ในยุค Disruption ที่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและพลิกผัน เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ต่างๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตแทบจะทุกมิติ ที่เห็นชัดๆ คือด้านดิจิทัลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงผู้คนทั่วไปที่กำลังปรับตัวตามเทรนด์เหล่านี้เพื่อใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและใส่ใจโลกมากขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินชีวิตของผู้คนในชีวิตประจำวันอย่างธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าก็ต้องมีความพร้อมในการนำเอาเทคโนโลยีที่สอดรับกับเทรนด์เหล่านี้มาใส่ในสมการของการทำธุรกิจให้ Smart และ Sustainable ขึ้น เริ่มตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ไปจนถึงกระบวนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการต่อยอดให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่ยั่งยืนต่อโลกใบนี้
กระแสดิจิทัลที่มาแรงไม่หยุดนิ่ง (Digitalization)
เทคโนโลยีหนึ่งที่น่าจับตามองคือบล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงเวลานี้ โดยบล็อกเชนถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการเก็บข้อมูลดิจิทัลและเชื่อมโลกออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้พรมแดนและเรียลไทม์ จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้มากขึ้นและอาจจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจซื้อ-ขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในอนาคต
โดยทั่วไป ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจมีความต้องการใช้พลังงานในอัตราที่สูง และมีระบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบเสรี อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่บ้านปู เพาเวอร์ มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ Energy Trading มาตั้งแต่ปี 2562 หรือในสหรัฐอเมริกาที่ในปัจจุบันมีระบบการจำหน่ายไฟฟ้าผ่านตลาดกลาง (Centralized Markets) ที่บริหารโดยหน่วยงานอิสระและไม่หวังผลกำไรอย่าง ISO (Independent System Operators) หรือ RTO (Regional Transmission Operators) สำหรับในตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบนี้นั้น ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด หรือต้องวางหลักประกันก่อนที่จะเข้าไปซื้อขายไฟฟ้าในตลาดได้
ข้อกำหนดเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปสำหรับผู้ซื้อที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือผู้บริโภคทั่วไป แต่การนำบล็อกเชนมาใช้ในธุรกิจซื้อ-ขายไฟฟ้าอาจจะสามารถช่วยลดอุปสรรคเหล่านี้ เพราะการทำธุรกรรมซื้อ-ขายสามารถเกิดขึ้นได้แบบกระจายตัว (Decentralization) โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง (Peer-to-Peer) ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในฝั่งของผู้ซื้อ ขยายโอกาสให้ผู้ซื้อเข้าสู่ตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบนี้มากขึ้น และส่งเสริมให้เกิดปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเช่นกันที่จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ได้โดยตรง เข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น และสามารถประเมินเพื่อขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดรับกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สะอาดขึ้นจากฝั่งผู้บริโภคได้อีกด้วย
กระแสลดโลกร้อนที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ (Decarbonization)
อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่เข้ามาเป็นปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจไฟฟ้า คือความพยายามที่จะลดและควบคุมภาวะโลกร้อนด้วยมาตรการ ‘Decarbonization’ หรือการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนในยุคปัจจุบันก็คือ กระแสเรื่อง EV Car หรือนโยบาย Net Zero ที่แต่ละประเทศก็ทยอยประกาศออกมา ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรงยิ่งขึ้นจากการประชุม COP26 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชาคมโลกได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น ผู้ผลิตมีทางเลือกหลายทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางเลือกหนึ่งคือการมองหาแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและดำเนินตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ อย่างเช่นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ และลม ซึ่งบ้านปู เพาเวอร์ ก็มุ่งหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในประเทศออสเตรเลียที่เป็นฐานธุรกิจแหล่งพลังงานของกลุ่มบ้านปู
ล่าสุดก็ได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl) กำลังผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra) กำลังผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ หรือล่าสุดที่บ้านปู เพาเวอร์ เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ (Ha Tinh) กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม เพิ่มเติมจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีอยู่แล้ว ด้วยเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งในแง่นโยบายภาครัฐและความต้องการของตลาดที่เหมาะแก่การรองรับการขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนให้เติบโตในระยะยาว
