×
SCB Omnibus Fund 2024

‘Nitori’ เฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิใจ (ที่กำลังจะเข้าไทย) และเคล็ดเพลงดาบซามูไรที่สู้ได้แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA

28.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จุดเริ่มต้นของ Nitori เกิดจาก อากิโอะ นิโตริ ผู้ก่อตั้งร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองฮอกไกโดทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1967 ที่เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองตอนอายุ 24 ปี แต่สู้บริษัทใหญ่ไม่ไหวจนทำให้นิโตริซังแทบล้มละลาย และตัดสินใจที่จะเดินทางไปเข้าอบรมฝึกการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สหรัฐอเมริกาแทน
  • จากเดิมที่เขาต้องการค้าขายให้ร่ำรวยเพื่อหากำไรเลี้ยงดูชีวิตของตัวเอง คราวนี้นิโตริซังก็ยังต้องการความมั่งคั่งเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือเขาไม่ได้อยากรวยเอง แต่เขาอยากเห็นคนญี่ปุ่นทุกคนร่ำรวยบ้าง และเขาเชื่อว่ามีสิ่งที่เขาช่วยได้ ด้วยเฟอร์นิเจอร์ของเขา
  • นิโตริซังวางแผนระยะยาวเอาไว้สำหรับ Nitori ซึ่งแผนระยะยาวของเขานั้นไม่ใช่ระยะเวลาแค่ 5 หรือ 10 หรือ 20 ปี แต่แผนนั้นเป็นแผนระยะยาวถึง 60 ปี!
  • สิ่งที่เป็น Insight ส่วนตัวที่นิโตริซังสั่งสมมาและเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ Nitori ชนะทุกเจ้า นั่นคือความเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ รู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘บ้าน’ ของคนญี่ปุ่น ไปจนถึงความเข้าใจและความพยายามที่จะเข้าใจในความต้องการของคนญี่ปุ่น
  • แต่ อากิโอะ นิโตริ มั่นใจว่าคนไทยกับ Nitori นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีใจให้กัน เพราะคนไทยชอบสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่นอยู่แล้ว และเชื่อว่าราคาของ Nitori จะถูกใจคนไทยมากกว่าคู่แข่ง

หากเอ่ยชื่อของ Nitori แล้วหลายคนน่าจะรู้จักว่าคือเจ้าหนูนินจาสุดเก่ง (ไม่ใช่! นั่นมันฮาโตริ) จริงๆ แล้วคือหม้อหุงข้าวสุดล้ำ (ไม่ใช่! นั่นมันฮิตาชิ) จริงๆ แล้วคือพัดลมสุดแรงต่างหาก (ไม่ใช่อีกนั่นแหละ นั่นมันฮาตาริ!)

 

เอาละ จริงๆ แล้ว Nitori คือแบรนด์สินค้าภายในบ้าน (ถูกแล้ว!) และที่สำคัญคือแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นนี้กำลังจะมาเปิดสาขาในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2024 หรือในอีก 1 ปีนิดๆ ข้างหน้า

 

แน่นอนละว่าหลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ได้แวะเวียนไปที่ Nitori เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือบางคนอาจจะเคยมีโอกาสพักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็คงจะมีเรื่องราวและความทรงจำเกี่ยวกับแบรนด์นี้กันบ้าง แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักมักจี่แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านนี้มากนัก

 

Nitori มีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรคือหัวใจที่ถูกใส่เอาไว้ในเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น และพวกเขาใช้เพลงดาบอะไรถึงสามารถยืนหยัดต่อต้านการรุกรานของแบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านระดับโลกจากแดนไวกิ้งอย่าง IKEA ในประเทศบ้านเกิดได้

 

รวมถึงทำไมพวกเขาถึงคิดที่จะขยายตลาดมาบ้านเราในอนาคตอันใกล้ด้วย

 

เปิดตำนาน ニトリ โดยนิโตริซัง

 

คำว่านิโตริ (Nitori – ニトリ) ในภาษาญี่ปุ่นไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษมาก่อน แต่หากพูดคำว่านิโตริแล้วชาวญี่ปุ่นก็จะอดคิดถึงร้านสินค้าภายในบ้านที่แสนคุ้นเคยขึ้นมา

 

อยากได้อะไรมาใส่ในบ้านก็ขอให้มาที่นี่! หรือนึกอะไรไม่ออกอยากจะมาเดินเล่นหาไอเดียตกแต่งบ้านเฉยๆ ก็มาที่นี่ได้เหมือนกัน!

