×

ทำไมไทยไม่ได้ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ปีนี้

07.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ไม่ได้มีเพียงแค่สมาชิกกลุ่ม G20 เท่านั้นที่จะเข้าร่วมหารือ แต่จะมีแขกที่ได้รับเชิญ (Invitees) สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่ดุลพินิจของประธานการประชุม
  • ไทยก็เคยได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 มาแล้วถึง 2 ครั้ง ได้แก่ ปี 2009 สมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ในฐานะประธานอาเซียน) และปี 2016 สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ในฐานะประธาน G77)
  • การได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ถึง 2 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในเวทีโลก ที่พยายามจะเป็นสะพานเชื่อมกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาให้ขับเคลื่อนและเดินหน้าเศรษฐกิจโลก รวมถึงมิติอื่นๆ ไปพร้อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

     การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เปิดฉากขึ้นแล้ววันนี้ที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน (7-8 กรกฎาคม) มีผู้นำจาก 19 ประเทศสมาชิก และ 1 องค์กรระหว่างประเทศ เป็นแกนหลักในการประชุมหารือ โดยมีนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ดำรงตำแหน่งเป็นประธานการประชุมในครั้งนี้

 

     Photo: SAUL LOEB/AFP     

     กลุ่ม G20 เป็นการขยายตัวของกลุ่ม G8 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก) ที่เปิดรับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปี 1999 ภายหลังการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในเอเชีย หรือ ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ เพื่อหารือกันในประเด็นต่างๆ ที่ประชาคมโลกกำลังเผชิญร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

     การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพจัดงานภายในกลุ่มประเทศสมาชิก การรวมกลุ่มนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก มีประชากรรวมกันคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรโลก ผลของการประชุมจึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางโลกในมิติต่างๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

     ประเทศไทยเองเคยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 มาแล้วถึง 2 ครั้ง คือในปี 2009 ที่จัดขึ้นที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร และครั้งล่าสุดคือปี 2016 ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืนและเพิ่มบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของตนบนเวทีโลก

 

Photo: Michale Kappeler/AFP     

รู้หรือไม่ การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในแต่ละครั้ง ไม่ได้มีเฉพาะผู้นำจากกลุ่มสมาชิกเท่านั้น

    ในช่วงแรกของการรวมกลุ่ม G20 ความร่วมมือระหว่างสมาชิกยังจำกัดอยู่เพียงแค่ในระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ รัฐมนตรีการคลังและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเท่านั้น ก่อนที่จะมีการยกระดับความร่วมมือมาเป็นระดับผู้นำประเทศหรือรัฐบาลในปี 2008 ซึ่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ รับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ขึ้นเป็นครั้งแรก

 

     Photo: Patrik Stollarz/AFP     

     นอกจากผู้นำ 19 ประเทศสมาชิกและตัวแทนจากสหภาพยุโรปแล้ว ประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในครั้งนั้นๆ มักจะเชิญประเทศนอกสมาชิก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นๆ ด้วยตามความเหมาะสม

     หากมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ขึ้น จะไม่ได้มีเพียงแค่สมาชิกกลุ่ม G20 เท่านั้นที่จะเข้าร่วมหารือ แต่จะมีแขกที่ได้รับเชิญ (Invitees) สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่ดุลพินิจของประธานการประชุม ในขณะเดียวกันก็จะมีบางรัฐหรือบางองค์กรระหว่างประเทศที่มักจะถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำทุกปี (Permanent Guest Invitees) แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกถาวรของกลุ่ม G20 แต่อย่างใด จนคล้ายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว

 

     Photo: Patrik Stollarz/AFP          

     องค์กรระหว่างประเทศเจ้าประจำ 11 องค์กร ได้แก่ สหภาพแอฟริกา (AU), ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC), สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN), ธนาคารโลก (WB), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การสหประชาชาติ (UN), องค์การการค้าโลก (WTO), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), หุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาทวีปแอฟริกา (NEPAD), องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคณะกรรมการดูแลสเถียรภาพทางการเงิน (FSB)

     ในปัจจุบัน มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ได้รับคำเชิญจากกลุ่ม G20 ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเป็นประจำทุกปีแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิก นั่นคือสเปน

 

     Photo: Patrik Stollarz/AFP     

ไม่ใช่ทุกประเทศจะได้รับคำเชิญ

     กลุ่มผู้นำ G20 มองว่า การมีประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมมากจนเกินไป จะยิ่งทำให้การตัดสินใจหรือหาข้อสรุปของประเด็นปัญหาทำได้ยากยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่ทุกประเทศจะได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุม

     ในแต่ละปี ประธานการประชุมจะมีสิทธิในการเลือกเชิญประเทศอื่น หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่น นอกเหนือไปแขกเจ้าประจำเข้าร่วมการประชุมตามความเห็นชอบของตน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกประเทศในทวีปเดียวกัน ประเทศที่เป็นกลาง หรือไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับวาระการประชุม เช่น ในปีนี้นางอังเกลา เลือกเชิญนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ในทวีปเดียวกัน รวมถึงนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์และเวียดนาม ที่ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากกลุ่ม APEC จึงจะเห็นได้ว่ามีผู้เข้าร่วมการประชุมหน้าใหม่สลับสับเปลี่ยนตลอดทุกปี

 

     Photo: Patrik Stollarz/AFP          

     แล้วทำไมสเปนถึงได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุม G20 ทุกปี

     ทำไมไทยถึงไม่ได้รับเชิญเป็นประจำเหมือนสเปน

     เพราะแม้ว่าสเปนจะประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2008 แต่สเปนก็ยังคงเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก และมีกำลังซื้ออยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก (โดยมีจีดีพีอยู่อันดับที่ 5 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป) อีกทั้งยังเป็นนักลงทุนอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่เข้าไปลงทุนในภูมิภาคลาตินเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความต้องการของรัฐบาลสเปนที่ไม่ต้องการจะเข้าเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่ม G20 จึงทำให้สเปนได้รับสถานะนี้ แม้จะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอจะเข้าเป็นสมาชิกได้ก็ตาม

 

บทบาทของไทยในการประชุม G20

     ถึงแม้ไทยจะไม่ได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับแนวหน้าของโลกจนสามารถเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม G20 ได้ แต่ไทยก็เคยได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 มาแล้วถึง 2 ครั้ง

 

Photo: ADEK Berry/AFP     

     โดยไทยได้รับคำเชิญครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นไทยได้รับคำเชิญจากนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประชุม World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 39 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในอาเซียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 (ไม่นับรวมอินโดนีเซียที่เป็นสมาชิกถาวร)

     การประชุมในครั้งนั้นเปิดพื้นที่ให้กับนายกรัฐมนตรีของไทยในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลไทยเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่ลุกลามไปทั่วเอเชีย การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นมีความหมายต่อไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการสร้างพื้นที่และจุดยืนของตนบนเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจแบบเปิดของไทยจะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย หากแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกประสบผลสำเร็จ

 

   Photo: Nocolas ASFOURI/AFP     

      และครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะประธานกลุ่ม G77 (กลุ่มแนวร่วมของประเทศกำลังพัฒนา) ได้รับคำเชิญจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประธานจัดการประชุม G20 ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ณ นครหางโจว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ไทย ในฐานะประธานกลุ่ม G77 ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว พร้อมกับชาติสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์และลาว ที่ได้รับเชิญในฐานะประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว

     ในโอกาสนี้ ไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานนโยบายและความเป็นหุ้นส่วนใหม่ (New Partnership) ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน นอกจากนี้ไทยยังพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) ให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ (New Alternative Choice) ในการบรรลุยังเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ

     การได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ทั้ง 2 ครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในเวทีโลกที่เป็นดังสะพานเชื่อม (Bridge Bulider) ระหว่าง G20 และ ASEAN รวมถึง G77 และ G20 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและครอบคลุมรอบด้าน

     ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้ในปีนี้ไทยจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม แต่ผลของการประชุมจะเปลี่ยนแปลงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งไทยเองก็ได้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีดังกล่าวแล้วก็ตาม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising