วันนี้ (27 ส.ค.) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความคิดเห็นหลังจากที่มีกลุ่มบุคคลเปิดเผยตนเองว่าการดื่มน้ำปัสสาวะเป็นประจำจะทำให้รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จึงเกิดเป็นกระแสตื่นตัวทางโลกออนไลน์ขึ้นว่าการดื่มน้ำปัสสาวะเสมือนยาอายุวัฒนะ บำบัดโรคร้ายได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยว่าความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำปัสสาวะแล้วจะรักษาโรคภัยต่างๆ ได้นั้น ในความจริงแล้วการใช้น้ำปัสสาวะบำบัดยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับ ซึ่งหากนำมาใช้โดยไม่ระวังอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีทางเลือกในการรักษาโรคหลากหลายช่องทาง ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก ดังนั้นประชาชนควรจะตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษาเป็นสำคัญ
ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายมุ่งเน้นทางด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางแก่ประชาชนอยู่ทั่วประเทศ จึงอยากให้ประชาชนเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกอื่น
ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเน้นย้ำต่อไปว่า สำหรับวิธีรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ คือรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมันสูง กินผักและผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี ในกรณีหากพบความผิดปกติของร่างกายต้องรีบพบแพทย์ใกล้บ้าน รวมทั้งรักษาและปฏิบัติตัวภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ทางด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าเนื่องจากน้ำปัสสาวะเป็นของเสียหรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่างๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงสารอื่นๆ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบ ดังนั้นหากดื่มกลับเข้าไปซ้ำอีกจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย
นอกจากนี้น้ำปัสสาวะที่ขับออกมายังอาจปนเปื้อนอุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ เช่น เชื้อบิด ที่อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม นอกจากนี้ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องขับของเสียออกซ้ำ และอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่างๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสมอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: