×

‘ดร.นิเวศน์’ มองเวียดนามได้ประโยชน์จากสงครามเย็นรอบใหม่ คาดเศรษฐกิจแซงหน้าไทยภายใน 10 ปี

30.08.2022
  • LOADING...
นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

‘ดร.นิเวศน์’ ชี้ สงครามเย็นรอบใหม่อาจทำให้เอเชียมีเสน่ห์มากขึ้น มองเศรษฐกิจเวียดนามจะแซงหน้าไทยในอีก 10 ปี และจะแซงหน้าในแทบทุกด้านภายใน 15 ปี ขณะที่ ‘อาร์ม’ แนะจับตาแนวนโยบายใหม่จีน ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เดือนตุลาคมนี้

 

นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหุ้น กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ The Rise of Asia is Reshaping the World ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง ว่า ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการแบ่งขั้วระหว่างจีนกับรัสเซีย และสหรัฐอเมริกากับยุโรป จะส่งผลดีต่อภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากสองฝ่ายจะต้องแข่งขันกันหาพรรคพวกเข้ามาในเครือข่าย ทำให้มีโอกาสที่จะขยายการลงทุนเข้ามาในเอเชียเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตาดูคือ สงครามเย็นรอบใหม่นี้จะมีเรื่องของการกีดกันทางเทคโนโลยี และการคว่ำบาตรทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะมีผลเชื่อมโยงกับการลงทุนซึ่งต่างจากในอดีต

 

นิเวศน์ประเมินว่า เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์มากจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยภูมิศาสตร์ที่ถือเป็นด่านหน้าของความขัดแย้ง การมีบุคลากรที่มีคุณภาพและต้นทุนทางธุรกิจที่ยังต่ำ โดยคาดว่าภายใน 10 ปี เศรษฐกิจเวียดนามจะแซงหน้าไทย ขณะที่รายได้ต่อหัวของคนเวียดนามก็จะสูงกว่าไทยภายใน 15 ปี และหลังจากนั้นเวียดนามจะแซงหน้าไทยในแทบทุกด้าน

 

“ในยุคสงครามเย็นครั้งก่อน ไทยเคยเป็นด่านหน้าเลยมีบทบาทมากหน่อย แต่ตอนนี้ถนนทุกสายวิ่งไปเวียดนาม เมื่อการลงทุนเข้าไปมาก เศรษฐกิจเขาก็เจริญเติบโต ปีนี้เวียดนามประกาศจะโต 7-8% คนย้ายการผลิตไปที่เวียดนามเยอะ เราจะไปหวังให้แบ่งบางส่วนมาไทยคงยาก เพราะถ้าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันผลิตในเวียดนาม เขาจะมีต้นทุนถูกกว่า ทำให้แข่งได้ยาก ไม่เกิน 10 ปีเขาใหญ่กว่าไทยแน่” นิเวศน์กล่าว

 

นิเวศน์กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนควรเลือกประเทศที่ไม่มีปัญหา ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศที่สบายที่สุดในตอนนี้ เพราะคบทั้งกับจีนและตะวันตก คล้ายกับไทย แต่เวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบมากกว่าด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำให้แม้จะเปิดประเทศช้ากว่าไทยแต่ไล่ตามมาได้เร็วมาก ขณะที่การปกครองของเวียดนาม แม้ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์แต่เศรษฐกิจก็เป็นทุนนิยมคล้ายจีนสมัยเปิดประเทศ

 

“ตอนนี้ผมลงทุนในหุ้นไทยอยู่ที่ 60% ส่วนหุ้นเวียดนามอยู่ที่ 30% ผมมองว่าหุ้นไทยใกล้จบแล้ว เป็นตลาดที่ไม่ค่อยน่าสนใจ ลงทุนได้เรื่อยๆ แต่หาบริษัทที่โตเร็วๆ ยาก ถ้าสังเกตกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ ในไทยจะมีแต่หน้าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่มีรายใหม่ที่ก้าวขึ้นมาแซงรายเก่า ผมยังนึกไม่ออกว่าเราจะไปต่ออย่างไร บริษัทแก่ๆ ก็เริ่มอิ่มตัวแล้ว ตัวใหม่ๆ จะขึ้นมาก็ไม่มี เราติดอยู่ที่ระดับ 1,600 มาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ไปอีกปีก็จะเรียกว่าเป็น Lost Decade ได้” นิเวศน์ระบุ

 

ด้าน อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันเปรียบเหมือนคู่สามีภรรยาที่อยากเลิกกัน แต่ก็ทำได้ลำบากเพราะมีลูกด้วยกันไปแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนมีความเชื่อมโยงกันสูง ทำให้สงครามเย็นในรอบนี้มีความต่างจากยุคโซเวียต ที่มีอาวุธแต่ไม่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ 

 

“สหรัฐฯ พยายามทำให้จีนโตช้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องพึ่งพาจีน ส่วนฝั่งจีนเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนกัน เพราะจีนก็พึ่งพายุโรปและสหรัฐฯ สูง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รอบนี้จึงมีความซับซ้อนมาก” อาร์มกล่าว 

 

อาร์มกล่าวอีกว่า ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกจะต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้มี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

 

  1. พัฒนาการของสงครามในยูเครน ที่ต้องรอดูว่าฝ่ายใดจะอึดกว่ากัน ปูตินจะทนได้ยาวนานกว่าสหรัฐฯ และยุโรป หรือยุโรปและสหรัฐฯ จะต้องเป็นฝ่ายผ่อนคลายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก่อน

 

  1. การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจีนจะใช้การประชุมนี้ประกาศทิศทางนโยบายในระยะต่อไป ว่าจะให้น้ำหนักกับเรื่องใดมากกว่ากัน ระหว่างความมั่นคง การพึ่งพาตัวเอง หรือจะกลับไปมุ่งเน้นเศรษฐกิจ

 

โดยอาร์มระบุว่า ขณะนี้มีการวิเคราะห์แนวนโยบายของจีนออกเป็น 2 ทฤษฎี แนวทางแรกเป็นการมองว่า ทุกๆ 10 ปี จีนจะมีการสลับนโยบายระหว่างตึงเครียดกับผ่อนคลาย ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคที่ตึงเครียดไปแล้ว ทำให้ในการประชุมรอบนี้จีนอาจจะหันมาผ่อนคลาย

 

ส่วนทฤษฎีที่สองเป็นการมองว่า นโยบายของจีนจะเปลี่ยนเป็นวงรอบทุกๆ 30 ปี คือ เข้มงวดในยุคประธานเหมา 30 ปี ผ่อนคลายนับจากยุคเติ้ง 30 ปี ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในรอบนี้จีนจะย้อนกลับไปเข้มงวดอีกครั้ง

 

“โดยส่วนตัวผมมองว่าจีนจะผสมผสานกันทั้งสองหลักการ คือต้องแข็งกร้าวในบางเรื่องเพื่อสู้กับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็จะผ่อนคลายภายในมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นภาพดังกล่าวในการประชุมที่กำลังจะมาถึง” อาร์มกล่าว

 

  1. การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ

 

อาร์มกล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นอาจดูไม่สดใสมากนัก แต่ในระยะยาวจีนยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง โดยมีการประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจจีนก็จะยังใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เพียงแค่ไม่แซงหน้าสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ภายใน 10-15 ปีนับจากนี้ ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า GDP โดยเชื่อว่าวิกฤตขนาดใหญ่คงไม่เกิดกับจีน เพราะรัฐบาลใช้นโยบายควบคุมที่สามารถอุดรูรั่วได้ แต่เศรษฐกิจจีนคงจะเติบโตช้าลง

 

“ปัจจุบันคนบอกว่าภาคอสังหาจีน ซึ่งมีขนาด 15-30% ของ GDP ไม่น่าจะไปต่อไหวแล้ว เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม จีนเองก็มีแผนจะผลักดันหัวจักรอื่นๆ เช่น ภาคพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาทดแทน จีนมีภาพในหัวแล้วว่าเขาจะเดินอย่างไรต่อ” อาร์มกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising