หากพอจำได้ สามปีที่ผ่านมาไทยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลังมีคนหลายกลุ่มใช้ภาพหรือแต่งกายเลียนแบบฮิตเลอร์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมถึงเรื่องผิวสีนางงามที่อาจไม่ถูกใจใครหลายคนนัก ทำให้คนไทยรู้จักปัญหาการ PC หรือการเหมาะรวมมากขึ้น
ศัพท์ที่ว่าย่อมาจาก Political Correctness หรือความถูกต้องทางการเมือง ที่เชื่อมโยงต่อเรื่องการเหมารวมคนกลุ่มหนึ่งๆ จนอาจกลายเป็นปัญหาว่าไปละเมิดคนกลุ่มดังกล่าว ปัญหานี้อาจกระทบต่อบรรดาคนฉลาดๆ เนื่องจากงานวิจัยบนวารสาร Journal of Experimental Psychology: General ชี้ว่า พวกเขามีแนวโน้มจะมองคนแบบเหมารวมมากกว่า
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 271 คน โดยให้เข้าร่วมแบบทดสอบอย่างการตรวจจับแบบแผน และการวัดความสามารถทางปัญญา
ทีมงานให้ผู้เข้าร่วมมองภาพการ์ตูนเอเลี่ยนสีแดง เหลือง และฟ้า แล้วให้เลือกว่าอยากให้ดอกไม้ตัวไหน โดยสื่อถึงว่าเอเลี่ยนพวกนี้น่าจะมีนิสัยที่ดี ส่วนตัวไหนอยากถ่มน้ำลายใส่หน้าแบบไม่ต้องมีเหตุผลโดยมีนัยยะที่สวนทางจากกลุ่มแรก
กลุ่มตัวอย่าง 80 เปอร์เซ็นต์มองว่า กลุ่มเอเลี่ยนสีเหลืองน่าจะเป็นมิตร และจำนวนเดียวกันก็มองว่าเอเลี่ยนสีฟ้าไม่ค่อยน่าคบหา
นอกจากนี้ ยังให้ดูภาพจำลองหน้าตาคนที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป โดยผู้เข้าร่วม 80 เปอร์เซ็นต์อีกเช่นกันที่มองว่า คนที่สันจมูกกว้างไม่ค่อยเป็นมิตร ส่วนคนที่มีสันจมูกแคบๆ ดูเป็นคนเป็นกันเองมากกว่า
เจ้าหน้าที่ทำการเปลี่ยนภาพคนและให้ผู้เข้าร่วมเลือกคนที่อยากฝากเงินของตัวเองไว้ พบลักษณะออกมาแบบเดียวกันคือ ส่วนใหญ่จะมอบเงินให้คนสันจมูกแคบมากกว่า โดยสามารถเทียบได้ว่า คนเหล่านี้มีการปรับใช้แบบแผนที่เรียนรู้มา
ขณะเดียวกัน ยังให้ผู้เข้าร่วมลองทดสอบเชาวน์ปัญญาแบบ Progressive Matrices Tests จนมีข้อสรุปว่า คนที่มีความฉลาดมากกว่าสามารถตรวจจับแบบแผนที่เคยเกิดขึ้นและนำมาปรับใช้ได้ไวกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยบรอก (Brock University) เคยตีพิมพ์งานวิจัยไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ที่มีข้อสรุปสวนทางต่องานวิจัยนี้ว่า คนที่มีคะแนนในการหาเหตุผลทางนามธรรมน้อยกว่าจะมีอคติต่อเพศทางเลือกมากกว่า
เจฟฟรีย์ วอดเค (Geoffrey Wodtke) ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) มองว่า ปัจจัยอาจมาจากการให้ตรวจจับแบบแผนบนความไม่สมจริง อย่างการใช้ภาพเอเลี่ยนหรือภาพจำลองหน้าคน แต่หากเปลี่ยนเป็นเพศทางเลือกหรือแรงงานต่างชาติแล้ว พวกเขาอาจมีความรอบคอบในการคิดมากกว่า
อย่างไรก็ตาม โจนาธาน ฟรีแมน (Jonathan Freeman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ผู้เขียนงานศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า อาจมีปัจจัยอื่นที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาและลดอคติลงอย่างประสบการณ์ต่อความหลากหลาย
สอดคล้องกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยบรอกที่ระบุเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “ผู้คนที่มีความสามารถในการหาเหตุผลมากกว่า อาจมีประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มอื่นมากขึ้นและช่วยลดอคติได้”
เมื่อการเหมารวมนำมาสู่การเหยียดหยามคนอื่น ทั้งเชื้อชาติ เพศ หรือแนวคิดทางการเมือง ลงท้ายจึงเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม การทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นอาจนำไปสู่ทางออกในการลดทอนความขัดแย้งในอนาคต
Cover Photo: ALFREDO ESTRELLA/AFP
อ้างอิง: