×

คุณติดสมาร์ทโฟนมากไปรึเปล่า

02.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • CNN บอกว่าประชากรในโลกจำนวนมากกำลังเป็น ‘Nomophobia’ คืออาการกลัวไม่มีสมาร์ทโฟน หรือ สมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ อยู่ใกล้ตัว
  • มีการศึกษาจำนวนมากที่ออกมายืนยันแล้วว่า การใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปนั้นส่งผลต่อสุขภาพ สมาธิ และประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย
  • สาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนมาก เนื่องจากทุกวันนี้เราพึ่งพาสมาร์ทโฟนในการใช้ชีวิต มันเชื่อมต่อเรากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเชื่อมกับความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกนี้ด้วย ซึ่งมนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก

เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้ในสมาร์ทโฟนส่ายหัวอยู่ในใจว่า ฉันไม่ติดสมาร์ทโฟนหรอก จริงๆ เรามีแบบทดสอบที่ไปลองกันได้นะครับที่ caglaryildirim.net/portfolio/wp-content/uploads/2015/06/NMPQ_English.pdf

 

ถ้าใครได้คะแนนใกล้ๆ 100 หรือเกิน ต้องเริ่มพิจารณาตัวเองด่วน ผมไม่บอกละกันนะว่าผมได้เท่าไร

 

รีเสิร์ชจาก Common Sense Media บอกว่าวัยรุ่นอเมริกากว่า 50% รู้สึกว่าตัวเองติดสมาร์ทโฟน และ 78% ต้องเช็กสมาร์ทโฟนอย่างน้อยทุกชั่วโมง

 

ในขณะที่ผู้ปกครองก็ไม่แพ้กันครับ เพราะ 69% บอกว่าต้องเช็กสมาร์ทโฟนอย่างน้อยชั่วโมงละ 1 ครั้ง

 

แต่ผู้ปกครอง 66% บอกว่าลูกวัยรุ่นนั้นใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป และ 36% ยอมรับว่ามีการทะเลาะกันในครอบครัวเพราะเรื่องสมาร์ทโฟน ‘ทุกวัน’

 

ถ้ามาถามฝั่งลูกบ้าง 54% บอกว่าพ่อแม่ตัวเองเล่นสมาร์ทโฟนเยอะเกินไป ขณะที่ 52% ของตัวพ่อและแม่เอง มีความพยายามที่จะลดการใช้สมาร์ทโฟนลง

 

ผมเช่ือว่าในประเทศไทยตัวเลขไม่ต่างจากนี้ หรือดีไม่ดีจะหนักกว่านี้เอา ตัวเลขพวกนี้แสดงให้เห็นว่าเรากำลังมีอะไรสักอย่าง

 

CNN บอกว่าประชากรในโลกจำนวนมากกำลังเป็น ‘Nomophobia’

 

Nomophobia คืออะไร?

 

 

‘NO MObile PHOne phoBIA’ คืออาการกลัวไม่มีสมาร์ทโฟน หรือสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ อยู่ใกล้ตัว

 

มีการศึกษาจำนวนมากที่ออกมายืนยันแล้วว่า การใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปนั้น ส่งผลต่อสุขภาพ สมาธิ และประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย

 

SecurEnvoy ได้ทำการศึกษาประชากรในอังกฤษพบว่า 66% ของประชากร มีอาการบางอย่างของ Nomophobia และ 41% ของผู้ตอบคำถามบอกว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์มากกว่าสองเครื่องเพราะกลัวจะขาดการติดต่อ

 

แล้วติดสมาร์ทโฟนไม่ดียังไงบ้าง? ผมขอยกมาเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ นะครับ

 

ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งสำคัญกับสิ่งไม่สำคัญหายไป

ลองพิจารณางานวิจัยจาก Bain & Company ที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจครับ

 

