×

กสม. มีมติหยิบยกกรณีครูทำร้ายร่างกายนักเรียนขึ้นตรวจสอบ ชงข้อเสนอแก้ปัญหาให้รัฐบาล

โดย THE STANDARD TEAM
01.10.2020
  • LOADING...
ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์

วานนี้ (30 กันยายน) ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามและมีข้อห่วงกังวลกรณีบุคลากรของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์มีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน ซึ่งปรากฏเป็นข่าวไปในวงกว้าง และได้มอบหมายให้สำนักงาน กสม. โดยรองเลขาธิการ กสม. พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สังเกตการณ์การเข้าร้องเรียนของกลุ่มผู้ปกครองต่อผู้บริหารโรงเรียน ณ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ผ่านมานั้น

 

กสม. ในคราวประชุมด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 23/2563 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 จึงได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องดังกล่าวและรับทราบข้อเท็จจริงอันรับฟังในเบื้องต้นได้ว่า มีเด็กนักเรียนถูกกระทำความรุนแรงในสถานศึกษา

 

ประกายรัตน์กล่าวอีกว่า กสม. เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 71 วรรค 3 บัญญัติให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ข้อ 19 กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทั้งปวงในอันที่คุ้มครองเด็กจากความรุนแรงทางร่ายกายและจิตใจ การทำร้ายหรือการกระทำอันมิชอบฯ และข้อ 37 (ก) กำหนดให้รัฐภาคีประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้ายฯ ขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ยังให้การคุ้มครองเด็กและเด็กปฐมวัยให้อยู่รอดปลอดภัยและพ้นจากการถูกล่วงละเมิดไม่ว่าทางใด

 

“เมื่อปรากฏว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎหมายภายในประเทศ ทั้งเป็นกรณีที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับสถานศึกษาระดับใด กสม. จึงมีมติเห็นควรหยิบยกกรณีบุคลากรของโรงเรียนกระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนขึ้นตรวจสอบและศึกษาตามหน้าที่และอำนาจมาตรา 26 (3) ประกอบมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเชิงระบบ และเสนอต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ประกายรัตน์กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising