×

จากเน็ตไอดอลสู่ ‘ยุคอินฟลูเอ็นเซอร์’ นีลเส็นเผยคนไทยกว่า 75% ให้ความไว้วางใจและเชื่อถือ โดยไทยมีอินฟลูเอ็นเซอร์กว่า 2 ล้านคน

17.06.2022
  • LOADING...
ยุคอินฟลูเอ็นเซอร์

นีลเส็น ประเทศไทย เผยข้อมูลจากงานซีรีส์สัมมนาออนไลน์ Nielsen Media Talk ในหัวข้อ Winning in the Influencer Era ซึ่งเปิดเผยอินไซด์สำคัญของเทรนด์ตลาดอินฟลูเอ็นเซอร์ในประเทศไทย

 

โดยวงการอินฟลูเอ็นเซอร์ในไทยเริ่มเห็นเด่นชัดมาตั้งแต่ปี 2543 โดยอินฟลูเอ็นเซอร์ในยุคนั้นอยู่ในรูปแบบของเน็ตไอดอล โดยยุคบุกเบิกที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นได้แก่ เบเบ้ ธันย์ชนก หรือ บอลลูน พินทุ์สุดา ต่อมาในยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่หลาย ได้มีการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ในการโฆษณาและเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มความงามเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ในการทำการตลาด ซึ่งในปี 2557 มีบิวตี้บล็อกเกอร์ที่เป็นที่รู้จักและโด่งดังเป็นจำนวนมาก เช่น เมอา และโมเมพาเพลิน 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอดีต เน็ตไอดอลหรืออินฟลูเอ็นเซอร์จะมาจากกลุ่มที่หน้าตาดีเสียส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป คนไทยยอมรับความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ช่วงปี 2562 เราได้เห็นอินฟลูเอ็นเซอร์รูปแบบใหม่ๆ จากหลากหลายอาชีพและวัย ใครก็สามารถเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ เพียงแค่มีความสามารถและเป็นตัวของตัวเอง และมากไปกว่านั้นจากกระแสของ Metaverse ตอนนี้ในไทยเรามี Virtual Influencer เรียบร้อยแล้ว

 

จากการศึกษาของ Nielsen Trust in Advertising พบว่าคนไทย 75% ให้ความไว้วางใจโฆษณา ความคิดเห็น และการรีวิวผลิตภัณฑ์จากอินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มองว่าอินฟลูเอ็นเซอร์เป็นช่องทางที่เอาไว้ติดตาม อัปเดตเทรนด์และข่าวใหม่ๆ (22%) และยังมองว่าเป็นช่องทางที่ให้ความบันเทิงสูงอีกด้วย (20%)

 

กลุ่มความงามเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินสูงสุดในการตลาดอินฟลูเอ็นเซอร์ ทั้งในไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยสัดส่วนที่มากถึง 42% รองลงมาได้แก่ สินค้าแฟชั่น, อาหารและเครื่องดื่ม, เทคโนโลยี, ฟิตเนส และสินค้าลักชัวรี

 

โดยเมื่อเจาะในกลุ่มความงามพบว่า สกินแคร์เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เม็ดเงินไปกับอินฟลูเอ็นเซอร์ในสัดส่วนถึง 70% โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงผิวและครีมกันแดด โดยรองลงมาคือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม นิยมใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ในการโปรโมตเช่นกัน

 

จากข้อมูลของ Nielsen InfluenceScope พบว่า ประเทศไทยมี Active Influencer มากกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการเติบโตและเพิ่มขึ้นของตลาดทำให้มีวิธีการเลือกอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ และแคมเปญมีความซับซ้อนขึ้น โดยแนวทางและวิธีการเลือกสามารถพิจารณาได้จาก 4R Model 

 

  1. Reach หรือการเข้าถึง จำนวนคนที่เข้าถึงอินฟลูเอ็นเซอร์นั้นๆ ดูได้จากยอดการติดตามว่ามีมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมีผู้ติดตามจำนวนมาก โอกาสในการเพิ่มการเข้าถึงก็มีมากขึ้น
  2. Relevance ความเกี่ยวข้องของอินฟลูเอ็นเซอร์และแบรนด์ ผ่านข้อมูลโปรไฟล์ของอินฟลูเอ็นเซอร์ว่ามีความสนใจ ไลฟ์สไตล์ และทัศนคติ เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือแคมเปญหรือไม่
  3. Resonance การมีส่วนร่วม สามารถวัดจากเอ็นเกจเมนต์ของอินฟลูเอ็นเซอร์ ว่าผู้ติดตามมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน จากจำนวนยอดการดู ไลก์ แชร์ คอมเมนต์ และรวมถึง Sentiment ด้วย ถ้าเราจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ได้รับ Negative Sentiment สูง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์หรือแคมเปญได้เช่นกัน 
  4. Return ผลตอบกลับจากการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้คุณวัดความคุ้มทุนหรือขาดทุนจากการโฆษณาผ่านช่องทางนั้นๆ ว่า เมื่อใช้อินฟลูเอ็นเซอร์คนนี้แล้ว เราได้ยอดซื้อกลับมาเท่าไร หรือคนคลิกร่วมแคมเปญมากน้อยแค่ไหน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X