ภายหลังจากที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกรณีที่รัสเซียถูกกล่าวหาว่าเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดในการโจมตีฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต และช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งนั้น
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ของรัสเซียว่า ตนได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ ทั้งหมด 755 คนเดินทางออกนอกประเทศแล้ว (Persona non grata) รวมถึงเตรียมพิจารณามาตรการต่างๆ ตอบโต้สหรัฐฯ หลังจากที่ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
“มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดการเรื่องนี้” การตัดสินใจสั่งขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตสหรัฐฯ นี้เป็นการโต้ตอบสหรัฐฯ ภายหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาได้ดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซียด้วยการยึดทรัพย์สินทางการทูตของรัสเซียในนิวยอร์กและแมรีเเลนด์ รวมถึงได้ประกาศขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของรัสเซียทั้งหมด 35 คนออกจากสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2016 ภายหลังจากที่รัสเซียได้ถูกกล่าวหาว่ามีความพยายามที่จะล้วงข้อมูลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนที่ทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2017
ปูตินกล่าวว่า รัสเซียอดทนรอมาตลอด 7 เดือนโดยที่เราแทบจะไม่ได้ตอบโต้ต่อประเด็นนี้เลย เราหวังว่าการเข้ามาบริหารประเทศของทรัมป์จะทำให้เราได้ทรัพย์สินที่ทางการสหรัฐฯ ยึดครองอยู่คืน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เป็นผล อีกทั้งฝ่ายรัสเซียเองก็ออกมายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปเเทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 มาโดยตลอด
“คุณทำให้ผมผิดหวัง”
เตรียมรับมือการเอาคืนของพวกเราไว้ให้ดี เพราะนี่คือฟางเส้นสุดท้าย
ความสัมพันธ์กลับสู่จุดตกต่ำ
ปูตินได้กล่าวเน้นย้ำว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ลับไปสู่จุดตกต่ำอีกครั้ง ตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาเเสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต้องการจะผ่อนปรนท่าทีต่อรัสเซีย และเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง นับเป็นสัญญาณเชิงบวกทางการเมืองของทั้งสองมหาอำนาจ แต่ความพยายามนี้ก็ไม่เป็นผล
ประธานาธิบดีของรัสเซียยังกล่าวอีกว่า “พวกเรารอคอยช่วงเวลานี้มานาน โดยหวังว่าสถานการณ์และความสัมพันธ์ต่างๆ จะดีขึ้นในสักวัน ซึ่งในอนาคตมันอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่ดูท่าแล้วไม่น่าจะใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน”
ทางเจ้าหน้าที่รัสเซียได้กล่าวเตือนสหรัฐฯ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “เตรียมรับมือการเอาคืนของพวกเราไว้ให้ดี เพราะนี่คือฟางเส้นสุดท้าย”
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็พยายามที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูความสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากเช่นนี้ หนึ่งในความพยายามที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ ทั้งสองประเทศร่วมกันจัดตั้งเขต de-escalation zone ทางตอนใต้ของซีเรีย เพื่อลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้ากันของแต่ละฝ่ายในสมรภูมิซีเรีย
ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายยกระดับมาตรการคว่ำบาตรจะผ่านมติจากสภาครองเกรสสหรัฐฯ แล้ว แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยังมีสิทธิในการลงนามรับรองหรือคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สภาได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง หากทรัมป์เลือกลงนามคัดค้าน การกระทำเช่นนั้นก็อาจจะยิ่งทำให้รัฐสภา รวมถึงสาธารณชนระแวงสงสัยในเจตนารมณ์ของทรัมป์มากยิ่งขึ้นว่าอาจมีการสมรู้ร่วมคิด หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับทางรัสเซียดังที่ได้ถูกกล่าวหาหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะสั่นคลอนเก้าอี้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของเขาในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์ก็อาจจะ ‘จำเป็น’ ต้องเลือกสวมหัวโขนของความเป็นสหรัฐฯ เหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ซึ่งยืนอยู่ตรงกันข้ามกับรัสเซียและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็จะกลับไปสู่จุดตกต่ำเช่นเดิม
Cover Photo: Alexander Zemlianchenko/AFP
อ้างอิง:
- www.theatlantic.com/international/archive/2017/07/russia-expulsion-putin/535413/?utm_source=feed
- www.aljazeera.com/news/2017/07/russia-expels-755-diplomats-response-sanctions-170730201720880.html
- www.nydailynews.com/news/politics/russia-vows-long-overdue-revenge-u-s-sanctions-bill-article-1.3369339
- www.reuters.com/article/us-usa-trump-russia-idUSKBN1AF0NU