Nissan วางแผนลงทุนในธุรกิจ EV ของ Renault ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นมากถึง 15% หลังทั้ง 2 บริษัทบรรลุตกลงข้อตกลงความร่วมมือฉบับใหม่ โดย Renault เตรียมปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Nissan ลงเหลือ 15% ด้วย
Renault และ Nissan Motor Co. ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือฉบับใหม่ เพื่อลดความตึงเครียดที่มีมายาวนานระหว่างทั้ง 2 บริษัท พร้อมเสริมความแข็งแกร่ง ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ก็จริง แต่เมืองไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถที่จะใช้แบตเตอรี่ 100%
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
โดยส่วนหนึ่งของดีลใหม่นี้ Renault จะลดการถือหุ้นใน Nissan ให้เหลือ 15% จาก 43% เพื่อปรับสมดุลความสัมพันธ์ด้านเงินทุนของทั้ง 2 บริษัท และแก้สาเหตุความขัดแย้งที่ทำให้ความร่วมมือต่างๆ ล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ข้อตกลงฉบับดังกล่าวยังพูดถึงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นทั่วโลกร่วมกันด้วย
มากกว่านั้น Nissan ยังวางแผนจะลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของ Renault อย่าง Ampere ซึ่งเป็นยูนิตที่แยกการดำเนินงานออกจากยูนิตเครื่องยนต์สันดาปของ Renault ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นมากถึง 15% ด้วย
โดยข้อตกลงฉบับสิ้นสุด (Final Pact) รวมถึงการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้
ด้าน Luca de Meo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Renault กล่าวว่า โครงการเหล่านี้สามารถสร้างผลกำไรหลายร้อยล้านยูโรให้กับบริษัททั้งสอง และอาจขยายไปถึงหลายพันล้าน ‘ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี’
การปรับการร่วมทุนครั้งใหม่นี้ยังรวมถึงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นในอเมริกาใต้ อินเดีย และยุโรป ซึ่งรวมถึงรถตู้ไฟฟ้า ‘FlexEVan’ ด้วย
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่ยุ่งยากเป็นเวลานานหลายเดือน ส่วนหนึ่งมาจากเขตเวลาที่แตกต่างกัน โดยการประชุมที่สำคัญมักเกิดขึ้นผ่านการประชุมวิดีโอทางไกลในช่วงกลางดึก นอกจากนี้ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างฝรั่งเศสและญี่ปุ่นก็นำไปสู่ความเข้าใจผิดบ่อยครั้ง
ทำไม Renault และ Nissan ต้องดีลกันใหม่?
ดีลนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยบรรเทาความตึงเครียดและความขุ่นเคืองใจที่มีมานานหลายปีของทั้ง 2 บริษัท เนื่องจาก Renault มีสัดส่วนการถือหุ้นขนาดใหญ่กว่าใน Nissan โดยสัดส่วนการถือหุ้นของ Renault ยังรวมถึงสิทธิในการออกเสียงที่ Nissan ไม่มีด้วย
รวมไปถึงออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ของกิจการร่วมทุน (Ventures) ระหว่าง Renault และ Nissan ที่มีอายุเกือบ 24 ปี ซึ่งเกือบจะพังทลายลงหลังจากการล่มสลายของ Carlos Ghosn อดีตซีอีโอของ Nissan เมื่อปี 2018 โดยข้อตกลงพันธมิตรใหม่นี้จะถูกนำมาใช้เป็นระยะเวลา 15 ปีด้วย
นอกจากนี้ Tatsuo Yoshida นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence ยังกล่าวว่า Nissan ต้องการอิสระในการจัดการที่มากขึ้น แต่หาก Nissan ซื้อหุ้นของตัวเองคืน นั่นก็จะเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นของ Nissan เอง แต่เมื่อพิจารณาจากเงินสดในปัจจุบันแล้ว สิ่งนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นในตอนนี้
Renault วางแผนที่จะโอนหุ้น 28.4% ของ Nissan ไปยังกองทรัสต์ของฝรั่งเศส โดยสิทธิในการออกเสียงจะถูกทำให้เป็นกลางสำหรับการตัดสินใจส่วนใหญ่ และบริษัทจะยังได้รับประโยชน์จากเงินปันผลของ Nissan ต่อไปจนกว่าจะมีการขายหุ้นออกไป
Luca de Meo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Renault ก่อนหน้านี้เคยเปิดเผยว่า ได้ทำงานเป็นเวลาหลายต่อหลายเดือนเพื่อสร้างความไว้วางใจกับ Makoto Uchida ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Nissan เพื่อเสนอราคา และรีเซ็ตความร่วมมือกัน
อ้างอิง: