วันนี้ (7 เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดนิทรรศการ ‘มองให้ชัด ยืนหยัดเพื่อสิทธิทุกคน’ ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok ในหัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-13 มีนาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดย รตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม 5 หัวข้อ โดยมีผู้ลงความคิดเห็น (โหวต) ทั้งสิ้น 45,284 โหวต ในหลากหลายประเด็นดังนี้
- ผู้หญิงมีเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้ง มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,238 โหวต คิดเป็นร้อยละ 97.53 และไม่เห็นด้วย 183 โหวต คิดเป็นร้อยละ 2.47
- เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ไม่มีวุฒิภาวะพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ มีผู้โหวตเห็นด้วย 2,313 โหวต คิดเป็นร้อยละ 24.20 และไม่เห็นด้วย 7,246 โหวต คิดเป็นร้อยละ 75.80
- Sex Worker ควรเป็นอาชีพถูกกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,266 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48 และไม่เห็นด้วย 112 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52
- ชายและหญิงเท่านั้นที่สมรสได้ตามกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 143 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52 และไม่เห็นด้วย 9,264 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48
- การประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรม มีผู้โหวตเห็นด้วย 6,307 โหวต คิดเป็นร้อยละ 54.75 และไม่เห็นด้วย 5,212 โหวต คิดเป็นร้อยละ 45.25
จากกิจกรรมแสดงความคิดเห็นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมทั้ง 5 ข้อ สรุปได้ว่า ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตซึ่งโดยมากเป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้การทำแท้งที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 และ 20 สัปดาห์ สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และในอีกประเด็นที่น่าสนใจ พบว่าประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าอาชีพพนักงานบริการทางเพศ หรือ Sex Worker ควรเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย
ขณะที่ประเด็นสิทธิเด็ก ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่เห็นว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในเรื่องต่างๆ อันสอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี สำหรับประเด็นการสมรสเท่าเทียมของคนทุกเพศ ได้รับเสียงโหวตเห็นด้วยเกือบทั้งหมด ส่วนผลโหวตประเด็นโทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมหรือไม่นั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก คือ ประมาณร้อยละ 55 ต่อร้อยละ 45
“การสำรวจความคิดเห็นจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เพื่อวัดการรับรู้และมุมมองของประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ยังเป็นข้อถกเถียง ซึ่งแม้จะไม่ได้สะท้อนความเห็นที่แท้จริงของคนในสังคมทั้งหมด แต่ในทุกประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่ กสม. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ กสม. โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มุมมอง และความเชื่อของผู้คนกลุ่มต่างๆ ต่อไป” รตญากล่าว