จอร์แดนเดินตามรอยประเทศในภูมิภาค ตัดสินใจถอยความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2017) หลังจากซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์, เยเมน, บาห์เรน และเขตตะวันออกของลิเบีย ตัดความสัมพันธ์ทางพรมแดนกับกาตาร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งระงับเที่ยวบิน ปิดพรมแดน งดการส่งออกอาหารไปยังกาตาร์ ซึ่งปริมาณอาหารในกาตาร์ถึง 80% นำเข้ามาจากประเทศเหล่านี้ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาทวีตข้อความสนับสนุนซาอุดีอาระเบีย สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญกับ THE STANDARD ว่า สหรัฐฯ น่าจะอยู่ข้างซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ เพราะสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องทางผลประโยชน์ครั้งนี้ด้วยอย่างเช่นน้ำมัน
อเมริกาถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย และสูตรความสัมพันธ์คือ Oil for Security คือน้ำมันแลกกับความมั่นคง
จอร์แดนเดินตามรอยเพื่อนบ้าน ทบทวนความสัมพันธ์กับกาตาร์
จอร์แดนประกาศถอยความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ รวมถึงปิดสถานีโทรทัศน์ของอัลจาซีรา ที่ตั้งอยู่ในจอร์แดน โดยจอร์แดนประกาศว่า การตัดสินใจครั้งนี้เพื่อความมั่นคงของภูมิภาค และความร่วมมือกับประเทศโลกอาหรับในการ ‘หยุดวิกฤตในภูมิภาคนี้’
การตัดสินใจของจอร์แดนเกิดขึ้นหลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เยเมน และเขตตะวันออกของลิเบีย ตัดความสัมพันธ์ทางพรมแดนกับกาตาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้จอร์แดนเป็นอีกประเทศที่มีซาอุดีอาระเบียหนุนหลังด้านการเงิน
ทรัมป์สนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ของซาอุดีอาระเบีย
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาออกมาทวีตผ่านข้อความส่วนตัว สนับสนุนการกระทำของซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งยังอ้างว่าการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเขาเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน “ระหว่างการเดินทางเยือนตะวันออกกลาง ผมได้พูดว่าจะต้องหยุดการสนับสนุนด้านการเงินกับกลุ่มหัวรุนแรง แล้วดูตอนนี้สิ ทุกประเทศตัดสินใจหยุดความสัมพันธ์กับกาตาร์”
สอดคล้องกับมุมมองของ ดร. ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวกับ THE STANDARD ว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนซาอุดีอาระเบียในการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ “เนื่องจากสหรัฐมองว่า Muslim Brotherhood เป็นกลุ่มก่อการร้ายเหมือนกัน เขามองว่า Muslim Brotherhood เป็นแม่ข่ายขบวนการของกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์เพื่อต่อสู้กับการปกครองในอิสราเอล และเราทราบกันดีว่าผลประโยชน์สูงสุดอีกอย่างของสหรัฐฯ คือการรักษาความปลอดภัยให้กับอิสราเอล เรื่องก็เลยเกี่ยวโยงกัน การที่ทรัมป์ประกาศให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายก็เพื่อลดความชอบธรรมของกลุ่มนี้”
การที่สหรัฐฯ ต้องเลือกอิสราเอลนั้น ดร. ศราวุฒิอธิบายว่า ผู้มีอิทธิพลในการเมืองอเมริกาคือ ชาวยิว หรือ Jewish Lobby “แน่นอนว่าอเมริกาถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย และสูตรความสัมพันธ์คือ Oil for Security คือน้ำมันแลกกับความมั่นคง สหรัฐฯ จึงเลือกอิสราเอลก่อนประเทศกลุ่มอ่าวเปอร์เซียหรือกาตาร์ วันนี้กลุ่มที่มีอิทธิพลในการเมืองอเมริกาคือชาวยิว แล้วชาวยิวเหล่านี้สนับสนุนให้มีประเทศอิสราเอล”
ขณะที่ ศ. ดร. จรัล มะลูลีม ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า “ผมมองฝ่ายที่หันมาต่อต้านกาตาร์ว่าสนับสนุนผู้ก่อการร้าย หรือสหรัฐฯ เองก็ใช้ความรุนแรงในพื้นที่นี้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม ดร. ศราวุฒิประเมินว่า สหรัฐอเมริกาน่าจะไม่ถึงกับตัดขาดกับกาตาร์ เนื่องจากสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ในกาตาร์เหมือนกัน คือฐานทัพใหญ่ของสหรัฐฯ ในกาตาร์
ด้านกาตาร์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของประเทศเพื่อนบ้าน และบอกว่าไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า กาตาร์สนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มนักรบในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะกลุ่ม Muslim Brotherhood หรือกลุ่มนักรบในซีเรียก็ตาม อ่านบทวิเคราะห์ต่อได้ที่ Qatar Crisis เพื่อนบ้านตัดสัมพันธ์กาตาร์ครั้งใหญ่ ขั้วความสัมพันธ์ในภูมิภาคที่อาจเปลี่ยน
Photo: MAZRAAWI, AFP
อ้างอิง:
– AFP/ Aljazeera