เมื่อเราคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเน้นพลังงานสะอาดอย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็ต้องไม่ลืมเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานด้วย แน่นอนว่าพลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัดในการผลิตด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความเข้มข้นของแสงแดดและแรงลม หรือช่วงเวลาที่มีแสงแดดและลมที่เอื้อต่อการผลิต ผู้ผลิตไฟฟ้าจึงต้องมุ่งแสวงหาแนวทางเพื่อการส่งมอบพลังงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้แก่ผู้บริโภค โดยผสมผสานทั้งพลังงานความร้อนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ อย่างสมดุล ซึ่ง HELE นับเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการลดมลภาวะจากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงงานความร้อน (Thermal Power Plant)
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้า Temple I ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ที่บ้านปู เพาเวอร์ ได้เข้าไปลงทุนในปี 2564 นี้ ก็ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbine (CCGT) และมีระบบจัดการน้ำทิ้งที่ดี มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ และสามารถลดการปล่อยน้ำเสียจนเกือบเป็นศูนย์ (Near Zero Liquid Discharge Facility) ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้นในประเทศที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซชนิดอื่นผ่านกระบวนการทางเคมี จากนั้นจะกักเก็บและฉีดลงสู่ใต้ดินความลึกหลายกิโลเมตรไม่ให้รั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายล้านปี หรือการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) ซึ่งเกิดจากการแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน เพื่อผลิตเป็นความร้อนที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เช่นเดียวกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ แต่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากกว่า เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องศึกษาและมีความเข้าใจเช่นกัน
พฤติกรรมผู้บริโภคที่พร้อมเลือกใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น (Greener Consumers)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจและผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ต่างๆ ได้ตั้งเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์
หลายบริษัทจัดตั้งหน่วยงานภายในมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และมีการจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิตโดยไม่ผ่านการไฟฟ้าหรือหน่วยงานกลางมากขึ้น หรือแม้แต่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของตนเองขึ้นมา แนวโน้มแบบนี้กำลังเกิดขึ้นและเห็นได้ชัดไม่เฉพาะกับบริษัทใหญ่ๆ แต่รวมถึงผู้ใช้รายย่อย เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ ที่ให้ความสนใจในพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ในเท็กซัส หรือรัฐอื่นๆ ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ที่ลูกค้าตามบ้านสามารถเลือกผู้ให้บริการไฟฟ้าได้ โดยผู้ให้บริการมักจะมีแพ็กเกจไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเสนอให้เป็นทางเลือก และลูกค้าหลายรายเองก็ยินดีที่จะสมัครใช้แพ็กเกจพวกนี้ ถึงแม้จะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น แน่นอนว่าผู้ผลิตไฟฟ้าก็ต้องเริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านพลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มมองเห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและพยายามปรับทิศทางการใช้ไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านผู้บริโภคบางส่วนก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและมองหาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานที่พึ่งพาได้ด้วย เพราะในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน หรือในพื้นที่ที่อาศัยไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ก็เคยเกิดปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่เป็นบริเวณกว้างและกินเวลานาน อย่างเช่น เหตุการณ์ Blackout ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา
จากที่กล่าวมา ประเด็นสำคัญของการตอบรับเทรนด์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของโลกจึงไม่ใช่เพียงการสร้างซัพพลายให้เท่าทันกับดีมานด์เท่านั้น แต่เป็นการสร้างซัพพลายด้วยวิธีการที่ยั่งยืนขึ้น สะอาดขึ้น และชาญฉลาดมากขึ้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่บ้านปู เพาเวอร์ ทำอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter รวมถึงการสร้างสมดุลในสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Generation) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Generation)
ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ถึง 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2568 ของบ้านปู เพาเวอร์ จึงมิใช่เพียงเพื่อความเติบโตทางธุรกิจหรือเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่พอร์ตโฟลิโอของกำลังผลิตที่กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ที่เราเข้าไปลงทุน จะต้องสะท้อนความต้องการของแต่ละตลาดประกอบกับทิศทางความยั่งยืนของทั่วโลก ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า ความเหมาะสมของราคา และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เพราะนี่คือคุณภาพของพลังงานในแบบที่โลกยุคใหม่ต้องการ