×

จาก ‘ขยะในโรงงาน’ สู่ ‘Nike Space Hippie’ สนีกเกอร์ที่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ของไนกี้

16.07.2020
  • LOADING...

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามงาน Nike’s 2020 Future Forum ที่จัดขึ้นที่กรุงนิวยอร์ก จะเห็นว่านอกเหนือจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กีฬาใหม่ๆ ของไนกี้ ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวชูโรงแล้ว หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ได้แก่ การที่ไนกี้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) เน้นการนำวัสดุเหลือใช้มาทำเครื่องแต่งกายและรองเท้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไนกี้เคยพูดเรื่องนี้แล้วในแคมเปญ ‘Move to Zero’ ที่เชื่อว่าหากว่าเราปกป้องโลกใบนี้ได้ เราก็สามารถปกป้องอนาคตของวงกีฬาได้เช่นกัน อย่างการคิดค้นวัสดุอย่างฟลายนิต (Flyknit) ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างนี้ 

 

และเพื่อให้ความเชื่อนี้เป็นจริงขึ้นมา ทางไนกี้จึงร่วมมือกับทีมนักวิจัยเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะอากาศที่มีผลต่อสมรรถนะของนักกีฬา ที่เริ่มเห็นได้ชัดจากสภาวะอากาศที่ร้อนเกินปกติ ส่งผลให้นักกีฬาเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ อาการเจ็บป่วย และสภาวะทางอารมณ์ของนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักกีฬาที่ต้องเล่นกีฬากลางแจ้ง อย่างนักวิ่งมาราธอนและนักฟุตบอล

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว ปีนี้พวกเขาจึงเปิดตัวคอลเล็กชันพิเศษ ซึ่งเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ที่ใครๆ มองว่าเป็นเศษขยะในโรงงาน มาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งฝั่ง Performance และสตรีทแวร์ โดยมีโปรดักต์นำร่องเป็นรองเท้าผ้าใบ 4 รุ่น ที่ผลิตออกมาในจำนวนจำกัด ในชื่อ Nike Space Hippie

 

 

จากขยะสู่รองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษ 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เมื่อ Nike Space Hippie ออกวางจำหน่าย พวกมันจะ Sold out ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที เพราะนี่เป็นรองเท้ารุ่นพิเศษที่ใช้นวัตกรรมล้ำสมัยในการผลิต และเปรียบเสมือนหลักไมล์สำคัญที่ไนกี้ต้องการสื่อสารกับชาวโลกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อขยะใหม่ ในเมื่อพวกมันสามารถป้องปกโลกของเราได้  

 

 

ความพิเศษของรองเท้าคู่นี้ได้แก่การเป็นคอลเล็กชันรองเท้า ที่ผลิตขึ้นจากเศษวัสดุเหลือทิ้งในโรงงานผลิตของไนกี้ ซึ่งเหล่าพนักงานได้ตั้งชื่อให้ขยะเหล่านี้ว่า ‘ขยะอวกาศ’ หรือ Space Junk แต่เมื่อโปรเจกต์นี้ได้ถือกำเนิดขึ้น ทางทีมออกแบบจึงนำเศษวัสดุเหล่านั้นมารีไซเคิล เพื่อก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีคุณค่ามากกว่า ภายใต้แนวความคิดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างครบวงจร (Circular Design) ที่เริ่มตั้งแต่การเลือกวัสดุให้น้อยที่สุดเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานระดับต่ำ และการออกแบบกล่องใส่รองเท้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จนได้มาเป็นรองเท้าผ้าใบที่สามารถ ‘ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ในระดับต่ำที่สุด’ เท่าที่ไนกี้เคยทำมา

  

Nike Space Hippie คอลเล็กชั่นนี้ปล่อยมาทั้งหมด 4 รุ่น 

 

ถอดรหัสรองเท้าที่เกิดจากวัสดุรีไซเคิล 85-90%

เรามาดูกันว่าที่รีไซเคิลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น แต่ละส่วนทำมาจากอะไรบ้าง เริ่มจากส่วน Upper ที่ใช้ผ้านิต ทำมาจากวัสดุที่เรียกว่า Space Waste Yarn หรือเส้นใยรีไซเคิล 100% ซึ่งได้มาจากขวดพลาสติก เสื้อยืด หรือเศษเส้นด้าย

 

ในส่วนของพื้นรองเท้าด้านในที่ใช้รับแรงกระแทก ได้มาจากวัสดุเหลือใช้จากการผลิตรองเท้ารุ่น Nike Zoom Vaporfly 4 % และโฟม ZoomX Foam ซึ่งสายพานการผลิตชิ้นส่วนนี้สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือน้อยกว่าโฟมไนกี้รุ่นอื่นๆ

 

ในขณะที่พื้นรองเท้าหรือส่วนที่เรามองเห็นจากด้านนอก ทำมาจากโฟมเครเตอร์ (Crater Foam) ที่นำโฟมไนกี้แบบธรรมดาผสมกับ Nike Grind Rubber 15% ด้วยวิธีนี้ทำให้เกิดเป็นพื้นรองเท้าที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ดี ทั้งยังแปลกตาในแง่ของงานดีไซน์

  

 

มุมมองของดีไซเนอร์ที่มีต่อการใช้วัสดุเหลือทิ้ง

ในขณะที่เมืองไทยเองก็มีแบรนด์แฟชั่นที่มีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกันอย่าง No Service Service (@noserviceservice) ที่ บี-บดินทร์ อภิมาน ดีไซเนอร์ประจำแบรนด์ได้ออกแบบเสื้อผ้าด้วยการนำของมือสอง หรือเสื้อผ้าที่คนโยนทิ้ง มาดีไซน์เป็นชิ้นงานใหม่ ช่วยสร้างมูลค่าให้กับของเหลือใช้ โดยที่ไม่เพิ่มจำนวนขยะเพิ่มเติม โดยเขามองว่าต่อไปในอนาคต การออกแบบเพื่อความยั่งยืนจะกลายมาเป็นหัวใจหลักที่แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญ 

  

บี-บดินทร์ อภิมาน ดีไซเนอร์จาก No Service Service

 

 

ผลงานที่ทำขึ้นจากเสื้อผ้ามือสองของ No Service Service (เครดิตภาพจาก @noserviceservice / Instagram) 

 

 

“ช่วงหนึ่งผมเคยมองว่าการทำอะไรแบบนี้เป็นแค่งาน CSR ขององค์กรหรือบริษัท แต่ต่อไปมันไม่ใช่แล้ว ต่อไปจะเป็นสิ่งจำเป็นที่แบรนด์ต่างๆ จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในพื้นฐานการผลิต” บียังเสริมว่า ปัจจุบันสินค้ารีไซเคิลมักมีราคาสูงกว่าสินค้าที่ได้จากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น แต่เมื่อใดที่ความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้น สินค้าเหล่านี้จะหลากหลายยิ่งขึ้น และราคาถูกลงจนใครๆ ก็หาซื้อได้

 

นอกจากนี้เขาไม่เชื่อว่าการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้จะทำให้ความงามของสินค้า ‘ด้อย’ ลง “ในมุมมองของดีไซเนอร์ ผมไม่ได้มองว่าการใช้ของรีไซเคิลเป็นข้อจำกัดใดๆ ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของดีไซเนอร์ ที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นออกมาสวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คนให้มูลค่าและความสำคัญกับความยั่งยืน”  

 

เปลี่ยนมุมมองใหม่ ขยะไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป

ส่วนตัวผู้เขียน ต้องยอมรับว่าในแง่ของการผลิตรองเท้าคู่นี้ที่อยู่ในกรอบของความยั่งยืน (Sustainability) ถือว่าตอบโจทย์ทั้งเรื่องการใช้งานและความสวยงาม อีกยังสวมใส่สบายตามแบบฉบับของรองเท้าไนกี้ ที่นำนวัตกรรมในรองเท้า Performance มาสู่ไลน์สินค้าสตรีทแวร์ได้อย่างลงตัว และเพื่อเป็นการตอกย้ำด้านการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ พนักงานเก็บขยะใน กทม. อย่าง อุ๋ย (Mr.Waste) จึงเดินมาส่งรองเท้าให้ถึงออฟฟิศ THE STANDARD POP สิ่งนี้ทำให้เราเห็นถึงเมสเสจบางอย่างที่ต้องการสื่อสารว่า นวัตกรรมยุคใหม่สามารถชุบชีวิตขยะเหลือใช้ให้กลายเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าได้จริง      

 


 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความพยายามของไนกี้ในการผสมผสานแฟชั่น และการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในการผลิตสินค้า แทนที่จะใช้วัสดุใหม่เอี่ยมที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และซับซ้อนน้อยกว่ามาก ซึ่งถ้ามองด้วยตาเปล่า คุณอาจไม่เห็นถึงความแปลกแยกของรองเท้าคู่นี้เมื่อวางอยู่บนชั้นรองเท้าในร้านค้า คุณอาจจะหยิบขึ้นมาดูเพราะชื่นชอบในงานดีไซน์ และซื้อกลับบ้านไปเพราะใส่สบายดี โดยที่ไม่คาดคิดว่ารองเท้าคู่นี้ผลิตขึ้นมาจากขยะ เพราะขยะจะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป หากมูลค่าของมันถูกยกสูงขึ้น และเกิดการเวียนกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

 

เรามองว่าบางทีนี่อาจจะเป็นต้นแบบของรองเท้าแห่งโลกอนาคต ที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้งานหรือสวมใส่ ล้วนสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ที่มีค่าใกล้เคียงเลขศูนย์ และเกิดจากการใช้วัสดุรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังเช่นที่แบรนด์กีฬานี้ได้ตั้งใจไว้ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X