สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเรื่องความสำคัญของตลาดอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพและเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการลงทุน โดยคาดว่าจำนวนผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 692 ล้านคนในปี 2565 โดยอัตราความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสะท้อนว่า ผู้บริโภคเห็นว่าสถานะทางการเงินของตนดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา และผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) เป็นทิศทางที่ผลักดันการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าประเทศฟิลิปปินส์จะมีประชากรในเมืองที่มีความหนาแน่นปานกลางเติบโตมากกว่า 30% ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของเมืองขนาดกลางมากกว่า 62% ในช่วงปี 2558-2568
นีลเส็นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในมุมบวก คาดว่าภาคการส่งออกจะเติบโต 7.2% ภาคการท่องเที่ยวเติบโตถึง 9% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะขยายตัว 5% ส่วนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG จะเติบโต 3-4% ขนาดครัวเรือนไทยเล็กลงที่ 3 คนต่อครัวเรือน ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวก ซื้อสินค้าใกล้บ้าน ร้านสะดวกซื้อจึงจะยังเติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกับการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกและผลักดันให้ภาคการขนส่งเติบโตแบบก้าวกระโดด ปัจจัยด้านเวลาจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าตัวเงินและมีผลต่อการตัดสินใจของผู้คน ความสะดวกสบาย (Convenience) จึงเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจนับจากนี้
สำหรับการบริโภคสื่อ นีลเส็นชี้ว่า ผู้คนยังดูโทรทัศน์กันอยู่ และดูด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น เนื่องจากความหลากหลายของคอนเทนต์ นอกจากสื่อออนไลน์ที่เติบโตต่อเนื่องแล้ว ธุรกิจที่มีศักยภาพคือสื่อนอกบ้านที่ปรับตัวเป็นดิจิทัลมากขึ้น สอดรับกับการขยายตัวของเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตนอกบ้านมากกว่าอยู่ที่บ้าน ส่วนการเลือกซื้อสินค้า ผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่พรีเมียมและราคาสูงมากขึ้น โดยวัดจากคุณภาพสินค้าที่โดดเด่น การพัฒนาสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม จึงถึงเวลาที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาสินค้าพรีเมียม (Premiumization) เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
สิ่งที่น่าสนใจของตลาดประเทศไทยและมาเลเซีย กลุ่มสินค้าราคาพรีเมียมมีอัตราการเติบโตที่ดี พบว่า 73% ของรายได้สินค้าประเภทบำรุงผิวในร้านขายยามาจากกลุ่มสินค้าพรีเมียม ส่วนประเทศไทยแม้จะประสบกับการชะลอตัวของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดสินค้าพรีเมียมยังเติบโตได้ดีอยู่และไม่ได้รับผลกระทบเหมือนกลุ่มอื่นแต่อย่างใด
วอน ไรอัน กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนีลเส็นให้ความเห็นกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า ต้องจับตาการปรับตัวของผู้ประกอบการเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายควบคุมน้ำตาลผ่านโครงสร้างทางภาษีบังคับใช้แล้ว เช่น เดียวกับภาษีสุราและยาสูบใหม่ที่มีผลต่อยอดขายโดยรวมของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมค้าปลีก เชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตแอลกอฮอล์จะใช้วิธีปรับเปลี่ยนสูตรและขยายสินค้ากลุ่มพรีเมียมมากขึ้น และแนวโน้มราคาสินค้าประเภทนี้ก็จะสูงขึ้นด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย)