื่องแหลมคม และการปูทางสู่ประชาธิปไตยในมุมมองของ ชัยธวัช ตุลาธน’

 

ชัยธวัชเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรับรู้ของตนที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งก็คงเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคมที่โตมากับแบบเรียนที่กล่อมเกลาให้เรารักในความเป็นไทย และสังคมไทยที่เปรียบเสมือนหมู่บ้านอันน่าอยู่ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงบสุข ไม่มีการพูดอะไรถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม จนบังเอิญได้ไปค้นเจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่นักเรียนทำขึ้นกันเองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เกี่ยวกับอุดมคติของคนหนุ่มสาว การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม รู้สึกว่าเป็นหนังสือรับน้องที่แปลกดี

 

จนมาปี 1 ได้รับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลา จริงๆ เพราะที่ลานข้างตึกในมหาวิทยาลัยปีนั้นมีการจัดนิทรรศการเล็กๆ ได้เห็นวิดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลา แบบเต็มๆ ครั้งแรก จำได้ว่ามีโอกาสไปดูละครเวทีกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาคม มีการชูคำขวัญ ‘ขอที่เล็กๆ ให้เราได้ยินและฝันบ้าง’ ก็ได้แต่รู้สึกว่ามันช่างเป็นคำขวัญที่เจียมเนื้อเจียมตัวเสียนี่กระไร ไม่ยิ่งใหญ่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าการขอให้มีที่ยืนเล็กๆ และฝันบ้างในสังคมไทยยิ่งใหญ่และมีนัยสำคัญอย่างไร ภายหลังจึงเข้าใจว่าสังคมไทยอนุญาตให้คนไทยมีอุดมการณ์ได้เพียงอุดมการณ์เดียว และหากใครคิดเป็นอื่นไปจากอุดมการณ์หลักของชาติ คนนั้นอาจผิดถึงตาย โดยที่ไม่มีใครมารับผิดรับชอบด้วย

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ยังคงตกค้างมาถึงปัจจุบัน และนำมาสู่การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ดังนั้นที่ผู้จัดงานให้โจทย์ว่า เมื่อไรสังคมไทยจะพร้อมสำหรับเรื่องแหลมคม ตนตอบไม่ได้จริงๆ แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการยืนยันและผลักดันในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ

 

  1. ช่วยกันทำทุกวิถีทางให้เกิดการยกเลิกวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ไม่ใช่แค่สำหรับ 6 ตุลา แต่ต่อทุกกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุสลายการชุมนุม จนเกิดความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ ค้นหาความจริง เรียกร้องกระบวนการยุติธรรมเอาผิดเจ้าหน้าที่และผู้บริหารประเทศในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553

 

  1. ทำให้เกิดการยืนยันในหลักการว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่มีใครต้องติดคุกจากการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการต่อสู้ผลักดัน เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง กฎหมายต่างๆ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าคือ การผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะสังกัดความคิดทางการเมืองแบบใด 

 

“เพื่อยืนยันว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ที่ไม่ควรเอาไปติดคุก นี่คือประตูบานแรกที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝั่งฝ่ายที่เคยขัดแย้งกันมีพื้นที่ปลอดภัย ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแสวงหาฉันทมติใหม่ของสังคมไทยต่อไปในอนาคต” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชยังกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้การเมืองไทยกำลังเดินทางเข้าสู่หมุดหมายใหม่ จากเดิมในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เป็นช่วงเวลาทางการเมืองที่ขัดแย้ง ปะทะ และต่อสู้กัน ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองแบบจารีตที่ไม่มีฐานมาจากการเลือกตั้ง ปะทะกับชนชั้นนำทางการเมืองใหม่ที่มีฐานความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง ผ่านไป 2 ทศวรรษ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง 2 กลุ่มได้ส่งผลกระเทือนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ท่ามกลางการต่อสู้ของชนชั้นนำ ประชาชนทุกฝ่ายก็ได้เกิดสำนึกทางการเมืองใหม่ขึ้นมา และเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย ที่ก่อนหน้านี้ชนชั้นนำไม่อนุญาตให้มีประชาชนเข้าไปเกี่ยวด้วย และเป็นแค่พื้นที่ต่อรองกันระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง 2 ฝ่ายเท่านั้น

 

แต่วันนี้เมื่อชนชั้นนำทั้ง 2 กลุ่มได้รอมชอมกันแล้วอย่างน้อยชั่วคราว ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่การเมืองหมุดใหม่อีกครั้ง เป็นการปะทะต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นพันธมิตร กับการเมืองของประชาชนที่มีสำนึกใหม่ ที่ชนชั้นนำไม่ว่าฝ่ายไหนรู้สึกว่าเป็นศัตรูและภัยคุกคามที่แท้จริง

 

“เรากำลังเดินทางอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่และน่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายทศวรรษของสังคมไทย แน่นอนว่าเป็นกระบวนการที่ยืดเยื้อ ไม่ใช่การต่อสู้ที่จะสามารถแตกหักกันได้ในครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง ไม่มีการต่อสู้ครั้งสุดท้าย มีแต่ต่อสู้ไปเรื่อยๆ มีแพ้-มีชนะ มีรุก-มีถอย มีเพลี่ยงพล้ำ-มีโต้กลับ มีความหวัง และมีโศกนาฏกรรม”

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า อยากให้ทุกคนมองโลกอย่างมีความหวัง เข้าใจสภาพการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ สำหรับตน หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงต้องทำ 3 อย่าง คือ

 

  1. เข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้ได้
  2. มองให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลง
  3. จงเตรียมพร้อมเมื่อห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง เพื่อทำในสิ่งที่ใครต่อใครบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในที่สุด

 

“หลายคนอาจรู้สึกท้อแท้ พ่ายแพ้ แต่ผมอยากให้ทุกคนนึกย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว หรือกระทั่งเมื่อ 47 ปีที่แล้ว เราจะตระหนักได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเรามาไกลมากแล้ว ขอแต่เพียงมองให้เห็นชัยชนะ อย่ามองเห็นแต่ความพ่ายแพ้ และเก็บเกี่ยวชัยชนะนั้นให้ได้” ชัยธวัชกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising