หากเอ่ยถึงชื่อประเทศ ‘อุรุกวัย’ หลายคนคงจะนึกถึงฟุตบอลทีมชาติเจ้าของฉายา ‘จอมโหด’ หรือนักฟุตบอลชาวอุรุกวัยชื่อก้องโลกอย่างหลุยส์ ซัวเรส รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และอาหารการกินแบบละตินอเมริกาเป็นอันดับแรกๆ แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักและได้ยินชื่อของประเทศนี้มากขึ้น
นั่นก็คือ ‘กัญชา’
อุรุกวัยเปิดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนขอซื้อกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่น โดยกัญชายังคงเป็นสิ่งต้องห้ามที่ห้ามส่งทางไปรษณีย์ ในอุรุกวัยก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ห้ามค้าขายกัญชา (กันเอง) อย่างเสรี แต่ที่นี่จะแตกต่างตรงที่คุณสามารถซื้อกัญชาได้โดยตรงกับนักเคมีหรือผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ที่จุดตามเมืองและชุมชนต่างๆ อย่างที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่น หรือร้านขายยาทั่วไปที่ขึ้นทะเบียนกับทางการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
เพียงแค่ลงทะเบียนผู้ใช้กัญชากับทางการ ซึ่งเมื่อเทียบกับการกรอกเอกสารเพื่อขออาศัยอยู่ในประเทศนี้นั้นกลับยุ่งยากและใช้เวลานานมากกว่า เพราะการลงชื่อเพื่อซื้อกัญชากับทางการใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ง่ายเหมือนกับซื้อแสตมป์ที่ไปรษณีย์
ระบบลงทะเบียนเริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีการซื้อขายยาเสพติดได้อย่างเสรีมากที่สุดในโลกอย่างอุรุกวัย (โดยรัฐเข้ามากำหนดกรอบกติกา) และเมื่อวันที่ศุกร์ที่ผ่านมา (14 กรกฎาคม) สถาบันควบคุมและจัดระเบียบการจัดจำหน่ายกัญชา (The Institute for the Regulation and Control of Cannabis: IRCCA) ได้ออกมาประกาศว่า ทางการอุรุกวัยจะเริ่มอนุญาตให้มีการจำหน่ายกัญชาถูกกฎหมายให้แก่ประชาชนที่ได้ทำการลงทะเบียนไว้ในวันนี้ (19 กรกฎาคม)
กัญชาของอุรุกวัยจะปลูกในพื้นที่ลับของทางราชการ โดยรัฐจะเข้ามาควบคุมและกำหนดตารางการออกวางจำหน่ายในร้านขายยาต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้ซื้อจะต้องระบุตัวตนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ และจะได้รับอนุญาตให้ซื้อกัญชาได้ในปริมาณ 10 กรัมต่อสัปดาห์ ที่ราคา 1.30 เหรียญต่อกรัม
กฎหมายกัญชาของอุรุกวัยจับจองพื้นที่ตามหน้าสื่อต่างๆ ทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2013 ที่ถูกเสนอโดยประธานาธิบดีโฆเซ มูฆิกา (José Mujica) ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกกองโจรฝ่ายซ้าย ก่อนที่เขาจะกลายเป็นไอดอลของฝ่ายเสรีทั่วโลกจากการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของเขา รวมถึงการปฏิรูปหัวก้าวหน้าที่อนุญาตให้การทำแท้ง การสมรสของเพศเดียวกัน และการใช้กัญชา กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในอุรุกวัย
สิทธิส่วนบุคคลในการใช้กัญชาเริ่มได้รับการยอมรับในอุรุกวัยตั้งแต่ปี 1970 และในปัจจุบันรัฐบาลก็ได้ทยอยให้สิทธิชาวอุรุกวัยสามารถปลูกกัญชาในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาคมผู้สูบบุหรี่ (กัญชา) ได้อย่างถูกกฎหมาย
ร้านค้าทยอยเปิดตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างมอนเตวิเดโอ แต่การจะจัดให้นักเคมีหรือผู้เชี่ยวชาญไปประจำยังแต่ละจุดอาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก ขณะนี้มีเพียง 16 เมืองเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการซื้อขายกัญชาได้ โดยทางรัฐบาลหวังว่าสิ้นเดือนกรกฏาคมปีนี้ ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 เมืองทั่วประเทศ แม้ว่าการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านและถูกประกาศใช้จะบ่งชี้ว่า 2 ใน 3 ของชาวอุรุกวัยต่อต้านการปฏิรูปนี้ก็ตาม
เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่ทำให้การบริโภคยาเสพติดตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่สิ่งนี้ก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้อุรุกวัยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการจะมั่วสุมและเสพยาเสพติด (Cannabis Tourism) ร้านค้าต่างๆ จึงติดป้ายและสัญลักษณ์ที่อนุญาตให้เฉพาะชาวอุรุกวัยหรือคนที่อาศัยอยู่ที่ประเทศนี้เป็นการถาวรเท่านั้นจึงจะมีสิทธิซื้อกัญชาจากทางร้านได้
Photo: MIGUEL ROJO, AFP
อ้างอิง:
- correspondent.afp.com/pot-luck-uruguay
- www.unodc.org/doc/wdr2016/WORLD_DRUG_REPORT_2016_web.pdf
- www.thedailychronic.net/2017/74562/uruguay-first-country-in-the-world-to-legally-regulate-marijuana-begins-retail-sales-wednesday
- www.thedailystar.net/world/south-american-country-uruguay-to-allow-pharmacies-sell-marijuana-legalising-smoking-pot-for-first-time-in-world-1434007
- www.efe.com/efe/english/life/uruguayan-pharmacies-to-start-selling-recreational-marijuana/50000263-3326370
- รายงานและการสำรวจล่าสุดของ JAMA, UNODC และองค์การอนามัยโลกพบว่า มีผู้บริโภคกัญชามากถึง 181.8 ล้านคนทั่วโลก โดยไอซ์แลนด์พบการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลกถึง 18.3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในประเทศ ตามมาด้วยสมาชิกของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (กลุ่ม G7) อย่างสหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ตามลำดับ
- อุรุกวัย ประเทศที่เพิ่งมีนโยบายทำให้กัญชาเป็นสินค้าถูกกฎหมายเมื่อปี 2013 ติดอันดับ 10 ของโลก ส่วนประเทศไทยมีจำนวนผู้บริโภคสารเสพติดผิดกฎหมายชนิดนี้ราว 1-2.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดภายในประเทศ