×

‘เสรีภาพแห่งรัก’ ที่ถูกล้อมรั้วของ Pink Dot งาน LGBT Pride สิงคโปร์

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Pink Dot (พิงก์ดอต) เป็นงานชุมนุมเพื่อสิทธิคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) ประจำปีในประเทศสิงคโปร์ เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2009 ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20,000 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวสิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยถาวร (permanent resident) และอาสาสมัครกว่า 500 คน
  • ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐออกกฎห้ามชาวต่างชาติเข้าร่วมงานโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้จัดต้องล้อมรั้วบริเวณที่จัดงาน รวมทั้งจัดจุดเช็กอินความปลอดภัยถึง 7 ประตู ที่จะตรวจบัตรประจำตัวทุกคนก่อนเข้างาน พร้อมด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มาที่มีเพียงเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราเท่านั้น

     ‘สนับสนุนเสรีภาพของความรัก’ (Supporting the Freedom to Love) เป็นคำขวัญของงาน Pink Dot ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่เก้า แม้ว่าปีนี้จะมีบททดสอบเป็นอุปสรรคจากทางรัฐ แต่งานเมื่อวันเสาร์ (1 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นจากจำนวนชาวสิงคโปร์ที่มาร่วมงานกว่า 20,000 คนว่า พวกเขาเลือกที่จะยืนข้างความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์

     Pink Dot (พิงก์ดอต) เป็นงานชุมนุมเพื่อสิทธิคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) ประจำปีในประเทศสิงคโปร์ เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2009 ณ บริเวณ Speakers’ Corner ภายในสวน Hong Lim Park ซึ่งเป็นสถานที่เดียวในสิงคโปร์ที่ประชาชนสามารถจัดงานประท้วงได้ จากปีแรกๆ ที่มีผู้เข้าร่วมหลักร้อยเติบโตเป็นหลักพันและหลักหมื่น ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20,000 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวสิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยถาวร (permanent resident) และอาสาสมัครกว่า 500 คน งานครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก 120 บริษัท และองค์กรภายในประเทศ ถือเป็นก้าวใหม่ของ งาน LGBT Pride ในสิงคโปร์และภูมิภาคอาเซียนก็ว่าได้

 

 

     ปีนี้ถึงแม้จะมีการล้อมรั้วรอบพื้นที่สาธารณะที่ปกติแล้วใครจะเดินเข้าออกก็ได้ ทว่าบรรยากาศนั้นคึกคักไม่ต่างจากปีที่ผ่านๆ มาแม้แต่น้อย ทุกคนพร้อมใจกันใส่เสื้อผ้าสีชมพูมาจับจองพื้นที่กับคู่รัก เพื่อน และครอบครัว พร้อมอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งแต่ช่วงบ่ายเหมือนมาปิกนิกกันในสวน หลายคนแต่งกายแฟนซี ทำป้ายข้อความสนับสนุนชาว LGBT รวมถึงสัญลักษณ์อย่างธงสีรุ้ง

 

 

     เพียงไม่กี่เดือนก่อนงาน Pink Dot ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎใหม่ ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าร่วมงาน และห้ามบริษัทต่างชาติสนับสนุนการจัดกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมทั้งสื่อต่างชาติมองว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้ออกมาเพื่อขัดขวางงาน Pink Dot ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ที่มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคนจนล้นบริเวณจัดงาน งานในปีก่อนๆ ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook และ Goldman Sachs ซึ่งรัฐอ้างว่าเป็นการแทรกแซงกิจกรรมในประเทศโดยอิทธิพลต่างชาติ และมองว่าประเด็นทางการเมือง สังคม และศีลธรรมสำหรับชาวสิงคโปร์นั้นเป็นเรื่องภายในที่พวกเขาควรจะตัดสินใจด้วยตัวเอง

แม้ว่าบริษัทต่างชาติจะปฏิบัติตามกฎด้วยการส่งจดหมายขออนุญาตจากภาครัฐ ทว่ากลับถูกทางรัฐปฏิเสธ แต่งาน Pink Dot ซึ่งจัดโดยองค์การไม่แสวงหาผลกำไรก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจภายในประเทศถึง 120 แห่ง จากที่ปีก่อนมีเพียง 5 แห่งเท่านั้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เคยบอกว่าจะพิจารณาเปลี่ยนข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของ LGBT ไม่ว่าจะเป็น การแต่งงาน และมาตรา 377A เมื่อประชาชนและภาคเอกชนออกมาร่วมกันเรียกร้อง

 

 

     ที่ผ่านมานั้นชาวต่างชาติสามารถเข้าร่วมงาน Pink Dot ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ แต่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น การถือไฟสีชมพูระหว่างรวมตัวกันเป็น ‘pink dot’ ได้ แต่ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐออกกฎห้ามชาวต่างชาติเข้าร่วมงานโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้จัดต้องล้อมรั้วบริเวณที่จัดงาน รวมทั้งจัดจุดเช็กอินรักษาความปลอดภัยถึง 7 ประตู ซึ่งจะตรวจบัตรประจำตัวทุกคนก่อนเข้างาน พร้อมด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มาที่มีเพียงเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราเท่านั้น

     ไม่เพียงชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศจะได้รับผลกระทบแล้ว คู่รักต่างชาติของชาวสิงคโปร์ที่เป็น LGBT และไม่ได้ถือสิทธิเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร เนื่องจากกฎหมายไม่รับรองสถานภาพการสมรสของพวกเขาจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าร่วมในบริเวณงานได้ ทำให้ได้เห็นภาพคู่รักยืนกอดกันโดยมีรั้วกั้นกลาง หรือบางคู่เลือกที่จะไปแสดงการสนับสนุนตามผับบาร์และร้านอาหารที่เปิด live screening ของงาน Pink Dot แทน

 

 

     นอกเหนือจากการออกบูธจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาว LGBT บูธของสปอนเซอร์ การแสดงบนเวที และคอนเสิร์ตแล้ว ไฮไลต์ของงานก็คือการรวมตัวกันเป็น ‘pink dot’ (จุดสีชมพู) เพื่อแสดงการสนับสนุนเอกภาพ ความหลากหลาย และเสรีภาพของความรัก (inclusiveness, diversity and the freedom to love)

     THE STANDARD ได้เก็บภาพบรรยากาศงาน Pink Dot ครั้งประวัติศาสตร์นี้ พร้อมบทสนทนากับผู้เข้าร่วมงาน บางคนจูงมือมากับคู่รักแต่ขอให้ทางเรางดเผยแพร่ภาพและบทสนทนาออกสื่อ เพราะยังกลัวการถูกตีตราจากสังคม และการเลือกปฏิบัติจากที่ทำงาน แม้ว่า pride จะเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับหลายคนที่มองว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถแสดงออกถึงตัวตนได้

 

 

     “งาน Pink Dot คืองานที่สนับสนุนเสรีภาพของความรัก พวกเรามาเป็นปีที่ 5 แล้ว งานสนุกสนานและได้เจอเพื่อนๆ มากมาย” Bunny หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Tomboy Pride และเพื่อนๆ  Ayden และ Amber

 

 

     “ตอนนี้สังคมสิงคโปร์โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปิดใจรับ LGBT มากขึ้น พวกเขามองว่าการเป็นเกย์ไม่ใช่ความผิดอะไร ไม่เหมือนคนรุ่นเก่าที่เติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง รวมทั้งอิทธิพลทางศาสนาที่หล่อหลอมให้พวกเขาเป็นพวกอนุรักษนิยม แต่พอเวลาเปลี่ยนไปบางคนก็เริ่มเปิดใจเรียนรู้มากขึ้น เริ่มมองโลกด้วยมายด์เซตของคนรุ่นใหม่ การเป็น LGBT ในสิงคโปร์มันไม่ยากเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว” Miss Chili ผู้ที่มาร่วมงานเป็นปีที่ 5 นิยามตนเองว่าเป็นเควียร์ (queer) เป็นหนึ่งในแดร็กควีนไม่กี่สิบคนที่รับงานแสดงในสิงคโปร์ และเป็นเพียงหนึ่งในสองของแดร็กควีนที่มีเชื้อสายอินเดีย ก่อนเสริมว่า “LGBT ในสิงคโปร์กำลังงอกงามเหมือนดอกไม้ที่เริ่มผลิบาน”

 

 

     “สิ่งที่ประทับใจต่องาน Pink Dot คือการได้เป็นตัวเอง ปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มาร่วมงาน แต่เป็นครั้งแรกที่ชวนครอบครัวมาด้วย ซึ่งครอบครัวก็เต็มใจสนับสนุนเราและทุกคนในงาน ส่วนคนอื่นๆ ที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็น LGBT ก็อยากเชิญชวนมาร่วมแสดงการสนับสนุนเพื่อนๆ ของคุณกัน” Elle สาวน้อยวัย 15 ปี เธอนิยามตนเองว่าเป็นไบเซ็กชวล

 

 

     “เรามองว่าในสังคมสิงคโปร์เองและต่างชาติจำนวนมากสนับสนุน LGBT เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่เสียงมันไม่ดังเท่าฝั่งที่ออกมาต่อต้าน สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้เสียงของเราดังและได้ยิน… ในสังคมที่สื่อไม่สามารถนำเสนอเรื่องราวของชาว LGBT ได้ เพราะเป็นเรื่องต้องห้าม การที่มีงานอย่าง Pink Dot มันคือการเปิดพื้นที่ให้ชาว LGBT ได้มาเป็นตัวเอง อย่างการที่เราทำกลุ่ม She+Pride ขึ้นมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ชาว LBTQ เป็นตัวเอง พวกเราไม่ได้มีความวิชาการจ๋า หรือเน้นเป็นนักเคลื่อนไหว เรามีการจัด support group ทุกเดือน และกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะฉายหนัง เล่นบอร์ดเกม ปาร์ตี้ รวมทั้งเล่นกีฬา ซึ่งทุกครั้งก็จะมีคนหน้าใหม่มาร่วมงาน เพราะเอาจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาโดยเฉพาะคนที่เพิ่งเปิดเผยตัวตนใหม่ๆ อยากเห็นก็คือ ชีวิตธรรมดาของชาว LBTQ คนอื่นๆ ในชีวิตปกติ เพราะพวกเขาก็เพียงอยากมีชีวิตปกติ”

     Norah Soeb และ Ryvre Ruan ผู้ก่อตั้ง She+Pride กลุ่มสำหรับเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล ผู้หญิงข้ามเพศ เควียร์ และชาวหญิงรักหญิง ก่อตั้งเมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มาออกบูธในงาน Pink Dot และเป็นไม่กี่องค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหญิงรักหญิง

     “เคยมีเกย์มาพูดกับเราว่าเป็นเลสเบี้ยนนี่ดี ไม่ผิดกฎหมาย (มาตรา 377A) แต่แท้จริงแล้วเลสเบี้ยนในสิงคโปร์จำนวนมากนั้นไม่สามารถเปิดตัวได้ (invisible) แม้ไม่ถูกบีบด้วยกฎหมาย แต่ก็มีการถูกเลือกปฏิบัติทั้งจากที่ทำงาน บางคนโดนไล่ออกจากบ้านก็มี มันไม่ได้โชคดีกว่ากันหรอก และเราก็เชื่อว่าเลสเบี้ยนหลายๆ คนก็มีเป้าหมายแรกคือ การยกเลิกมาตรา 377A เพราะมันคือก้าวแรกสู่ความเท่าเทียมสำหรับทุกคนในสิงคโปร์”

 

 

     การแสดงคอนเสิร์ตบนเวทีเริ่มต้นด้วยบทเพลงชาติสิงคโปร์ Majulah Singapura รวมทั้งสปีชจากทูตทั้งสามของงาน Pink Dot ในปีนี้ ได้แก่ นักว่ายน้ำ เจ้าของเหรียญเงินกีฬาพาราลิมปิก เทเรซา โกท (Theresa Goh) นักร้องและนักแสดง นาธาน ฮาร์โทโน (Nathan Hartono) และนักแสดง เอบิ ชานคารา (Ebi Shankara) นอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว ยังมีการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนชุมชนและกลุ่มต่างๆ ขึ้นพูดเกี่ยวกับประเด็น LGBT บนเวทีอีกด้วย

     เมื่อแสงอาทิตย์หมดลงก็เป็นเวลาไฮไลต์ของงาน นั่นคือ การรวมตัวกันจุดไฟสีชมพูอย่างเป็นเอกภาพ โดยปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ ด้วยแถบสายรุ้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจนล้นความจุของสวน

 

Photo: Pink Dot SG

 

https://www.facebook.com/pinkdotsg/videos/10155596332848304/

ภาพบรรยากาศตอนรวมตัวสร้าง Pink Dot โดยผู้เข้าร่วมนับหมื่น

และเซอร์ไพรส์จากผู้จัดงานในปีนี้คือ สายรุ้งที่สร้างโดยอาสาสมัครนับร้อย

 

 

     งาน Pink Dot ปีนี้แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพของความรักไม่ใช่ค่านิยมเฉพาะของคนต่างชาติ แต่เป็นสิ่งที่ชาวสิงคโปร์มีร่วมกัน (#FreedomtoLove is not a foreign value but one that all Singaporeans share) ตามที่ผู้จัดงานทวีตแสดงความคิดเห็นหลังจบงาน เราอาจพูดได้ว่าผู้คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยก็เชื่อในเสรีภาพของความรักเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการที่เราจะออกมาแสดงจุดยืนของสิ่งที่เราเชื่อหรือไม่นั่นเอง

 

 

อ้างอิง:

FYI

ชื่อของงาน Pink Dot นั้นมาจากการล้อกับชื่อเล่น ‘Red Dot’ ของประเทศ และที่มาของสีชมพูนั้นเป็นสีของบัตร IC ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวของชาวสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังเป็นสีที่ได้จากการผสมสีประจำชาติแดงและขาวนั่นเอง

มาตรา 377A คือกฎหมายที่กำหนดโทษความผิดทางอาญาต่อความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชาย มีโทษอาญา ตัดสินจำคุกไม่เกิน 2 ปี ข้อประมวลกฎหมายนี้เป็นผลพวงจากข้อกฎหมายสมัยอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี 1938 แม้ว่าทางอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในอาณานิคมได้ยกเลิกข้อกฎหมายนี้ไปแล้ว แต่ศาลสูงสุดของสิงคโปร์ยังยืนยันคำตัดสินว่ามาตรานี้ยังมีความสมเหตุสมผลตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2014 แม้รัฐบาลจะแจงว่ามาตรา 377A นั้นไม่ได้นำมาบังคับใช้แล้ว แต่ก็ไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิกจากทางรัฐ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X