×

ใครและสถานที่ใด ถอดหน้ากากได้โดยสมัครใจ

18.06.2022
  • LOADING...
หน้ากาก

สถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่าที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ มีมติผ่อนคลายมาตรการสังคมเปลี่ยนผ่านสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การถอดหน้ากาก’ โดยสมัครใจ หรือการกำหนดให้ใครและสถานที่ใดสามารถถอดหน้ากากได้

 

ข้อปฏิบัติแบ่งเป็น 2 กรณีคือ ประชาชนกลุ่มเฉพาะ และประชาชนทั่วไป/ผู้ใช้บริการ

 

สำหรับประชาชนกลุ่มเฉพาะ

  • ผู้ติดเชื้อ/ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น
  • กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น 

 

โดย ‘กลุ่ม 608’ หมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, ภาวะอ้วน, มะเร็ง และเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนการได้รับวัคซีน ‘ครบตามเกณฑ์’ ปัจจุบันกำหนดที่ 2 เข็ม แต่ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังฉีดครบ 3 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงตามระยะเวลา และไวรัสมีการกลายพันธุ์

 

สำหรับประชาชนทั่วไป/ผู้ใช้บริการ

แบ่งเป็น 2 กรณีย่อยคือ

  • สถานที่ภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง ให้สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือมีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม
  • สถานที่ภายในอาคาร ให้สวมหน้ากาก ยกเว้นกรณี
    • อยู่คนเดียว
    • หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกัน ต้องสามารถเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด และอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี
    • มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดง ฯลฯ ทั้งนี้ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้นควรสวมหน้ากากทันที

 

โดยจะเริ่มปฏิบัติเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

 

สังเกตว่าแนวทางข้างต้นเป็นการปฏิบัติตัวตามความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง (ประเมินจากปัจจัยส่วนบุคคลและการได้รับวัคซีน) และความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในสถานที่นั้นๆ (ประเมินจากการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น และการระบายอากาศ ซึ่งสถานที่นอกอาคารจะถ่ายเทได้ดี)

 

ทั้งนี้ ศบค. เน้นว่า ‘หน้ากาก’ ยังคงมีประโยชน์ในการป้องกัน ทั้งการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโควิดและโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงยังสามารถป้องกันปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงควรพกหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน และสามารถนำมาสวมเมื่อมีความเสี่ยง

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X