 

Nitori อยู่คู่กับพวกเขามายาวนานตั้งแต่ปี 1967 หรือปัจจุบันอยู่ด้วยกันมานานกว่า 56 ปีแล้ว เรียกว่าเห็นกันมาตั้งแต่รุ่นโอจี้ซัง (คุณปู่คุณตา) โอบ้าจัง (คุณย่าคุณยาย) ผ่านมาถึงโอโต้ซัง (คุณพ่อ) โอก้าซัง (คุณแม่) และมาโกะ (หลานๆ) 

 

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

จุดเริ่มต้นของ Nitori เกิดจาก อากิโอะ นิโตริ ผู้ก่อตั้งร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองฮอกไกโดทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1967 ที่เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองตอนอายุ 24 ปี โดยเริ่มจากร้านเล็กๆ ก่อนที่จะมีการขยายร้านให้ใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า แต่ปีถัดมาก็มีบริษัทที่ใหญ่กว่าเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์แบบเดียวกันในขนาดใหญ่กว่าถึง 5 เท่า 

 

นั่นทำให้นิโตริซังแทบล้มละลาย

 

ในช่วงที่กำลังหน้ามึน เขาตัดสินใจที่จะเดินทางไปเข้าอบรมฝึกการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สหรัฐอเมริกา และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ไม่เพียงแค่ชีวิตของเขา แต่เป็นวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นด้วยไม่มากก็น้อย

 

นิโตริซังพบว่าร้านเฟอร์นิเจอร์ในอเมริกานั้นยิ่งใหญ่มโหฬารเป็นเหมือนศูนย์สรรพสินค้า มีการจัดแบ่งโซนต่างๆ เป็นอย่างดี ทุกคนจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ ได้เห็นของจริงว่าเฟอร์นิเจอร์หน้าตาแบบนี้จะไปจัดวางอย่างไรในบ้าน ในราคาที่ถูกกว่าแค่ 1 ใน 3! 

 

“ที่บ้านเราไม่มีอะไรแบบนี้”

 

ต่อมอิจฉาของเขาเริ่มทำงาน แต่นิโตริซังไม่ได้เป็นคนที่คิดอะไรตื้นๆ แบบนั้น ในช่วงเวลาที่ไปอบรมนั้นเขาได้ความคิดอะไรหลายอย่างกลับมามากกว่าแค่วิชาการทำเฟอร์นิเจอร์

 

 

ความจริงที่ค้นพบในการไปอเมริกา

 

นอกจากความตระการตาของร้านเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐอเมริกาที่ อากิโอะ นิโตริ สัมผัสได้แล้ว เขายังพบกับความจริง 4 ประการที่เจ็บแต่จริง

 

อย่างแรกคือราคาของสินค้าในอเมริกาถูกกว่าในญี่ปุ่นถึงระดับ 1 ใน 3

 

อย่างต่อมาคือที่อเมริกามีประเภทสินค้าที่หลากหลาย มีคุณภาพ และใช้งานได้จริงที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นในแบบที่พวกเขาไม่มีในญี่ปุ่น

 

อย่างที่สามคือเรื่องใหญ่คือ ‘ระบบ’ ของร้านค้า โดยที่ญี่ปุ่นจะเป็นระบบแบบควบคุม (Controlled System) ที่ผู้ผลิตจะอยู่บนชั้นสูงสุดของพีระมิด และร้านค้าจะอยู่ระดับล่างสุด แต่ในอเมริกาจะต่างออกไป บรรดาร้านค้าจะเป็นคนประสานทุกอย่างตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการผลิต การกระจายสินค้าและการวางจำหน่ายที่หน้าร้าน