ย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 1970s เวลาผู้บริหารไม่อยู่หรือไม่สามารถรับโทรศัพท์ได้ เขาจะได้รับใบสลิปเป็นสีชมพูจากเลขา เพื่อบอกว่าใครโทรมาและโทรมาเรื่องอะไร

 

ผู้บริหารที่ยุ่งสุดๆ จะได้สลิปสีชมพูนี้เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 20 ข้อความต่อวัน หรือประมาณ 5,000 ข้อความต่อปี

 

ต้นทุนการฝากข้อความไว้ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะต้องมีคนจริงๆ อยู่ทำหน้าที่นี้

 

และก็มาถึงยุคของการใช้ Voice Mail ในช่วง 1980s ซึ่งทำให้ต้นทุนฝากข้อความถูกลง ผู้บริหารจะได้รับข้อความเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ข้อความต่อปี

 

พอถึงช่วงปี 1990s เราเริ่มมีการใช้อีเมลยุคแรกๆ แต่เรายังไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้บริหารจะได้รับข้อความเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ข้อความ ในยุค 2000s เราเริ่มมีสมาร์ทโฟน ยุคแรกๆ ข้อความที่ผู้บริหารได้รับก็เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ข้อความ  

 

ถึงจุดนี้ค่าใช้จ่ายในการส่งข้อความแทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์

 

จนกระทั่งในปี 2007 Apple เปิดตัวไอโฟน เราก็เข้าสู่ยุคใหม่ของการส่งข้อความ เพราะในช่วงปี 2010s ผู้บริหารจะได้รับข้อความเฉพาะแค่อีเมลอย่างเดียวเฉลี่ยต่อคนถึง 50,000 เมลต่อปี

 

คาดการณ์กันว่าในปี 2020s ผู้บริหารจะได้รับข้อความราว 100,000 ข้อความต่อปี

 

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใครลำดับความสำคัญไม่เก่ง หรือปฏิเสธเรื่องที่ไม่สำคัญไม่เก่งแล้ว  จะเสียเวลาไปกับการบริหารจัดการเรื่องพวกนี้เยอะมาก จนหลุดเรื่องสำคัญๆ ไปเพียบ

 

เรื่องนี้คือสิ่งที่ต้องระวังข้อแรกครับ

 

 

อุบัติเหตุพิมพ์ไปขับไป

หน่วยงาน CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐฯ ประมาณการตัวเลขว่า ‘ทุกวัน’ มีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดจากหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บ 1,000 คน

 

ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะผู้ใหญ่เกือบ 50% ยอมรับว่าอ่านหรือพิมพ์ข้อความบนสมาร์ทโฟนขณะขับรถ และกว่า 67% บอกว่าเดินไปพิมพ์ไปตลอดเวลา

 

เซลล์ประสาทช้าลง

การติดมือถือมากๆ ทำให้เซลล์ประสาททำงานช้าลง ซึ่งทำให้สมองมีโฟกัสและการควบคุมที่น้อยลง ซึ่งหมายความว่าจะถูกยั่วยุโดยสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้น

 

มีการทำงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Korea University ในเด็กวัยรุ่น โดยเปรียบเทียบเด็กวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดสมาร์ทโฟนกับเด็กที่ไม่ติด พบว่าสมองของเด็กที่ติดสมาร์ทโฟนมีระดับของ GABA สูงกว่าคนปกติมาก

 

ซึ่งเจ้า GABA นี้จะทำให้เซลล์ประสาททำงานช้าลง แล้วผลก็จะเป็นอย่างที่เขียนไปแล้วนั่นแหละครับ

 

ข่าวดีก็คือ เด็กวัยรุ่นที่ติดสมาร์ทโฟนเหล่านี้หากได้รับการบำบัดประมาณ 9 สัปดาห์ ระดับของ GABA ต่อ Glutamate-Glutamine จะกลับมาปกติ

 

สมาร์ทโฟนมีผลต่อเราโดยไม่ต้องใช้ก็ได้ ขอแค่อยู่ใกล้ๆ ก็พอ (และใช้คว่ำหน้าโทรศัพท์ไว้ก็มีผลเช่นกัน)

 

ในงานวิจัยล่าสุดจาก University of Chicago ที่จัดทำขึ้นโดย Adrian F. Ward, Kristen Duke, Ayelet Gneezy และ Maarten W. Bos เพื่อหาว่าการที่เรามีสมาร์ทโฟนอยู่ใกล้ๆ นั้นมีผลต่อ Cognitive Abilities (ความสามารถด้านความรู้ความเข้าใจ) ของเราไหม

 

ผู้เข้าร่วมทดสอบกว่า 800 คน ได้เข้าร่วมใน 2 การทดสอบ

 

การทดลองแรก – ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบแก้โจทย์เลขและจำตัวอักษรต่างๆ ซึ่งโจทย์เหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อทดสอบความสามารถด้านความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะ เพื่อต้องการทดสอบหาว่าคนที่ถูกทดสอบจะสามารถคิดตามข้อมูลต่างๆในขณะที่แก้ปัญหา Cognitive Task เชิงลึกได้ไหม

 

การทดลองที่สอง – ผู้เข้าทดสอบจะได้เห็นชุดภาพที่เป็นแพตเทิร์น แต่มีบางภาพขาดหายไป และผู้เข้าร่วมทดสอบต้องเลือกภาพที่จะมาทำให้แพตเทิร์นสมบูรณ์ ซึ่งต้องการที่จะทดสอบ ‘Fluid Intelligence’ หรือความสามารถของคนในเข้าใจและแก้ปัญหาใหม่ๆ

 

ผู้ที่เข้าร่วมทดสอบจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกจะถูกขอให้วางสมาร์ทโฟนไว้บนโต๊ะโดยคว่ำหน้าลง
  • กลุ่มที่สองจะขอให้เก็บสมาร์ทโฟนไว้ในกระเป๋า
  • กลุ่มที่สามจะขอให้วางสมาร์ทโฟนไว้อีกห้องหนึ่งเลย

 

โดยสมาร์ทโฟนทั้งหมดจะถูกปิดการตั้งเตือน เสียงและการสั่นทั้งหมด ดังนั้น ถึงมีใครติดต่อมาทางไหนก็ตามผู้เข้าร่วมทดลองก็จะไม่ถูกรบกวน

 

ผลของการทดลองน่าอัจจรรย์มาก กลุ่มที่วางมือถือไว้อีกห้องทำการทดสอบได้ดีที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มที่เก็บมือถือไว้ในกระเป๋า ส่วนกลุ่มที่วางมือถือไว้บนโต๊ะผลออกมาแย่ที่สุด

 

ทีมงานวิจัยทำการทดลองอีกครั้งโดยคราวนี้ลองให้ปิดสมาร์ทโฟนเลย ผลก็ยังออกมาเหมือนเดิม

 

จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าการมีสมาร์ทโฟนวางไว้บนโต๊ะนั้นทำให้ Cognitive Capacity ลดลงเทียบเท่ากับการอดนอนเลยทีเดียว

 

Cognitive Capacity นั้นมีความสำคัญมากในการเรียนรู้ การคิดแบบมีเหตุผล รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ของเราด้วย

 

ดังนั้นสิ่งที่มากระทบกับ Cognitive Capacity แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถมีผลต่อเราอย่างมากได้

 

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมสมาร์ทโฟนถึงดึงความสนใจ ลดความสามารถในการคิดของเราได้มากนัก แม้ว่าตอนนั้นมันไม่ได้สั่นและถูกวางคว่ำหน้าอยู่ด้วย (หรือแม้แต่ปิดเครื่องไปเลยก็ตาม)

 

ในการตอบคำถามนี้เราต้องย้อนกลับไปที่จิตวิทยาขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เนื่องจากทุกวันนี้เราพึ่งพาสมาร์ทโฟนในการใชัชีวิตเป็นอย่างมาก มันเชื่อมต่อเรากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเชื่อมกับความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกนี้ด้วย

 

มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก เช่น คนที่เป็นพ่อแม่ลูกอ่อนจะหันทันทีที่ได้ยินเสียงเด็กร้องไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นลูกใครก็ตาม

 

เราใช้สมาร์ทโฟนกันจนผูกพันกันขั้นนั้นเลยทีเดียว

 

ผมเชื่อว่าหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ยังคิดว่ามันเป็นเรื่องขำๆ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว มันไม่ค่อยขำนะครับ เพราะสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งแรกที่เราหยิบตอนเช้า ตอนเบื่อ ตอนขับรถ ตอนประชุมก็ยังแอบเล่น กินข้าวกับแฟนก็เล่น ก่อนนอนก็เล่น ถ้านอนไม่หลับก็ยังมาเปิดอีก หลายคนไม่ชาร์จสมาร์ทโฟนนอกห้องนอนด้วยเหตุผลว่าต้องใช้ปลุกนาฬิกาตอนเช้า แต่พอถูกถามว่านาฬิกาปลุกแบบเก่าก็ใช้ได้นะ ส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่ไว้ใจนาฬิกาปลุกแบบเก่าบ้างละ กลัวถ่านหมดบ้างละ

 

งานวิจัยบอกเราว่าสมาร์ทโฟของเรานั้นเหมือนจะร้องเรียกเราตลอดเวลาแม้ตอนที่เราวางมันไว้เฉยๆ ก็ตาม หลายคนอาจจะเคยมีความรู้สึกว่ามือถือสั่น ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Phantom Buzz ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความผูกพันของเรากับสมาร์ทโฟ

 

นอกเหนือไปจากนี้การเสพติดสมาร์ทโฟมากเกินไปยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย

 

แต่อย่างไรก็ดีสมาร์ทโฟนั้นมีประโยชน์กับเราอย่างมหาศาล เราติดต่อกับเพื่อน กับครอบครัวที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งได้ เราทำงานกันได้จากทุกที่ เราสั่งของออนไลน์ เทรดหุ้น ดูหนัง ฯลฯ  

 

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้คงจะเป็นการหาจุดสมดุลให้ได้

 

 

ถ้าเราสามารถควบคุมการใช้สมาร์ทโฟได้ มันจะเป็นประโยชน์มากตอนที่เราใช้มัน และมันก็จะไม่รบกวน ไม่ลดความสามารถและไม่ลดความสุขของเราในเวลาที่เราไม่ควรต้องใช้มัน

 

เมื่อตอนที่เราไม่ต้องการใช้สมาร์ทโฟ หรือเวลาที่เราต้องการทำงานที่ต้องการความคิด การวิเคราะห์เชิงลึก ให้เอาสมาร์ทโฟไปไว้อีกห้องเลย ผู้วิจัยเชื่อว่าแค่มีเวลาที่คุณเอามือถือไปวางไว้อีกห้องหรือไปวางไว้ไกลๆ จะทำให้ทั้งชีวิตส่วนตัว เรื่องงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดีขึ้นแน่นอน

 

งานวิจัยนี้ยังมีข้อบ่งชี้อีกว่าการประชุมที่ไม่มีสมาร์ทโฟอยู่ในห้องเลย (ไม่ใช่แค่เปิดสั่นหรือไม่ใช้มือถือระหว่างประชุม) จะช่วยให้กาประชุมนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เข้าประชุมจะโฟกัสกับเรื่องตรงหน้ามากขึ้น จะได้ผลงานที่ดีขึ้นและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

 

อ่านเรื่องนี้จบแล้วก็เอามือถือไปวางไว้อีกห้อง แล้วหันมาคุยกับคนข้างๆ บ้างนะครับ

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan, Thiencharas.w 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X