การโต้วาทีทางโทรทัศน์ก่อนการเลือกตั้ง คือวัฒนธรรมทางการเมืองที่สหราชอาณาจักรนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการโต้วาทีทางโทรทัศน์ของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 1960 การโต้วาทีของผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2010 โดยในตอนนั้นมีอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) จากพรรคแรงงาน (Labour Party), นายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และนายนิก เคลก (Nick Clegg) หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) เข้าร่วมการโต้วาทีทางโทรทัศน์ที่ถูกจัดขึ้นทั้งหมด 3 เวที โดยสถานีโทรทัศน์ ITV สถานีโทรทัศน์ Sky และสถานีโทรทัศน์และวิทยุ BBC
แต่ในปีนี้ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมทุกรายการโต้วาทีทางโทรทัศน์ก่อนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ส่งผลให้เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วมการโต้วาทีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนได้ผลัดกันมาตอบคำถามผู้ชมทางโทรทัศน์ทั้งเรื่อง Brexit ภาษี การศึกษา ไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์ แต่สุดท้าย เจเรมี คอร์บิน ได้ตัดสินใจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2017 ว่าจะเข้ารวมดีเบตกับพรรคอื่นๆ
การโต้วาทีทางโทรทัศน์คือการให้บทบาทสื่อกำหนดทิศทางการเลือกตั้ง?
นักการเมืองอังกฤษบางคนออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อว่า การโต้วาทีทางโทรทัศน์ของนักการเมืองนั้น นอกจากจะเป็นการขัดจังหวะการหาเสียงแล้ว ยังเป็นการให้บทบาทสื่อต่อการกำหนดทิศทางของการโต้วาที โดยเฉพาะการคัดเลือกหัวข้อคำถาม การคัดเลือกผู้ชมในสตูดิโอ และรวมไปถึงเวลาที่ผู้โต้วาทีแต่ละคนจะได้ในการพูดบนเวที แต่ด้วยแนวโน้มที่ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายกับการเมืองที่ไม่ตอบสนองต่อปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขา จึงทำให้หลายคนไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ เช่น กลุ่มคนอายุ 18-25 ปี ที่ไม่ได้ให้ความสนใจสถานการณ์การเมือง และออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด
ดังนั้นการหาเสียงตามพื้นที่ต่างๆ ของนักการเมือง การใช้สื่อสังคมออนไลน์และการโต้วาทีผ่านทางโทรทัศน์จึงเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถดึงคะแนนเสียงจากประชาชนได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจำนวนมากจะนั่งดูการโต้วาทีและตัดสินใจว่าตนเองจะลงคะแนนสนับสนุนพรรคการเมืองไหน
ในการเลือกตั้งปี 2010 นายนิก เคลก สามารถโชว์ทักษะการถกเถียงและความเป็นผู้นำได้ใจประชาชนมากที่สุด รองลงมาคือนายคาเมรอน และนายบราวน์ เมื่อนำมาโยงกับผลการเลือกตั้งที่ออกมา ซึ่งพรรคอนุรักษนิยมได้เพิ่มมา 97 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภาสามัญชนที่ 306 ที่นั่ง พรรคแรงงานเสียไปถึง 91 ที่นั่ง หลายคนจึงพยายามเชื่อมโยงว่าผลงานในการโต้วาทีที่น่าผิดหวังของนายบราวน์ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคแรงงานหลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลมานานถึง 13 ปี
นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ปฏิเสธเข้าร่วมดีเบตนโยบายกับพรรคฝ่ายค้าน
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ออกมาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการดีเบตหลังจากตัดสินใจยุบสภาสามัญชนในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าต้องการใช้เวลาหาเสียงกับประชาชนมากกว่า
การปฏิเสธเข้าร่วมการโต้วาทีนำมาสู่เสียงวิจารณ์จากพรรคฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้เมย์ออกมาร่วมถกเถียงนโยบายกันผ่านโทรทัศน์เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสิน หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเธอพยายามหลีกเลี่ยงการโต้วาที เนื่องจากเธอไม่สามารถตอบคำถามสื่อมวลชนและตอบกระทู้ในสภาสามัญชนได้ดีนัก เพราะหลายๆ ครั้งเธอมักเลี่ยงที่จะตอบคำถามตรงๆ แต่เลือกที่จะโจมตีฝ่ายตรงข้ามแทน
นอกจากนี้เธอยังถูกฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอกลัวที่จะต้องมาเจอกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านบนเวที ทำให้นายคอร์บินออกมาประกาศว่าจะไม่ขึ้นเวทีโต้วาที หากนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ไม่ยอมขึ้นโต้วาที เพราะเขาไม่เห็นว่าการโต้เถียงกันเองระหว่างพรรคฝ่ายค้านจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์
การดีเบตของ 5 พรรคใหญ่ที่ไร้เงาเทเรซา เมย์ และเจเรมี คอร์บิน
แม้ว่าหัวหน้า 2 พรรคใหญ่อย่างเทเรซา เมย์ จากพรรคอนุรักษนิยม กับเจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงานจะปฏิเสธเข้าร่วมดีเบตก่อนหน้านี้ แต่อีก 5 พรรคใหญ่อย่างทิม ฟาร์รอน (Tim Farron) หัวหน้าพรรคลิเบอรัล เดโมแครต, นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) หัวหน้าพรรคชาตินิยมสกอตแลนด์, พอล นัททอล (Paul Nuttall) สมาชิกสภายุโรปและพรรค UKIP, นางแคโรไลน์ ลูคัส (Caroline Lucas) หัวหน้าพรรคกรีนฯ และลีแอนน์ วูด (Leanne Wood) หัวหน้าพรรค Plaid Cymru ได้ออกมาโต้วาทีกันทางโทรทัศน์ที่จัดโดยสถานีโทรทัศน์ ITV ในวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทุกพรรคถกกันใน 5 หัวข้อหลักคือ Brexit บริการสาธารณสุข ค่าครองชีพ การศึกษา และนโยบายสำหรับคนรุ่นใหม่
ตลอดการโต้วาที ส่วนใหญ่แล้วพรรค UKIP จะถูกหัวหน้าพรรคอื่นรุมโจมตี เพราะพรรคอื่นๆ มีจุดยืนที่ต้องการอยู่ในตลาดรวมของสหภาพยุโรป สนับสนุนการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และไม่ต้องการให้นางเมย์เป็นผู้นำในการเจรจา Brexit ในขณะที่พรรค UKIP มีจุดยืนว่า สหราชอาณาจักรต้องมีสิทธิควบคุมการเข้ามาของแรงงานทั้งในและนอกสหภาพยุโรป และต้องไม่ถูกเรียกเงินจากสหภาพยุโรป ประกอบกับการออกจากการเป็นสภาชิกสหภาพยุโรป (divorce bill) และสนับสนุนให้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเป็นผู้เจรจานำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป
ส่วนในประเด็นบริการสาธารณสุข ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขและประกันสังคมของประเทศ เช่น ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service – NHS) ประสบปัญหาการขาดงบประมาณอย่างหนัก อันเป็นผลจากการตัดงบประมาณของรัฐบาลผสมในช่วงปี 2010-2015 เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศหลังวิกฤติเศรษฐกิจ โดยพรรค UKIP เสนอให้ลดงบประมาณในส่วนของทุนช่วยเหลือระหว่างประเทศ (International Aid) เพื่อเก็บเงินไว้สนับสนุนบริการสาธารณสุข ส่วนพรรคที่เหลือเสนอให้เพิ่มภาษีบุคคล ปฏิรูประบบ และต้องการให้รัฐเป็นผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว
พรรค UKIP ยังอ้างว่า แรงงานต่างชาติที่ย้ายเข้ามาทำงานในประเทศนั้นมีส่วนทำให้ค่าแรงถูกเกินเหตุ ขณะที่พรรคอื่นต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควบคุมเรื่องราคาที่อยู่อาศัย เพิ่มเงินบำนาญ สนับสนุนการอยู่ในตลาดรวมเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค รวมไปถึงมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนในการขยายโอกาสทางธุรกิจและการสร้างงานในประเด็นการศึกษา
แต่สิ่งหนึ่งที่หัวหน้าพรรคทุกคนเห็นตรงกันคือ งบประมาณของการศึกษาที่ไม่เพียงพอ ทำให้หลายโรงเรียนต้องลดจำนวนครู บางที่ถึงกับต้องเรี่ยไรเงินจากผู้ปกครองเพื่อช่วยเกื้อหนุนโรงเรียน และเรียกร้องให้ยกเลิกโรงเรียนมัธยมสายวิชาการ (Grammar School) ที่ทุกคนเชื่อว่าจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อระดับเงินเดือนและการฝึกครูให้มีคุณภาพ และในประเด็นสุดท้าย ทุกคนต่างเห็นว่าคนรุ่นใหม่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น การลดหรือยกเลิกค่าเล่าเรียน การสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่ม และนโยบายที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่ออนาคตที่มั่นคงของคนรุ่นใหม่
เทเรซา เมย์ และเจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงานผลัดกันตอบคำถามผู้ชม
แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เทเรซา เมย์ กับเจเรมี คอร์บิน จะไม่ได้เข้าร่วมโต้วาทีกันทางโทรทัศน์ แต่ทั้งคู่ได้ผลัดกันมาให้สัมภาษณ์กับเจเรมี แพกซ์แมน (Jeremy Paxman) รวมถึงตอบคำถามกับผู้ชมทางโทรทัศน์ Sky News ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2017 และเดวิด ดิมเบิลบีย์ (David Dimbleby) ของ BBC ในวันที่ 2 มิถุนายน 2017 เพื่อตอบคำถามในส่วนของนโยบายหลักๆ อย่าง Brexit สงครามในตะวันออกกลาง และอาวุธนิวเคลียร์
เจเรมี คอร์บิน ประณามผู้ที่ก่อเหตุระเบิดในเมืองแมนเชสเตอร์ เขาให้คำมั่นว่าจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ 10,000 นาย และดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่รับผิดชอบต่อการเข้าไปโจมตีประเทศในตะวันออกกลางจนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ เช่น ในลิเบียและซีเรีย เพราะมองว่าจะกลายเป็นที่บ่มเพาะแนวความคิดแบบสุดโต่ง
ในส่วนของ Brexit เขาพร้อมที่จะเจรจาสนธิสัญญาเพื่อให้สหราชอาณาจักรสามารถอยู่ในตลาดรวมของสหภาพยุโรปได้ และต้องการให้สิทธิประชากรจากสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในประเทศสามารถอาศัยได้อยู่ต่อไป เขายังเสนอให้ใช้นโยบายการโยกย้ายแรงงานแบบที่ควบคุมได้และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้ชมที่เป็นนักธุรกิจได้ตั้งคำถามที่จะเพิ่มภาษีธุรกิจต่อเขา ซึ่งเขาได้ตอบโต้ว่า เขาต้องการเพิ่มภาษีธุรกิจ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงการเพิ่มภาษี VAT สำหรับค่าเล่าเรียนของโรงเรียนเอกชน เพื่อต้องการหาเงินมาสนับสนุนการศึกษาและสาธารณสุขของประเทศซึ่งกำลังขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก นอกจากนี้เขาถูกโจมตีอย่างหนักจากผู้ชมเรื่องยุทธศาสตร์พรรคแรงงานที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แม้ก่อนหน้านี้เขามีแนวความคิดส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเรื่องการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แต่เขายังคงปฏิเสธที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตี เนื่องจากเขาเชื่อว่าโลกที่พร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีซึ่งกันและกันนั้นเป็นโลกที่อยูในจุดที่ต่ำที่สุดที่การพูดคุยทางการทูตไม่สามารถใช้ได้อีกแล้ว เขาให้คำมั่นว่าในกรณีของเกาหลีเหนือ เขาจะขอให้จีนนำเกาหลีเหนือกลับเข้าการเจรจา 6 ฝ่าย และเขาจะให้ความสำคัญต่อสนธิสัญญานิวเคลียร์ในอิหร่าน เพื่อทำให้โลกปลอดภัยจากภัยอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสามารถคร่าชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตได้อย่างมหาศาล และจะส่งผลกระทบยาวนานต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ให้ความสำคัญกับการโจมตีทางไซเบอร์ และการก่อการร้าย ตั้งใจเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา และจะพยายามกระจายงบประมาณของการศึกษาให้เท่าๆ กันในทุกพื้นที่ และเมื่อเธอถูกถามว่าทำไมถึงเปลี่ยนใจต่อเรื่อง Brexit เพราะก่อนหน้านี้เธอสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในอียูต่อไป เธอตอบว่าต้องยอมรับผลของการประชามติที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ออกเสียง และเธอต้องยุบสภาเพราะต้องการอำนาจจากประชาชนในการนำการเจรจาออกจากอียูอย่างมีประสิทธิภาพ
และย้ำเช่นเดิมว่า เธอพร้อมที่จะออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปทันที (no deal) หากสนธิสัญญาที่ได้ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเสนอว่าสหราชอาณาจักรยังสามารถเจรจาสนธิสัญญาการค้าได้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก และสัญญาว่าจะทำให้ประเทศมั่งคั่ง มั่นคง และยุติธรรมสำหรับทุกคน
Photo: STEFAN ROUSSEAU, AFP
อ้างอิง
– BBC
– Sky News
– ITV