 

และอย่างสุดท้ายคือขนาดของร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ในอเมริกาใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 10 เท่า

 

ดังนั้นถึงแม้จะมีการพูดกันว่าในขณะนั้น (ปี 1967) ญี่ปุ่นกำลังไล่ตามประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทัน แต่ในความรู้สึกของนิโตริซังแล้วเขาเชื่อว่าบ้านเกิดของเขายังตามหลังชาติอย่างอเมริกาอย่างน้อย 50 ปี

 

ความจริงที่พบและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทำให้เขาเกิดความต้องการอันแรงกล้าที่จะนำสิ่งที่เขาได้พบเห็นนี้กลับมาที่บ้านให้ได้

 

ยุทธศาสตร์ 60 ปีสู่ความเป็นหนึ่ง

 

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของชาวอเมริกาในเวลานั้นทำให้ อากิโอะ นิโตริ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงปรัชญาชีวิตของตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง

 

จากเดิมที่เขาต้องการค้าขายให้ร่ำรวยเพื่อหากำไรเลี้ยงดูชีวิตของตัวเอง คราวนี้นิโตริซังก็ยังต้องการความมั่งคั่งเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือเขาไม่ได้อยากรวยเอง แต่เขาอยากเห็นคนญี่ปุ่นทุกคนร่ำรวยบ้าง และเขาเชื่อว่ามีสิ่งที่เขาช่วยได้

 

สิ่งที่นิโตริซังคิดว่าเขาสามารถช่วยชาวญี่ปุ่นได้คือการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ดีๆ คุณภาพสูงที่มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตแบบชาวญี่ปุ่นในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

 

ถ้าทุกคนสามารถซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีๆ ในราคาที่ถูกได้ก็จะมีเงินเหลือ เพราะไม่ต้องทุ่มลงไปทั้งหมด อีกทั้งคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นด้วย เพื่อจะมีแรงไปทำงานหาเงินซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป

 

แต่เขาไม่ได้แค่คิด นิโตริซังวางแผนระยะยาวเอาไว้ด้วย ซึ่งแผนระยะยาวของเขานั้นไม่ใช่ระยะเวลาแค่ 5 หรือ 10 หรือ 20 ปี

 

แผนนั้นเป็นแผนระยะยาวถึง 60 ปี!

 

โดยใน 30 ปีแรกเขาต้องการให้ Nitori ขยายสาขาออกไปให้ได้ถึง 100 สาขา และทำยอดขายให้ได้ 1 ล้านล้านเยน หรือราว 2.5 แสนล้านบาท 

 

ส่วนในอีก 30 ปีถัดมาเป้าหมายของเขาอยู่ที่การทำให้ Nitori เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นและของโลก มีจำนวนสาขา 3,000 แห่ง และทำยอดขายให้ได้ 3 ล้านล้านเยน หรือราว 7.69 แสนล้านบาท

 

เป็นเป้าหมายที่ช่างทะเยอทะยานเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ฝันให้เป็น เย็นให้พอ

 

จากจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจร้านเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ สู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่ อากิโอะ นิโตริ ค่อยๆ ก้าวเดินไปสู่เป้าหมายของเขาอย่างรอบคอบ

 

เขาเริ่มต้นครั้งที่ 2 ด้วยการตั้งศูนย์ค้าส่งเฟอร์นิเจอร์นิโตริ (Nitori Furniture Wholesale Center) ในปี 1972 ก่อนที่จะค่อยๆ เติบโต ขยายกิจการไปอย่างไม่เร่งร้อนจนเกินไป ทำไปทีละขั้น เช่น ในปี 1975 เปิด ‘นันโง สโตร์’ (Nango Store) ร้านค้าในรูปแบบสุดอลังการที่อยู่ในโดมขนาดยักษ์ที่ชิโรอิชิในเมืองซัปโปโร ก่อนจะเริ่มเปิดสาขานอกซัปโปโรแห่งแรกในปี 1981 ที่เมืองโทมาโคมาอิ และเริ่มนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปี 1986

 

ในระหว่างนั้นนิโตริซังมีที่ปรึกษาอย่าง ชุนอิจิ อาสุมิ ที่คอยสอนและให้คำแนะนำ

 

หนึ่งในคำแนะนำที่มีค่าที่สุด คือการสอนเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจว่าไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาผลกำไรมากที่สุด หากแต่เป็นการตอบแทนกลับคืนสู่สังคมให้มากที่สุด เพื่อเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งนิโตริซังนำมาคิดและตกผลึกได้ว่าสิ่งที่เขาจะตอบแทนสังคมได้คือการเพิ่มจำนวนลูกค้าและร้านค้าให้ได้มากที่สุด

 

นั่นนำไปสู่การตั้งเป้าหมายสู่การมีสาขา 100 แห่งใน 30 ปีแรก เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นตัวเลขที่พอจะสามารถไปได้ถึงด้วยมาตรฐานในระดับที่ดี ใช้งบประมาณไม่มากและสินค้ามีราคาไม่สูง ซึ่ง Nitori ทำได้จริงๆ ในปี 2003 ที่แม้ช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ 1 ปี และแม้ว่ายอดขายจะไปได้ไม่ถึงในระดับที่ตั้งใจที่ 1 ล้านล้านเยน (Nitori ยอดขายได้  1 แสนล้านเยนในปี 2003) ก็นับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว

 

ถ้าไปได้ถึง 100 สาขา การจะก้าวไปต่อก็ไม่ยาก เป้าหมายต่อไปคือ 200 สาขา ซึ่งถึงตรงนั้น Nitori จะทำทุกอย่างได้เพิ่มเป็น 2 เท่าจากเดิม นำเข้าวัสดุจากทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น และนั่นหมายถึงการที่ต้นทุนต่ำลงซึ่งจะทำให้กำหนดราคาได้ต่ำลงไปอีก

 

นี่คือเคล็ดลับความสำเร็จที่นิโตริซังเรียนรู้จากการศึกษาเชนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 

 

เคล็ดวิชา ‘เพลงดาบ’ นิโตริ

 

อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้พึ่งแค่องค์ความรู้จากคนอื่นเท่านั้น แต่นิโตริซังได้คิดค้นเคล็ดลับความสำเร็จซึ่งเปรียบได้ดัง ‘เคล็ดวิชานิโตริ’ ที่ฟังดูคล้ายกับเพลงดาบนิโตริว หรือดาบสองมือ ศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธชั้นสูงของญี่ปุ่น

 

โดยเคล็ดลับไม่ได้อยู่ที่ร้านหรือสินค้า แต่อยู่ที่ ‘คน’ 

 

ในช่วง 10 ปีแรก (1972-1982) เขาโฟกัสกับการขยายสาขาของ Nitori ก่อนซึ่งทำได้ 11 แห่ง ก่อนที่หลังจากนั้นในอีก 10 ปีถัดไปสิ่งที่นิโตริซังโฟกัสคือการสร้างกลยุทธ์ในการฝึกฝนคนโดยรับบรรดาเด็กๆ ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานกับ Nitori 

 

ก่อนที่นิโตริจะเปลี่ยนแรงงานธรรมดาเหล่านี้ให้กลายเป็น ‘Specialist’ ที่ไม่เพียงแค่จะมีความมานะบากบั่นเป็นทุนเดิม แต่ยังใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยในการช่วยพัฒนาบริษัทให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

 

และด้วย Specialist ใหม่ๆ เหล่านี้ที่ Nitori ปั้นมากับมือก็คือกำลังสำคัญที่ทำให้บริษัทก้าวไปถึงเป้าหมายในการขยายสาขาให้ได้ถึง 100 แห่งในปี 2003 ซึ่งเมื่อถึงตรงนี้นิโตริซังรู้แล้วเขามีทุกอย่างอยู่ในมือพร้อมหมดแล้วสำหรับการก้าวไปสู่เป้าหมาย

 

นับจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาเร่งเครื่องสู่เป้าหมายขั้นที่ 2 ของยุทธศาสตร์ 60 ปี ด้วยการไปให้ถึง 3,000 สาขาภายในปี 2032 

 

ในวงเล็บว่า Nitori ยังคงส่งพนักงานปีละ 900 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพนักงานจบใหม่ 400 คนไปศึกษาดูงานที่อเมริกาทุกปี เพราะเขาเชื่อว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากโรงเรียนการทำธุรกิจด้านเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้อีกมาก ในความรู้สึกแล้วแม้กระทั่งในตอนนี้ญี่ปุ่นก็ยังตามหลังอเมริกาอยู่อีก 10-20 ปี

 

เฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิใจ เพื่อชาวซามูไร 

 

คุยกันเรื่องปรัชญาของนิโตริมามากแล้ว แต่มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยหากเราไม่รู้ว่าทำไม Nitori ถึงก้าวขึ้นเป็นเชนใหญ่อันดับหนึ่งในเรื่องสินค้าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดแต่อย่างใด

 

เพราะในญี่ปุ่นนั้นผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ ทำให้มีเชนสินค้ามากมายที่เข้ามาทำตลาดซึ่งก็รวมถึงคู่แข่งสัญชาติเดียวกันที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังอย่าง MUJI ไปจนถึงยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA ที่ไม่ว่าเฟอร์นิเจอร์สัญชาติไวกิ้งจะล่องเรือยกพลขึ้นประเทศใดก็ตีแตกได้ทั้งนั้น

 

แต่ IKEA ก็ล้ม Nitori ไม่ได้ เพราะ อากิโอะ นิโตริ มีภาพฝันในใจที่จะทำให้บ้านของคนญี่ปุ่นทั้ง ‘หรูหรา’, ‘น่าอยู่’ และ ‘อยู่สบาย’

 

 

สิ่งที่เป็น Insight ส่วนตัวที่นิโตริซังสั่งสมมาและเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ Nitori ชนะทุกเจ้านั่นคือความเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ รู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘บ้าน’ ของคนญี่ปุ่น ไปจนถึงความเข้าใจและความพยายามที่จะเข้าใจในความต้องการของคนญี่ปุ่น

 

เพราะบ้านของชาวญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ในการใช้สอยจำกัด ทุกอย่างที่อยู่ในบ้านจึงต้องอยู่บนหลักพื้นฐานที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง

 

  1. ต้องมีประโยชน์ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
  2. ต้องใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

 

หรือเราอาจจะพูดง่ายๆ คือเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ดีสำหรับชาวญี่ปุ่นนั้นคือของที่สามารถใส่เข้าไปในบ้านได้!

 

ดังนั้นถึงเตียงนอนแบบชาวตะวันตกจะสวยและนอนสบายแค่ไหน แต่ถ้ามันไม่สามารถยัดเข้าบ้านหรือเข้าในห้องนอนได้ก็ไม่มีประโยชน์ ที่นอนสำหรับชาวญี่ปุ่นจึงเป็นที่นอนที่เล็กกะทัดรัดเรียกว่าแค่พอนอนได้เท่านั้น เป็นต้น

 

หรือโต๊ะทำงาน โต๊ะอ่านหนังสือแบบชาวญี่ปุ่นก็จะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร แต่จะเน้นการออกแบบที่มีประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า

 

สิ่งเหล่านี้คือข้อได้เปรียบที่ Nitori มีเหนือคู่แข่งจากต่างชาติ ซึ่งรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA ด้วย

 

ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เหนือกว่าคู่แข่งในบ้านเกิดด้วยโมเดลทางธุรกิจที่ชาญฉลาดซึ่ง Nitori ให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งด้วยกันคือ การผลิต, การกระจายสินค้า และการวางจำหน่ายหน้าร้าน ซึ่งก็เป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากในอเมริกาเอง

 

ในเรื่องของการผลิต Nitori เริ่มกระจายกำลังการผลิตออกไปยังต่างประเทศที่มีแรงงานถูกกว่า ไปจนถึงมีวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตในราคาต่ำ ทำให้สามารถควบคุมราคาได้อย่างดี ต่อด้วยการกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ มีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ในขณะที่หน้าร้านนั้นเริ่มจากการฝังตัวอยู่ตามชานเมืองก่อนเพราะมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า ได้พื้นที่ใหญ่กว่า สามารถจัดแสดงสินค้าได้อย่างสวยงาม

 

เรียกว่าคนญี่ปุ่นสามารถไปเดินเล่นที่ Nitori โดยมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าแบบนี้จัดวางแบบนี้แล้วจะออกมาหน้าตาแบบนี้ ไม่ต้องคิดเยอะคิดแยะ หรือบางทีสามารถ ‘ลอกการบ้าน’ ของ Nitori ได้เลยด้วยซ้ำ (และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำไมเวลาเราดูหนังหรือซีรีส์ญี่ปุ่นแล้วบ้านญี่ปุ่นสวยน่าอยู่เสมอ)

 

ไม่ใช่แค่ของใหญ่ แต่ของเล็กๆ ก็ทำมาแบบ ‘คิดมาแล้ว’ 

 

ลองฟังรายชื่อไอเท็มเด็ดของ Nitori ดูก่อน

 

  1. ถาดใส่ของสำหรับคนซุ่มซ่าม (วางของบนถาดแล้วไม่หล่น ไม่ไหล)
  2. แก้วสำหรับใส่เครื่องดื่มเย็นโดยไม่มีน้ำซึมออกมา
  3. เซ็ตหั่น สไลซ์ผัก ทำงานครัวให้ง่ายขึ้นไปอีก
  4. ชั้นวางแบบใช้เป็นกำแพงหรือตู้เป็นตัวยึด
  5. ถาดน้ำแข็งรูปทรงต่างๆ

 

บางอย่างมันอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับชนชาติที่ทุกอย่างต้องผ่านการคิดมาแล้ว สินค้าของ Nitori นอกจากจะถูกต้อง ถูกใจ แล้วยังถูกตังค์อีกด้วย

 

จริงอยู่ที่คุณภาพสินค้าของ Nitori อาจจะไม่ได้ดีเลิศหรือทนทานอะไรมากมายนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ IKEA ที่ก็ยังทนกว่าอยู่ดี แต่เมื่อดีไซน์ดี ประโยชน์ใช้สอยมาก มาพร้อมกับราคาที่ไม่สูงเกินเอื้อม 

 

ก็ไม่แปลกที่ Nitori จะเป็นแบรนด์ที่คนญี่ปุ่นนึกถึงเสมอเวลาอยากได้ของแต่งบ้าน

 

 

อรุณเบิกฟ้า ถึงเวลาโบยบิน

 

เพราะเป้าหมายอยู่สุดขอบฟ้า Nitori รู้ว่าพวกเขาไม่สามารถจะหยุดอยู่ที่แดนอาทิตย์อุทัยได้

 

Nitori ต้องไปไกลกว่านั้น และนั่นนำไปสู่การเริ่มต้นบุกตลาดใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2004 หรือหนึ่งปีหลังจากที่บรรลุเป้าหมายในครึ่งแรกของยุทธศาสตร์ 60 ปีของพวกเขา 

 

โดยประเทศแรกที่เลือกคือจีน ซึ่งเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว Nitori ยกพลขึ้นแผ่นดินแดนมังกรตั้งแต่ปี 2004 ก่อนที่จะเริ่มขยายตลาดอย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นในศูนย์กระจายสินค้า Pinghu ในเมืองเซี่ยงไฮ้ สาขาแรกที่อู่ฮั่นในปี 2014 แล้วขยายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นใน Huizhou จนถึงล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 พวกเขาเปิดสาขาแรกในกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ

 

“มันเป็นความฝันของเราที่จะมีร้านในปักกิ่งมาตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มเปิดร้านที่จีนแผ่นดินใหญ่ในอู่ฮั่นเมื่อปี 2014” 

 

Nitori ไม่ได้หยุดแค่บนแผ่นดินจีน แต่ยังไปถึงไต้หวัน และข้ามฟ้าไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา แผ่นดินที่เป็นเหมือนโรงเรียนของ อากิโอะ นิโตริ โดยเปิดร้านใช้ชื่อว่า Aki-Home ในปี 2013 แม้ว่าปัญหาเรื่องค่าเงินจะส่งผลกระทบร้ายแรงจนตัดสินใจที่จะถอนตัวจากตลาดที่นั่นภายในเดือนเมษายนนี้

 

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ Nitori ท้อ เพราะพวกเขามองเห็นตลาดแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูง นั่นคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

 

สวัสดีคนไทย ผมชื่อ Nitori

 

ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงและมีการเติบโตที่น่าจับตามอง โดย Roland Berger บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติเยอรมนีมีการประเมินว่ามูลค่าของตลาดในอาเซียนในปี 2022 นั้นสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.18 แสนล้านบาท

 

โดยที่ยังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก 8% ในอีก 5 ปีนับจากนี้

 

นั่นทำให้ Nitori ตัดสินใจที่จะเจาะตลาดในภูมิภาคนี้ด้วย โดยเริ่มจากในมาเลเซียในเดือนมกราคมปีกลาย และสิงคโปร์ซึ่งเพิ่งจะเปิดสาขาที่ถนนออร์ชาร์ด ย่านช้อปปิ้งที่สำคัญเมื่อเดือนเมษายน และได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ 

 

เป้าหมายในระยะสั้นนั้นอยู่ที่การขยายตลาดให้ได้ถึง 39 สาขาภายในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ ส่วนหลังจากนี้พวกเขาจะบุกตลาดในประเทศไทยต่อ ซึ่งแม้ต้องเปิดศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะกับยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA ที่เข้ามาครองหัวใจคนไทยร่วมสิบปีแล้ว หรือ MUJI แบรนด์ที่ชูเรื่องสินค้าไร้แบรนด์ซึ่งโหมทำการตลาดในไทยอย่างหนักและได้รับความนิยมสูงในคนไทย ไปจนถึงเชนใหญ่ท้องถิ่นอีกมากมายที่จับตามอง Nitori กันตาเขียว

 

แต่ อากิโอะ นิโตริ มั่นใจว่าคนไทยกับ Nitori นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีใจให้กัน  เพราะคนไทยชอบสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่นอยู่แล้ว และเชื่อว่าราคาของ Nitori จะถูกใจคนไทยมากกว่าคู่แข่ง

 

ตามข้อมูลแล้ว Nitori ตั้งเป้าที่จะตั้งสาขาในกรุงเทพฯ ให้ได้ถึง 10 แห่งก่อน ส่วนหลังจากนี้หากประสบความสำเร็จด้วยดีก็มีโอกาสที่จะขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดอีก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในฐานกำลังการผลิตอยู่แล้วด้วยจึงได้เปรียบเรื่องโลจิสติกส์ไปอีก

 

เรียกว่าประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคนี้ และเป็นหนึ่งในตลาดที่ท้าทายอย่างมาก

 

ก็ต้องดูกันว่าเพลงดาบนิโตริจะฟาดฟันกับคู่แข่งที่เข้มแข็งในเมืองไทยได้ไหวแค่ไหน ซึ่งยังไม่ต้องรีบร้อนไป ยังเหลือเวลาอีกร่วม 1 ปีกว่าที่เราจะพบคำตอบที่แท้จริงกัน

 

แต่อย่างน้อยที่สุดวันนี้เราก็น่าจะพอได้รู้จัก Nitori กันมากขึ้นแล้วใช่ไหม 🙂


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising